หนุ่มเมืองจันท์ : การเปลี่ยนผ่าน

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อนอ่านบทสัมภาษณ์ “พี่ช้าง” ขรรค์ชัย บุนปาน ในหนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา

และ “พี่โต้ง” ฐากูร บุนปาน ทางเว็บไซต์มติชนและ Voice TV

…สุดยอดครับ

เป็นการให้สัมภาษณ์ที่คมคายและทรงพลังมาก

อยากให้ทุกคนได้อ่าน

“มติชน” นั้นเป็น “บ้าน” ที่ผมเคยอยู่อาศัยมาเกินครึ่งชีวิต

ทำงานที่นี่นานกว่าอยู่เมืองจันท์อีกครับ

เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา สื่อสิ่งพิมพ์เจอการทำลายล้างอย่างรุนแรงจากเทคโนโลยีใหม่

คนหันมาใช้เวลากับจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมได้แต่เฝ้ามองดู “มติชน” ด้วยความเป็นห่วง

เห็นตัวเลขรายได้ที่ลดลง

ผลประกอบการที่เคยกำไรเริ่ม “ตัวแดง” อย่างต่อเนื่อง

คุยกับคนในแวดวงธุรกิจก็รู้ว่าเขาคิดอย่างไรกับสื่อต่างๆ

ยิ่งคุยยิ่งเป็นห่วง

แต่ก็ยังมีความหวังที่เห็นการปรับตัวของ “มติชน” เข้าสู่ยุคออนไลน์

ในช่วงแรกแม้จะดูไม่เนียนตาเหมือน “คนรุ่นใหม่” ที่คุ้นชินกับโลกดิจิตอล

แต่ก็พัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ

ตัวเลขแฟนเพจของ “ข่าวสด” เติบโตขึ้น

เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ ในเครือ

ช่วงที่ผ่านมาผมลุ้นให้ตัวเลขรายรับของฝั่งสิ่งพิมพ์ลดลงช้าๆ

และลุ้นให้รายได้จากฝั่ง “ออนไลน์” เติบโตแบบก้าวกระโดดเพื่อทดแทนรายรับที่ลดลงของสื่อสิ่งพิมพ์

เมื่อปีที่แล้วเครือมติชนแถลงข่าวประกาศความเป็นหนึ่งในโลกสื่อออนไลน์ของเครือมติชน

ทั้งยอดคนติดตามเฟซบุ๊กและยอดคนอ่านเว็บไซต์ในเครือ

ในทางการตลาดถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ชนะแล้วต้องรีบปักธง

โดยเฉพาะในช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีใครเป็น “ผู้นำ” ชัดเจน

แต่พลังของการปักธงครั้งนั้นยังไม่แรงพอ

จนเมื่อปลายปีที่แล้ว “มติชน” ตัดสินใจเลิกโรงพิมพ์ เลิกพิมพ์หนังสือพิมพ์เอง

เลิกการจัดจำหน่ายหนังสือพิมพ์

เปลี่ยนเป็นการจ้าง “สยามกีฬา” ผลิตและจัดจำหน่าย

แม้จะเห็นใจพี่น้องฝ่ายผลิตและจัดจำหน่ายที่คุ้นเคยกันมานาน

แต่ในทางธุรกิจ ผมมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

“ในฐานะคนทำสื่อ อาชีพสื่อ มันสอนเรื่องสำคัญอันหนึ่งคือ เราต้องเคารพข้อเท็จจริง”

“และหลายปีที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงบอกเราว่า สิ่งพิมพ์ไปไม่ไหวแล้ว”

เป็นเหตุผลแบบตรงไปตรงมาของ “พี่โต้ง”

ที่สำคัญ เป็นการบอกให้ทั้งคนภายในและภายนอกรู้ว่า “มติชน” เดินหน้าสู่โลกดิจิตอลอย่างเต็มตัวแล้ว

“เป็นการส่งสัญญาณว่าเราเลยป้ายยูเทิร์นมาแล้ว”

“พี่โต้ง” เปรียบเปรยได้คมมาก

เลยป้ายยูเทิร์น หมายความว่า เราจะไม่ย้อนกลับไปเส้นทางเดิมอีก

เหมือน “พระเจ้าตาก” ต้องเข้าตีเมืองจันท์อย่างเดียว

เพราะ “ทุบหม้อข้าว” แล้ว

ผมชอบบทสัมภาษณ์ของ “พี่ช้าง” และ “พี่โต้ง” มาก

มีหลายคำตอบที่อ่านแล้วต้องขีดเส้นใต้เลย

“ถ้าคนเลิกอ่านสื่อกระดาษไปเลย จะทำอย่างไร”

นักข่าวถาม “พี่ช้าง”

“ถ้าจะเลิก ก็ต้องเลิก โลกนี้พระอาทิตย์ยังดับได้เลย จะไปหวังอะไร แม้น้ำเปลี่ยนทางได้ อะไรก็เปลี่ยนแปลงไปได้ ไม่ว่าบวกหรือลบ”

“พี่ช้าง” บอกว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ เกิด เสื่อม ดับ ต้องอยู่กับมันให้ได้ ผจญกับมันให้ได้ เป็นเรื่องปกติจริงๆ

“ถ้าเราไม่ปกติกับมัน มันก็จะปกติกับเรา”

ครับ ไม่ว่าเรายอมรับ “ความเปลี่ยนเปลง” หรือไม่

แต่ “ความเปลี่ยนแปลง” ก็ต้องมา

อีกประโยคหนึ่งของ “พี่ช้าง” ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็น “คาถา” รับมือกับ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่กำลังเกิดขึ้นกับแทบทุกธุรกิจ

“โลกมันเปลี่ยน เราต้องอยู่ด้วยความเข้าใจ”

และ…

…”หายใจไว้”

มุขนี้เฉียบขาดมาก

คารวะเลยครับ

การรับมือกับ “ความเปลี่ยนแปลง” ไม่ใช่แค่เพียง “ความเข้าใจ”

เพราะระหว่างที่ทำความเข้าใจอยู่

เราต้องหายใจไว้ด้วย

ต้องประคับประคองธุรกิจ รักษาชีวิตไว้ให้ได้

เพราะถ้ายอมแพ้เมื่อไร

เกมจบทันที

ยิ่งอ่านบทสัมภาษณ์เต็มๆ จะรู้เลยว่า “พี่ช้าง” เป็น “ผู้ใหญ่” ที่เข้าใจในสัจธรรมว่า “มติชน” ต้องเปลี่ยนแปลง

แม้จะเจ็บปวดเพียงใดก็ตาม

แต่นี่คือ “สิ่งปกติ” บนโลกใบนี้

ในโลกธุรกิจ ช่วงการเปลี่ยนผ่านเป็นทั้ง “วิกฤต” และ “โอกาส”

เมื่อครั้งที่โลกเปลี่ยนจาก “อนาล็อก” เป็น “ดิจิตอล”

“ซัมซุง” ก็อาศัยการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ก้าวกระโดดครั้งใหญ่

เพราะถ้าสู้ในเกมเดิม

เกม “อนาล็อก”

ทำอย่างไรเขาก็สู้สินค้าจากญี่ปุ่นไม่ได้

“ซัมซุง” ในอดีตเป็นสินค้าเกรดต่ำมาก

เป็นของถูก คุณภาพต่ำ

“ซัมซุง” อาศัยจังหวะที่โลกดิจิตอลกำลังมา ปรับปรุงเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่

และเปิดตัวโทรศัพท์มือถือ

เพียงชั่วเปลี่ยนผ่านได้ไม่กี่ปี วันนี้เทคโนโลยีของ “ซัมซุง” เหนือกว่าสินค้าญี่ปุ่นไปแล้ว

หรือที่มีคนบอกว่าเหตุผลที่ “จีน” บุกรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เพราะ “จีน” อยากเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมรถยนต์บ้าง

แต่สู้ในเกม “รถน้ำมัน” ทำอย่างไรเขาก็แพ้ญี่ปุ่น

พอเทคโนโลยีเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่ “รถยนต์ไฟฟ้า”

“จีน” บุกก่อนเลย

เขาใช้จังหวะเปลี่ยนผ่านนี้เป็น “โอกาส” สู่ความเป็นหนึ่ง

โลกของสื่อก็เช่นกัน

ช่วงนี้คือ “การเปลี่ยนผ่าน” ครั้งใหญ่

ใครเริ่มต้นก่อนก็ได้เปรียบ