ฟ้า พูลวรลักษณ์ : คนเราควรมีสิทธิในการตายไหม ?

ฟ้า พูลวรลักษณ์

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๒๐๔)

บนโลกนี้มีป่าขยะ

มันคือป่าที่มองผิวเผิน มีต้นไม้ยาวเหยียดสุดสายตา

แต่ทว่าเมื่อมองใกล้ๆ พบว่ามันคือต้นไม้ที่เป็นพันธุ์เดียวกัน เกื้อหนุนกัน ในขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ มีหลงเหลือเพียงไม่กี่สิ่ง แทบไม่มีนกเลย

ถ้าจะเถียงว่า ป่าขยะ ดีกว่าไม่มีป่าเลย อันนี้ก็จริง แต่ที่ฉันพูด ก็เพราะว่า ความหมายเดิมของป่า มันคือดินแดนของสิ่งมีชีวิตมากมาย อุดมสมบูรณ์ แต่บัดนี้มันเป็นเพียงเงาเลือนราง ที่มีมาเพื่อปลอบประโลม ให้เรายังติดในภาพอุปาทานว่า เรายังมีป่าอยู่ แต่ที่จริง มันได้สูญหายไปแล้ว

ยากที่เราจะจำกัดความ คำว่า คนล้นโลก

ต้องเท่าไหร่ จึงจะล้นโลก

ยกตัวอย่างเช่น

Piano-Forbes กำหนดไว้ว่า ไม่เกินสองพันห้าร้อยล้านคน

World Watch กำหนดไว้ว่า ไม่เกินหกพันล้านคน

Rocks-Runyon กำหนดไว้ว่า ไม่เกินหนึ่งหมื่นล้านคน

การที่แต่ละแหล่งกำหนดตัวเลขต่างกัน เพราะพวกเขามองต่างกัน

แหล่งหนึ่งกำหนดเช่นนี้ เพราะพวกเขาจำกัดความไว้ว่า การที่มนุษย์จะอยู่ได้ หมายถึงอยู่ได้อีกนานเป็นพันปี โดยมีชีวิตที่ดี มีการศึกษา มีการใช้พลังงาน มีการเสพพลังงานอย่างเพียงพอ แต่อีกแหล่งหนึ่ง อาจคิดถึงระยะเวลาที่ใกล้กว่า คิดถึงการอยู่รอดอีกแค่หนึ่งร้อยปี

เราจึงไม่อาจมีตัวเลขตายตัวได้ ว่าเท่าไหร่จึงจะล้นโลก

โลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วมาก อาชีพมากมายได้ล้าสมัย ในขณะที่เกิดอาชีพใหม่

นี่เป็นการแบ่งโซนที่เห็นง่าย แต่ยังมีโซนที่ถกเถียงกันได้ ตรงนั้นคือพื้นที่สำคัญ เช่น หากฉันกล่าวว่า นักเขียน จิตรกร นักประวัติศาสตร์ กำลังล้าสมัย

แต่ประเด็นไม่ได้ อยู่ที่ว่าอาชีพไหนกำลังล้าสมัย มันอยู่ที่ว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น และรวดเร็วมาก

เราต้องตรงต่อความจริง สิ่งใดที่สังคมสร้างขึ้น มันจะแทนที่สิ่งที่ไม่จำเป็น

เช่น วันนี้เรามีมือถือที่ทำงานได้มากมาย มันค่อยๆ ทดแทนสิ่งหลายสิ่งให้หมดความหมายไป

นักท่องเที่ยววันนี้ เที่ยวไป ถ่ายรูปไป บันทึกเรื่องราวในวิดีโอ เก็บไว้ในกระเป๋าใบเล็ก และคลิปเหล่านี้ก็พร้อมจะกระจายตัวกว้างใหญ่ เป็นแสนเป็นล้าน หรือเป็นพันล้าน

สำหรับฉัน ไม่มีอะไรชัดเจนยิ่งกว่าการได้เห็นนักท่องเที่ยวเดินไปถ่ายรูปไป หรือถ่ายวิดีโอไป ที่บ่งบอกว่า โลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลง

ในขณะที่การทำแท้ง ก็ยังเป็นปัญหา เพราะผู้คนเริ่มละเอียดยิ่งขึ้น เรายิ่งต้องช่วงชิงพื้นที่ ซึ่งสมัยก่อนไม่มี เช่น การกำหนดว่า เมื่อไหร่ชีวิตจึงจะเกิด วินาทีที่ไข่ผสมกับอสุจิ หรือวินาทีที่มันโผล่หัวออกจากครรภ์มารดา หรือเก้าเดือนระหว่างนั้น ซึ่งคือพื้นที่แห่งการช่วงชิง เก้าเดือนที่ไร้พรมแดนแน่ชัด

สิทธิของเด็กมีไหม และถ้ามี ควรนับจากจุดไหน

เราคงเถียงกันได้ไม่รู้จบ

ปัญหาหนึ่งที่ฉันสนใจเสมอ คือสิทธิในการตาย

คนเราควรมีสิทธิในการตายไหม และถ้ามี ควรมีเมื่อไหร่

ถ้ามนุษย์มีสิทธิในการตาย เช่น ถ้าคุณอายุเกินหกสิบปี คุณมีสิทธิเลือกเองได้ ว่าต้องการตายวันไหน ด้วยวิธีใด

ถ้ามีสิทธิดังกล่าว เราเหล่าผู้สูงอายุก็จะสบายใจ วันใดที่เราอยากตาย เราก็ไปโรงพยาบาล ให้เขาฉีดยาที่ไม่เจ็บปวดหนึ่งเข็ม เพียงเท่านั้นเอง

ฉันเชื่อว่า วันหนึ่งสังคมจะไปถึงจุดนั้น แต่อาจจะยังอีกนาน นานเกินกว่าที่ฉันจะได้เห็น

ฉันเห็นคนสูงอายุมากมายที่ดิ้นรนต่อสู้กับสังขาร หากเป็นความต้องการของเขาเอง ก็ยุติธรรมดี แต่บางคนไม่อยาก แต่เขาก็ไม่มีทางเลือกที่งดงาม พวกเขายังสามารถฆ่าตัวตายได้ แต่เป็นวิธีที่ต้องทำเอง ซึ่งมักจะเจ็บปวดและไม่เรียบร้อย แต่วันหนึ่งสังคมต้องมาถึงปัญหานี้ และเผชิญหน้ากับมันตรงๆ มันอาจเริ่มอย่างช้าๆ เช่น เริ่มจากคนที่อายุเก้าสิบ มีสิทธิที่จะเลือกได้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปหรือไม่ ต่อมาก็ลดลงเหลือแปดสิบ

เราจะเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้ตรงๆ หรือจะถอยหนี ไปซ่อนตัวอยู่หลังกฎศีลธรรม ความเรียบง่ายแต่โบราณ หลุมหลบภัยโบราณ ที่คนมากมายยังซุกซ่อน และดูเหมือนจะจุคนได้ไม่จำกัด

ในความเลือนราง มีจิตวิญญาณ สิ่งที่เราคิดไปเอง

หรือ กฎศีลธรรม

มันมีมาเอง เราเพิกเฉยเสียทีเดียวก็ไม่ได้ มันเหมือนหมอกควัน เอามือเข้าไปจับ มันก็สูญหายไป แต่พอถอยห่างออกมา มันก็มีอยู่จริง

นี้เป็นด่านสำคัญ และด่านสุดท้ายของมนุษย์

เลยจุดนี้ไป โลกนี้จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และรวดเร็วยิ่งนัก

เรียกว่า เราจะจำไม่ได้เลย