ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
งานเขียนแนวชาติพันธุ์นิพนธ์ชิ้นสำคัญของ “แคเธอรีน บาววี” นักมานุษยวิทยาหญิงชาวอเมริกัน ซึ่งเข้าไปทำการศึกษาขบวนการ “ลูกเสือชาวบ้าน” ในบริบท “หลัง 6 ตุลา” ได้บันทึกเหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านภาคเหนือแห่งหนึ่งเมื่อปี 2520 เอาไว้อย่างน่าสนใจ
ณ ห้วงเวลานั้น กิจกรรมความบันเทิงอันเป็นที่นิยมของชาวบ้านตามพื้นที่ชนบท ก็คือ การฉายหนังกลางแปลง โดยในช่วงหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ภาพยนตร์กลางแปลงที่ถูกนำมาจัดฉายตามหมู่บ้านต่างจังหวัดมักมีเนื้อหามุ่งเน้นไปยังการ “ต่อต้านคอมมิวนิสต์”
หนึ่งในหนังไทยเรื่องแรกๆ ที่นักมานุษยวิทยาชาวต่างชาติผู้นี้ได้ดูแบบกลางแปลงระหว่างเข้าไปเก็บข้อมูลคราวนั้น คือ ภาพยนตร์เรื่อง “3 นัด” ซึ่งปิดฉากลงด้วยการที่ตัวละครพ่อตัดสินใจ “ปลิดชีวิต” บุตรชายของตนเอง ผ่านการลั่นกระสุนปืน 3 นัด เพราะผู้เป็นลูกทรยศต่อ “3 อุดมการณ์หลักสำคัญ” ของชาติ
การเสียชีวิตของ “บุ้ง” หรือ “เนติพร เสน่ห์สังคม” หญิงสาววัยไม่ถึง 30 ปี ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภายหลังกระแส “ม็อบเยาวชนสามนิ้ว”
บอกพวกเราว่า แม้กาลเวลาจะเดินทางมาได้เกือบๆ ห้าทศวรรษ แต่หากพิจารณาในบางมิติ-แง่มุม สังคมไทยกลับไปไหนไม่ค่อยไกลนัก
ถึง “บุ้ง” จะมิได้เสียชีวิตจากวิธีการอันโหดร้าย ดิบ เถื่อน ซึ่งๆ หน้า ดังเช่นเรื่องราวในภาพยนตร์ฝ่ายขวายุคสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์
แต่เธอก็เสียชีวิต ในระหว่างถูกควบคุมตัว กักขัง อย่างไร้อิสรภาพ อันเนื่องมาจากการได้รับโทษทัณฑ์ เพราะการมีความคิดเห็น โลกทัศน์ อุดมการณ์ทางการเมือง ที่ผิดแผกแตกต่างจากรัฐไทย
นี่คือความสูญเสียที่เหมือนไม่รุนแรง ทว่าร้าวลึก และสะท้อนให้เห็นถึงความวิปริตบิดเบี้ยวของบ้านเมืองไม่ต่างกัน
“บุ้ง เนติพร” เป็นลูกหลาน เป็นคนรุ่นใหม่ ของประเทศไทย
เธอเจริญเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่น่าจะทำให้ตัวเองคุ้นชินกับวิถีอำนาจและวัฒนธรรมแบบเดิมๆ ซึ่งฝังรากลึกในบ้านเมืองนี้ มากกว่าจะเป็นแนวหน้า-แกนนำผู้เรียกร้องแสวงหาสิ่งใหม่ๆ
แต่ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ความป่วยไข้ของระบบระบอบ การละเมิดกฎกติกาของผู้หลักผู้ใหญ่ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นวงจรไม่รู้จบ ก็ค่อยๆ ผลักดันให้คนรุ่นหลังอย่าง “บุ้ง” และมิตรสหายของเธอ กลายสภาพมาเป็น “พลเมือง” ที่รัฐไทยกับฝ่ายอนุรักษนิยมไทยไม่พึงปรารถนา
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “บุ้ง” หรือไม่ ไม่ว่าใครจะเคยมีประสบการณ์ดีหรือร้ายกับเธออย่างไร
แต่ปฏิเสธมิได้ว่า ไม่ควรมีประชาชนคนไทยและมนุษย์โลกรายใด ซึ่งสมควรจะต้องมาตายลง ในสภาวะที่ด้อยค่าลดทอนความเป็นมนุษย์เช่นนี้
การเสียชีวิตของ “บุ้ง เนติพร” ได้เปิด “บาดแผลใหญ่” ของรัฐไทย ทั้งยังโยนภาระหนักอึ้งและเครื่องหมายคำถามจำนวนมาก ให้ทุกองคาพยพของกระบวนการยุติธรรมไทย รวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน
นอกจากนั้น โศกนาฏกรรมแบบนี้ยังเป็นโอกาสในการวัดหัวใจทุกคน ว่าพวกเขาและเธอ (พวกคุณและฉัน) มีมุมมอง ความรู้สึกอย่างไร กับเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น
เศร้าใจ ทุกข์ร้อน ห่วงใจ วิตกกังวล หรือ สะใจ ดีใจ สมน้ำหน้า
เช่นเดียวกัน นี่ยังเป็นสถานการณ์ที่วัดใจบรรดาผู้มีอำนาจในสังคมการเมืองไทย ว่าแต่ละคนมีขนาดหัวจิตหัวใจใหญ่-เล็ก กว้าง-แคบแค่ไหน
ท้ายสุด หวัง (พร้อมๆ หมดหวัง) ว่าจะไม่มีใครที่ต้องประสบชะตากรรมเหมือน “บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม” อีก •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022