ต่างประเทศอินโดจีน : เวียดนามในลาว

คนที่นิยมเก็บสถิติตัวเลขต่างๆ มักรู้สึกว่า จีน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เข้าไปลงทุนในลาวมากมายเหลือเกิน

ในขณะที่บริษัทเอกชนจีนเข้าไปสร้างกาสิโน และลงทุนในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวหลากหลายในลาว วิสาหกิจของรัฐบาลจีนมุ่งเน้นการลงทุนไปที่กิจการเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไร่ยางพารา, โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ และเหมืองแร่

มีเหมืองสารพัดแร่ในลาวที่เริ่มต้นด้วยการลงทุนจากจีน ตั้งแต่เหมืองทองแดง, เหมืองทอง, เหมืองบ็อกไซต์, ลิกไนต์, ดีบุก, เหล็ก และสังกะสี

กว่า 1 ใน 3 ของเม็ดเงินลงทุนจากจีน ลงไปกองอยู่กับโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ที่สร้างขึ้นจำนวนมากตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง

เป็นการก่อสร้างในรูปแบบ บิลต์-โอเปอเรต-ทรานสเฟอร์ (บีโอที) คือ ทั้งก่อสร้าง บริหารและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ก่อนจะถ่ายโอนให้กับทางการลาวเมื่อครบกำหนดสัญญา

แต่ใช่ว่าโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลาวของจีนจะเล็กไปเสียทั้งหมด เพราะจีนยังเป็นผู้ลงทุนหลักในโครงการลงทุนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เหนือลำน้ำโขงสายหลักอีก 3 เขื่อน

รวมทั้งเขื่อนปากแบง ที่มีขีดความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้า 920 เมกะวัตต์ทางตะวันตกของแขวง (จังหวัด) อุดมไซย

กับเขื่อนปากลาย ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงถึง 1,320 เมกะวัตต์ กับเขื่อนเสนาคาม กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ที่อยู่ตอนล่างของแม่โขงต่ำลงมาในพื้นที่แขวงไซยะบุรี

ตัวเลขแสดงให้เห็นว่า ในช่วงระหว่างปี 2005-2010 จีนลงทุนไปในลาวมากถึง 5,300 ล้านดอลลาร์

มีบ้างบางคนเห็นรายชื่อและตัวเลขเหล่านี้แล้วสรุปว่า จีนเป็นชาติที่ลงทุนในลาวสูงที่สุด ทำให้กลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลลาวมากที่สุดตามไปด้วย

แต่นั่นอาจเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว

 

จีนลงทุนมากที่สุดจริง แต่ชาติที่มีอิทธิพลต่อลาวมากที่สุดไม่แน่ว่าจะเป็นจีน

เอียน เบิร์ด ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลาว ชี้ให้เห็นว่า เวียดนามแม้จะยังลงทุนในลาวไม่มากเท่า แต่ก็ไม่ได้น้อยกว่าเท่าใดนัก

เม็ดเงินลงทุนจากเวียดนามจะเป็นรองก็แต่จีนเท่านั้นเอง

การลงทุนของเวียดนามในลาว ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ, เหมืองแร่, ระบบคมนาคมขนส่ง และการทำไร่เกษตรกรรม

มูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งหมดอยู่ที่ 4,400 ล้านดอลลาร์ ตามหลังจีนอยู่ไม่ไกล

โครงการลงทุนใหญ่ที่สุดของเวียดนามในลาว เป็นโครงการเหมืองโพแทช ที่แขวงคำม่วน ทางตอนใต้ของประเทศ

แต่ที่ประสบความสำเร็จไม่น้อยกว่ากัน ก็คือ กิจการโทรคมนาคม “สตาร์ เทเลคอม” ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างเวียตเทล กิจการโทรคมนาคมของกองทัพเวียดนาม กับลาว เอเชีย เทเลคอม ซึ่งครองตลาดโทรคมนาคมลาวถึงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง รายได้ต่อปีสูงถึง 700 ล้านดอลลาร์

นอกจากนั้น เวียดนามยังประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เซกะหมาน 1 และ 3 พร้อมโครงข่ายจ่ายกระแสไฟฟ้าจากแขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของลาว เชื่อมต่อกับพื้นที่ตอนกลางประเทศเวียดนามที่เมืองเปลกู รวมมูลค่าการลงทุน 240 ล้านดอลลาร์ เพิ่งแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2016 นี่เอง

 

ศาสตราจารย์เบิร์ด รวมถึงนักวิจัยจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อเอเชียศึกษา (ไอไอเอเอส) อย่าง แดนีล ตัน ชี้ว่า ในขณะที่จีนเริ่มขยับหนีห่างออกจากเวียดนามในแง่ของเม็ดเงินลงทุนด้วยโครงการใหญ่มหึมาอย่างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง คุนหมิง-เวียงจันทน์ กับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเหนือที่ราบบอระเวนในแขวงจัมปาสักอีกต่างหาก

แต่สำหรับรัฐบาลแล้ว เม็ดเงินลงทุนเป็นเรื่องน่ายินดีก็จริง กระนั้นก็ไม่ได้เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง

รัฐบาลลาวยังคงมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเวียดนาม ความสัมพันธ์ที่แน่นหนามั่นคงมานับตั้งแต่ยุคสงครามอินโดจีน

คณะโปลิตบูโรลาวในปัจจุบันเกือบทั้งหมด เคยเป็นทหารผ่านศึกที่ผ่านการฝึกโดยเวียดนามจากสงครามหนนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่ง บุนยัง วอละจิด ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคนปัจจุบัน ในขณะที่โปลิตบูโรสายจีนคนสุดท้าย ถูกปลดออกจากตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีไปเมื่อต้นปี 2016

ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ทางการลาว ยังเดินทางไปศึกษาต่อในเวียดนาม ไม่ใช่ในจีน ผลก็คือ เจ้าหน้าที่ระดับล่างในท้องถิ่นต่างๆ ยังคงความรู้สึกใกล้ชิดกับเวียดนามมากกว่าจีน

ทำให้อาจพูดได้ไม่ผิดว่า เวียดนามยังคงอิทธิพลต่อทางการลาวเหนือกว่าจีน อย่างน้อยที่สุดก็ในทางการเมืองและวัฒนธรรม