ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
ผลพวง ความคิด
กระแสปฏิวัติ วัฒนธรรม
ต่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ
สถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 เป็น “ฝันร้าย” สำหรับกลุ่ม จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร
แต่เป็น “ฝันจริง” สำหรับผู้รัก “ประชาธิปไตย”
เป็นฝันจริงอันแสดงให้เห็นว่า “พลังของประชาชน” นั้นยิ่งใหญ่ เกรียงไกร ได้พิสูจน์และลบล้างคำกล่าวหาเชิงสบประมาทต่อคนไทยที่ว่า แหย หัวอ่อนว่านอนสอนง่าย ไม่สนใจการเมือง
ดินแดนแห่งคำว่า “ไม่เป็นไร” และ “รอยยิ้มอันไร้เดียงสา” เป็นต้น ให้กลายเป็นเรื่องชวนหัว และเป็นเพียง “ตำนาน” ไปภายในพริบตาพลัน
ด้วยความเคียดแค้น ชิงชังต่ออำนาจเผด็จการโดย “ระบอบครอบครัว” ที่โทรมประเทศชาติและประชาชนอย่างยาวนาน ประชาชนเกือบทั้งประเทศได้แสดงความไม่พอใจนั้นออกมา
และนักศึกษา ประชาชนเรือนแสน เรือนล้านได้รวมกำลังกันโดยมีนักศึกษาเป็นกองหน้าและสะพานเชื่อมแสดงประชามติเพื่อขับไล่ “ทรราช” และเรียกร้อง “ประชาธิปไตย”
กล่าวสำหรับทางด้านวรรณกรรม หลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 เมื่อดอกไม้ประชาธิปไตยเบ่งบาน การเคลื่อนไหวในแวดวงหนังสือและหนังสือพิมพ์ก็คึกคักงดงามตามไปด้วย
บรรดานักคิด นักเขียนต่างออกมาสรุปและประมวลความเคลื่อนไหวเอาไว้อย่างน่าติดตาม
ผลสะเทือน วัฒนธรรม
จากเดือนตุลาคม 2516
อุทิศ ประสานสภา ซึ่งเป็นนามปากกาของ อัศนี พลจันทร เจ้าของหนังสือ “โต้ลัทธิแก้ไทย วิจารณ์แห่งวิจารณ์” ได้ระบุถึงสถานการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และผลสะเทือนในทางวัฒนธรรมว่า
“เป็นวันแห่งวีรภาพ เป็นวันที่วัฒนธรรมใหม่ของประชาชนเข้าตีวัฒนธรรมเก่าของชนชั้นที่เน่าเฟะอย่างองอาจ กล้าหาญและมีชัย
เป็นวันที่ได้ก่อและผลักดันให้กระแสธารการต่อสู้ทางความคิดและการเมืองที่ยิ่งใหญ่ให้รุดหน้าไปอย่างมีพลัง ภายใต้สถานการณ์ใหม่และสิ่งแวดล้อมใหม่ของสังคมสยาม”
นลินี วิทูรธีรศานต์ ผู้เขียน “วิเคราะห์วรรณกรรมประชาชน” ได้สรุปลักษณะความตื่นตัวของวรรณกรรมแนวประชาชนไว้เป็นด้านๆ ดังนี้
1 การตีพิมพ์หนังสือวิชาการแนวก้าวหน้าและหนังสือวรรณกรรมก้าวหน้าโดยกลุ่มหรือชมรมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะการตีพิมพ์ “ปรัชญานิพนธ์ประธานเหมาเจ๋อตง” ในงานนิทรรศการจีนแดง ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนมกราคม 2517
นับเป็นการทำลายทำนบกั้นหนังสือวิชาการที่ถือว่าเป็นของ “ต้องห้าม” ทั้งปวง
ทำให้สามารถจัดพิมพ์หนังสือสำคัญๆ อีกหลายเล่ม ไม่ว่า ปรัชญาของลัทธิมาร์กซ์ ไม่ว่าหลักลัทธิเลนิน
หนังสือเก่าที่เคยตีพิมพ์ระหว่างปี 2490-2501 ไม่ว่าไทยกึ่งเมืองขึ้น ไม่ว่าทีทรรศน์ที่น่าศึกษาของนักประพันธ์ ไม่ว่าจากลุ่มแม่น้ำโวลก้า ไม่ว่าแคปิตะลิสม์ ไม่ว่ามหาชนทรรศนะ เป็นต้น
ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำในชั่วระยะเวลาอันสั้น และขายดีเหมือนเทน้ำเทท่า
เบิกสถานการณ์ ใหม่
อภิปราย เสวนา
2 การจัดนิทรรศการและการอภิปราย สัมมนาเกี่ยวกับงานศิลปะและวรรณกรรม อันสอดรับกับบรรยากาศทึ่คึกคักของการเมือง
โดยเฉพาะนิทรรศการ “การต่อสู้ของวรรณกรรมและเหตุการณ์ 14 ตุลาคม”
จัดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2517 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานได้มีการนำเอาผลงานและชีวิตของนักเขียน เช่น ศรีบูรพา, บรรจง บรรเจิดศิลป์, อินทรายุธ, เปลื้อง วรรณศรี, จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น มาเสนออย่างทำให้มองเห็นกระบวนการคลี่คลายและพัฒนา
ที่สำคัญคือ การจัดสัมมนา “แนวความคิดของ จิตร ภูมิศักดิ์ เกี่ยวกับสังคมไทย” ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนกันยายน 2517
ต่อมาก็ได้จัดพิมพ์รายละเอียดการสัมมนาครั้งนี้รวมทั้งผลงานของนักวิชาการด้านต่างๆ ไว้ในหนังสือ “จิตร ภูมิศักดิ์ นักรบของคนรุ่นใหม่”
จัดได้ว่าเป็นครั้งแรกที่วงวิชาการชั้นสูงโดยความร่วมมือระหว่างสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย กับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้การยอมรับต่อผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ อย่างเป็นทางการ
ทั้งหมดนี้ล้วนมิอาจรอดพ้นจากสายตาอันคมกริบของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไปได้อย่างเด็ดขาด
ก้าวใหม่ หนังสือพิมพ์
ประชาชาติ ประชาธิปไตย
3 การออกหนังสือพิมพ์ทั้งที่มีลักษณะเป็นกระแสหลักและเป็นกระแสรอง สร้างความคึกคักอย่างสูงในแวดวงหนังสือพิมพ์
ความจริงช่วงก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ก็มีการเคลื่อนไหวแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” ยุคพลังหนุ่มสาว ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ “มหาราษฎร์” ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร “เอเชียวิเคราะห์ข่าว”
วิทยานิพนธ์ของ บุญเรือง เนียมทอง ที่เสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2519 ได้สรุปการเคลื่อนไหวทางด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์ในช่วงตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ถึงวันที่ 16 มกราคม 2518 ว่า
มีหนังสือพิมพ์และวารสารภาษาไทยยื่นขออนุญาตต่อแผนกเอกสารการพิมพ์เพิ่มขึ้น 516 ฉบับ
แต่ถ้านับเวลาจนถึงปี 2520 จากการวิจัยสื่อมวลชนของไทย ที่ จอห์น เอ.เลนท์ ศาสตราจารย์ทางวิชานิเทศศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเทมเปิล รัฐฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา
ปรากฏว่า มีหนังสือพิมพ์ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์ถึง 853 ฉบับ
เป็นประเภทรายวัน 177 ฉบับ แต่มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ขอหัวไว้ใช้แล้วตีพิมพ์จริงๆ ส่วนที่เหลือเป็นการขอไว้เพื่อความมั่นคงของตนเอง ซึ่งเจ้าของส่วนใหญ่ตระหนักดีถึงราคาอันแพงลิ่วในการขออนุญาตจดแจ้งหัวหนังสือพิมพ์ในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร
จอห์น เอ. เลนท์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ว่า
โฉมหน้าใหม่ของวงการหนังสือพิมพ์เมื่อมีหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่บางฉบับ นับจาก “ประชาธิปไตย” ที่มีการปรับเปลี่ยนมาก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516
มีแนวนโยบายนิยมฝ่ายนักศึกษา ต่อต้านระบบเก่า
ต่อมาก็มี “ประชาชาติ” ลูกแฝดของ “เดอะ เนชั่น” ที่มุ่งเสนอข่าวประชาธิปไตยด้านการเมือง เอกราชของชาติ และเศรษฐกิจการค้าเสรี
“เสียงใหม่” รณรงค์ต่อต้านระบบเจ้าขุนมูลนาย
“อธิปัตย์” ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ที่ต่อสู้กับจักรวรรดินิยมและระบอบเผด็จการทหาร
ทั้งหมดนี้คือสภาพทางวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์ที่เห็นและเป็นอยู่
บาทก้าว สุจิตต์ วงษ์เทศ
กูเป็น นักหนังสือพิมพ์
กวีนิพนธ์ว่าด้วย “กูเป็นนักหนังสือพิมพ์” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นความต่อเนื่องจาก “กูเป็นนิสิต นักศึกษา”
อย่างหลังเกิดขึ้นก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516
อย่างหลังเกิดขึ้นและเก็บรับผลสะเทือนจากสถานการณ์ก่อนและหลังเดือนตุลาคม 2516 อันคึกคักและเข้มข้น
เป็น “ผลึก” ทางความคิดต่อวิชาชีพ “หนังสือพิมพ์”
เกิดขึ้นในบรรยากาศแห่งการ “ปฏิวัติแมลงวัน” จากคนรุ่นใหม่ในวงการหนังสือพิมพ์
เรียกตามสำนวน อรุณ วัชรสวัสดิ์ คือ ใหม่ “กว่า”
ไม่ว่าเมื่อเทียบกับ ขรรค์ชัย บุนปาน ไม่ว่าเมื่อเทียบกับ สุทธิชัย หยุ่น ไม่ว่าเมื่อเทียบกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ
นั่นก็คือ รุ่นใหม่อย่างชนิด “เอี่ยมอ่อง”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022