ปรองดองที่ยิ่งใหญ่ในเมียนมา โดยทักษิณ ชินวัตร

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“… การที่ทักษิณ ชินวัตร ไปคุยเรื่องพม่า สำหรับเราไม่เหมาะสมมาก

– ทำลายเอกภาพของประเทศไทย

– เป็นใครในรัฐบาล ถ้าเกิดปัญหาทางเศรษฐา ทวีสิน ต้องรับผิดชอบด้วย

– ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่ตัวแทนประเทศ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยต้องรับผิดชอบไม่ใช่ประเทศไทยต้องรับผิดชอบ

– สร้างแต่ปัญหา…”

อ้างจาก แบบสำรวจความคิดเห็นของ 3 หน่วยงานได้แก่ ยูทูบมติชนทีวี อ้างว่าสำรวจ 35,000 คน เพจ The Politics Live และ The Politics มติชน TV รายงานใน x 9 May 2024

 

เรื่องของ DNA ช่วยไม่ได้

สาระของรายงานใน x ข้างต้น ไม่เห็นด้วยที่คุณทักษิณ ชินวัตร เคลื่อนไหวคุยเรื่องเมียนมา เนื่องจากเห็นว่าคุณทักษิณไม่มีฐานะทางการในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้เป็นผู้แทนหน่วยงานราชการไทยหน่วยไหนเลย

ย้ำว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทยต้องรับผิดชอบหากคุณทักษิณสร้างปัญหา

ผมไม่เห็นความสำคัญของจำนวนคน 35,000 คนที่สำรวจ ว่าจะเป็นตัวแทนมติมหาชนของไทย

ผมไม่ติดใจวิธีการและระเบียบวิธีวิจัย เพราะเชื่อในคุณภาพการสำรวจจากหน่วยงานของสื่อมวลชนไทยที่น่าเชื่อถือ

ผมเห็นด้วยแน่นอนเรื่องไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองของคุณทักษิณ ชินวัตร เรื่องไปคุยเรื่องเมียนมา

แน่นอน มอตโต้เท่ที่ว่า ใครที่ทำและสร้างสันติภาพในเมียนมากลับมาอีกครั้ง น่าเป็นเรื่องยินดีและควรค่าต่อคำสรรเสริญไม่เฉพาะในไทย แต่นานาชาติควรยินดี ปรบมือให้

มอตโต้เท่นี่คล้ายๆ มอตโต้เท่สลิ่ม คือชี้นิ้วด่าว่า คนพูดเป็นสลิ่ม คือพวกโง่ มีอคติทางการเมือง หรือพวกชอบจินตนาการ ไม่สร้างสรรค์ ตรงกันข้าม เขาต้องการปิดปาก ไม่ให้วิจารณ์หรือรู้ทันสิ่งที่พวกเขาแอบทำ เพื่อพวกเขาต่างหาก

ประเด็น อะไรคือปรองดองที่ยิ่งใหญ่? สำหรับเมียนมา และแผนการสวยหรูนี้ปกปิดดีลผลประโยชน์ของกลุ่มที่ดำเนินการหรือไม่

ประการแรก เปิดแผนการปรองดองในเมียนมาออกมาเลยครับ มีรายละเอียดอย่างไร ที่สำคัญ คนเจรจาเขียนแผนการปรองดองเมียนมาด้วยภาษาอะไรครับ เวลาเจรจาเจรจาด้วยภาษาอะไรครับท่าน

 

เรื่องของ DNA

จากรายงานข่าว ในคำปราศรัยของคุณแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในวันแถลงผลงานและแผนงาน 10 เดือนของรัฐบาลเศรษฐานั้น เธอได้อ้างถึงการทำงานเรื่องการปรองดอง มาก่อนแล้ว

ช่างเก่งเหลือเกินคนตระกูลนี้ จากข้อมูลของ Thai PBS และ VOA1 อ้างว่า คุณเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของคุณทักษิณ ชินวัตร ได้จัดการเจรจากับตัวแทนกลุ่มชนกลุ่มน้อยของเมียนมาที่บ้านพักใน จ.เชียงใหม่ของตนและคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี

และมีรายงานข่าวว่า มีจัดประชุมที่บ้านด้วย ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 ในช่วงที่คุณทักษิณ ชินวัตร ปิ๊กบ้านที่เชียงใหม่2

ช่างเก่งกันทั้งตระกูลเลย พลเรือนผู้มากบารมีและทรงอิทธิพลเดินงานการปรองดองที่ยิ่งใหญ่ให้เมียนมา!

 

ความเป็นไปได้ของ
การปรองดองที่ยิ่งใหญ่
อดีตอธิบายปัจจุบัน

รศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า คุณทักษิณใกล้ชิดและมีบทบาทต่อเมียนมามากในสมัยรัฐบาลพลเอกอาวุโสตาน ฉวย (Than Shawe) เรื่องการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย การผลักดันเงินช่วยเหลือของไทยผ่าน Thailand Export Import Bank3

ยังมีงานศึกษาวิชาการพบว่าโครงการธุรกิจโทรคมนาคมของคุณทักษิณเข้าไปเมียนมาด้วย

ด้วยคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีไทยเยือนเมียนมาระหว่าง 19-20 มิถุนายน 2001 เป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีไทยเยือนเมียนมาเป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรีคนก่อน คุณชวน หลีกภัยปฏิเสธการเยือนเมียนมามาตลอด ตามนโยบายของไทยสมัยนั้นที่เน้นประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

การเยือนครั้งแรกของคุณทักษิณให้ผลเชิงบวกเกินคาด พล.ท.ขิ่น ยุนต์ (Khin Nyunt ) เยือนไทยอย่างเป็นทางการ 3-5 กันยายน 20014 หลังจากไม่มีผู้นำเมียนมาเยือนไทย 11 ปี

ผลการเยือนของ พล.ท.ขิ่น ยุนต์ บริษัทโทรคมนาคมของคุณทักษิณขยายธุรกิจในตลาดเมียนมา คือ บริษัท ThaiCom และบริษัทดาวเทียม iPSTAR ได้ลงนามร่วมมือกับบริษัท Bagan Cybertech IDC and Teleport Company Limited ที่อยู่ภายใต้การกำกับของบริษัทกึ่งรัฐบาล Bagan Cybertech Company Limited (BCT) ที่มีซีอีโอคือ Dr. Ye Naing Win และลูกชายคนเล็กของ พล.ท.ขิ่น ยุนต์5 เป็นผู้บริหารสูงสุด

การลงนามสัญญาธุรกิจโทรคมนาคมที่ย่างกุ้ง โดยมี พล.ท.ขิ่น ยุนต์ เป็นประธาน ข้อตกลงคือ

1. ติดตั้งสถานีภาคพื้นดิน iPSTAR ในเมียนมา

2. เมียนมาขยายเวลาเช่าดาวเทียม ThaiCom ไปอีก 5 ปี รวมทั้งเปลี่ยนระบบสื่อสารจาก C-Band transponders ไปเป็น Ku-Band transponders ใช้ถ่ายทอดสัญญาณ

การติดตั้งระบบพื้นดินของ iPSTAR ประกอบด้วย Central gateway ที่ย่างกุ้ง จะเสร็จสิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2002 และอีก 5,000 เทอร์มินอลทั่วประเทศ ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ปี 2004

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ บริษัทนายกรัฐมนตรีไทยชื่อทักษิณได้ร่วมงานกับบริษัทโทรคมนาคมที่ลูกชายคนเล็กของ พล.ท.ขิ่น ยุนต์ เป็นประธานร่วม ส่วน พล.ท.ขิ่น ยุนต์ เป็นเลขาธิการคนที่ 1 ของ State Peace and Development Council-SPDC6 หรือรัฐบาลรัฐประหารของเมียนมาขณะนั้น7 และเป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองเมียนมาอีกด้วย

 

เอกชนในคราบรัฐ

ธุรกิจและการเมืองของคุณทักษิณในเมียนมายังโลดแล่นต่อไปในกรอบเดิม คุณทักษิณสนิทกับพลเอกอาวุโสตาน ฉวย มาก แล้วคุณทักษิณได้ผลักดันนโยบาย Ayeyawadee Chao Phaya-Mekong Economic Development Strategy-ACMEDS ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

มีเงินกู้ผ่าน Thailand EXIM BANK ทั้งเงินกู้และเงินให้เปล่าก่อสร้างถนน และสะพานผ่านสำนักงานพัฒนาและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน-สพพ. (องค์การมหาชน)

มีเงินช่วยเหลือทางการศึกษาและนักเรียนแลกเปลี่ยนภายใต้ TICA กรมใหม่กรมหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศไทย

ปัจจุบันและอนาคต

หลังรัฐประหารเมียนมา 2021 สถานการณ์ บริบท และชนชั้นนำเมียนมาเปลี่ยนไป แม้นายพลอาวุโสเมียนมาที่คุณทักษิณรู้จักยังอยู่ แต่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำสูงสุดปัจจุบันใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่า รวมทั้งเยือนไทยและเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์หลายครั้ง

มีข่าวว่าคุณทักษิณและน้องๆ ตระกูลชินวัตร พูดคุยกับชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม

โจทย์สำคัญคือ

– ในข้อเรียกร้อง ปรองดองที่ยิ่งใหญ่นั้น มีข้อเสนอการเลือกตั้งไหม เลือกตั้งกี่โมง ใครจัด มีนางออง ซาน ซูจี ลงเลือกตั้งไหม?

– ข้อเรียกร้องให้ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ลงนาม แต่งตั้งคุณทักษิณเป็นผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) สันติภาพ ถ้าทำง่ายเยี่ยงนี้ จีน อินเดียทำไปนานแล้ว ถ้าให้คุณทักษิณเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ประเด็นอาวุธ กองกำลังและอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ใครสั่งการ ใครดูแล กลุ่มชาติพันธุ์ยินยอมไหม

ความจริงคือ ทุกอย่างที่เป็นสีเทา เช่น ในรัฐฉานเหนือฝั่งติดกับมณฑลยูนนานของจีน รัฐกะเหรี่ยงติดชายแดนไทย แม่สอด เป็นต้น มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล คนไทยและกลุ่มทุนไหนจะดำเนินการต่อไป จีนเทา และไทยเทา กลุ่มไหนบ้างจะยอมปล่อยมือให้คุณทักษิณ

– ระวัง มีข่าวเชียร์ทักษิณในเมียนมาอย่างผิดๆ ถูกๆ ด้านเดียว จนถึงข่าวปลอม

สื่อข่าวรายงานว่า ไม่มีผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ไหนลงนามให้แต่งตั้งทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ไกล่เกลี่ยสันติภาพ

ถึงบางอ้อ คุณทักษิณยังไม่ได้เข้าไปเมียนมาอีกเลย ขออนุญาตแล้วแต่รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธ

 


1 “Former Thai PM Thaksin seeks mediation role in Myanmar” Voice of America, 8 May 2024.

2 อ้างจาก “สื่อนอกมองบารมีทักษิณกับบทบาทตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในเมียนมา” ฐานเศรษฐกิจ, 8 พฤษภาคม 2567.

3 ดุลยภาค ปรีชารัชช, วิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุดในสงครามเมียนมา ใน YOUTUBE.

4 The Nation, 3 September 2001.

5 Irrawaddy, June 2002, and Financial Times, 24 April 2002.

6 Myanmar Times, 20-26 May 2002.

7 Duncan McCargo and Ukrist Pathmanand, Thaksinization of Thailand (Nordic Institute of Asian Studies-NIAS, 2005 ) Chapter 2.