E-DUANG : ปรีดี พนมยงค์ ในจุด”เชื่อม” ผู้อาวุโส ประสานกับ รุ่นใหม่

ภาพการเดินทางไปรับมอบบ้านอังโตนี อันเคยเป็นที่พำนักในบั้น ปลายชีวิตของ รัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์ ของคณะก้าว หน้าที่นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นภาพประวัติศาสตร์

การมี นางสุดา พนมยงค์ ร่วมคณะไปด้วยเป็นสิ่งที่มิอาจขาดได้อยู่แล้ว แต่ความน่าสนใจอยู่ที่”องค์ประกอบ”อื่น

1 เป็น นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ 1 เป็น นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ความน่าสนใจในกรณีของ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ อยู่ตรงที่เขาเป็นคนที่เติบใหญ่มาในสังคมจารีตตั้งแต่เยาว์วัยและด้วยกระบวนการเรียนรู้

ไม่ว่าเมื่ออยู่ที่”อัสสัมชัญ” ไม่ว่าเมื่อไปศึกษาที่”อังกฤษ”ก็ติดป้ายเป็นตัวแทนแห่งจารีตนิยมเคร่งครัด ศึกษาประวัติศาสตร์มาในแนวทางที่เรียกว่า”สกุลดำรง”

มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกระบวนการ”อภิวัฒน์”เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์

แต่แล้วก็กลับมาเป็นผู้ที่”โปร” นายปรีดี พนมยงค์

 

ขณะเดียวกัน ความน่าสนใจต่อ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อยู่ตรงที่ แม้จะเป็นรุ่นหลัง นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งเกิดปี 2475 ขณะที่ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ เกิดปี 2484

แต่จุดต่างอยู่ที่ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชมชอบต่อบทบาทในทางความคิดและในทางการเมืองของ นายปรีดี พนมยงค์

ไม่ว่าเมื่อเรียน”สวนกุหลาบ” ไม่ว่าเมื่อเข้าศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย”ธรรมศาสตร์” หรือแม้เมื่อไปทำปริญญาโทและปริญญาเอกที่”คอร์แนล”แห่งสหรัฐอเมริกา

ทั้ง นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ มีจุด ร่วมในทางความคิดที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาประ ชาชนในสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516

และเกาะติดอยู่กับการเคลื่อนไหวของ”คนรุ่นใหม่”อย่างต่อเนื่องแม้กระทั่งการปรากฏขึ้นของ”ราษฎร 2563”

ถามว่าแล้ว นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ มาเชื่อมกับ”คณะก้าวหน้า”ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อย่างไร

 

นั่นก็เพราะการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2561 นั่นก็เนื่องจากการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2563 พรรคอนาคตใหม่จึงกลายเป็น”จุดเชื่อม”ในทางการเมือง

เป็นการเชื่อมระหว่างผู้อาวุโสอย่าง นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ เข้ากับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อันถือว่าเป็นผู้ตามมาทีหลัง

แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือความเคารพต่อบทบาททางการเมืองของ นายปรีดี พนมยงค์