เศรษฐกิจ / บาทแข็งโป๊กรอบ 40 เดือน หวั่นกระทบส่งออก ซ้ำเติมด้วยค่าแรง ห่วง ศก.ไทยไปได้ไม่ถึงฝัน

เศรษฐกิจ

บาทแข็งโป๊กรอบ 40 เดือน

หวั่นกระทบส่งออก ซ้ำเติมด้วยค่าแรง

ห่วง ศก.ไทยไปได้ไม่ถึงฝัน

มุมมองคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีจอ 2561 นี้ มีโอกาสที่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะขยายตัวได้สูงที่สุดนับตั้งแต่ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ

ซึ่งการคาดการณ์จีดีพีเฉลี่ยอยู่ที่ราว 4% บางสำนักยังคาดการณ์ไปถึง 4.2-4.3%

ซึ่งระดับนี้ยังไม่รวมผลหากเครื่องยนต์เศรษฐกิจแต่ละตัวเดินเครื่องได้แรงกว่าคาด

ดังนั้น มีโอกาสที่จีดีพีจะขยายตัวถึง 5% ก็ยังมีความหวังอยู่ ตามที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจให้มุมมองไว้

ซึ่งนอกจากแรงขับเคลื่อนจากภาคต่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งภาคการส่งออกตามเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ฟื้นตัว

จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วปีนี้เศรษฐกิจในประเทศจะมาเป็นแรงหนุน เพราะปีก่อนๆ นั้น เศรษฐกิจภายในประเทศอ่อนแอจากกำลังซื้อและการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำทั้งภาครัฐและเอกชน

ซึ่งปีนี้จะเป็นปีแห่งการลงทุน ทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ จะกระตุ้นให้เอกชนตื่นตัวที่จะลงทุนตามมา เพราะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก และจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อและการบริโภคที่ได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ซึ่งรัฐบาลก็พยายามกระตุ้นกลุ่มฐานรากและเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดได้เตรียมเสนอเพิ่มงบฯ กลางปีอีก 1.5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาช่วยกระตุ้นกลุ่มนี้ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัวสมดุลมากขึ้น

ขณะที่การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องตามตลาดโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้หากพิจารณามูลค่าการส่งออกยังเติบโตขึ้นเนื่องจากปีที่ผ่านมาขยายตัวถึง 10% สูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ส่งผลให้หลายสำนัก เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัว 5.0% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศช.) กระทรวงการคลัง 4.0% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 4.0% สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) 5.5% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) 3.5-6.0%

ขณะที่สำนักวิเคราะห์ของธนาคารพาณิชย์ อาทิ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดส่งออกขยายตัว 4.5% ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย 4.8% ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ 5.0%

แต่แล้วจู่ๆ ค่าบาทแข็งขึ้นจากดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า ก็ได้ทำให้หลายฝ่ายกังวล

ซึ่งธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มองว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าอยู่ แต่อาจจะมีแรงหนุนได้หากราคาน้ำมันปรับขึ้นไปถึงระดับมากกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐกลับมา อาจจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้

โดยปลายสัปดาห์ก่อนจึงแข็งค่าทะลุระดับแนวรับสำคัญที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสั้น ลงไปที่ 31.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 40 เดือน นับตั้งแต่ปี 2557 ก่อนจะกลับมายืนที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ขณะที่ค่าเงินบาทเปิดต้นปีที่ 32.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยสิ้นปี 2560 ที่ 32.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนต้นปี 2560 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ผลกระทบค่าเงินบาทนี้ในแง่การท่องเที่ยวอาจไม่ได้รับผลกระทบ

แต่การส่งออกในรูปแบบดอลลาร์สหรัฐอาจจะรับผลกระทบเพราะเมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาทอาจทำให้รายได้และกำไรลดลง ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับการส่งออก ทั้งสภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและ ธปท. ดูแลค่าเงินบาท

เพราะหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง แม้ผู้ส่งออกจะทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้อยู่แล้วอาจจะรับผลกระทบ

ส่วนกรณีที่ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ก็ได้รับผลกระทบ เพราะมีความแข็งแกร่งน้อยและสายป่ายสั้น รวมทั้งดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับคู่ค้าและคู่แข่ง

โดย กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธาน สรท. มองว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้น ทำให้รายได้ผู้ประกอบการลดลง โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เพราะใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 17% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ

ปีนี้คาดการณ์การส่งออกขยายตัวที่ 5.5% มูลค่าราว 2.30 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ บนสมมุติฐานค่าเงินบาทที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.590 ล้านล้านบาท แต่หากเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องและนานทั้งปี ที่สมมุติฐาน 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็จะอยู่ที่ 7.360 ล้านล้านบาท

ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 1 บาท จะทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทหายไป 2.30 แสนล้านบาท

และประเมินว่าจะกระทบไปยังห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เม็ดในระบบเศรษฐกิจหาย 7.912 แสนล้านบาท ส่งผลกระทบต่อจีดีพีให้ลดลง 5% ของมูลค่าจีดีพีทั้งประเทศ

และยิ่งเมื่อมีการปรับเพิ่มค่าแรงอีกก็อาจจะยิ่งกระทบ เพราะต้นทุนค่าแรงคิดเป็น 10-20% ของต้นทุนการผลิต หากขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เท่ากับว่ากลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ 2 เด้ง

ซึ่ง สรท. อยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาชะลอขึ้นค่าแรงในปีนี้ออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่เหมาะสม

เชาว์ เก่งชนม์ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ค่าจ้างแรงงานควรได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ค่าจ้างแรงงานสอดคล้องกับค่าครองชีพ และสอดคล้องสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่จะมีผลต่อต้นทุนการผลิตผู้ประกอบการ เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการไทยเจอแรงกดดันจากค่าเงินบาทแข็งค่าด้วย และค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่การปรับขึ้นค่าแรงแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน ตามความตึงตัวของตลาดแรงงาน ธุรกิจอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่

ส่วนกรณีค่าเงินบาทที่แข็งค่า เป็นการแข็งค่าเร็วสัปดาห์ละประมาณ 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ต้องรอติดตามสถานการณ์อีกระยะหนึ่งก่อนว่าอัตราการแข็งค่าจะอยู่ที่ระดับนี้ในระยะยาวหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาอาจจะได้รับผลกระทบบ้างแต่ยังพอปรับตัวได้

แต่หากค่าเงินบาทยังแข็งค่านานต่อระยะยาวผู้ประกอบการไทยไม่สามารถเสนอคำสั่งซื้อให้คู่ค้าได้ แต่คู่แข่งอย่างเวียดนาม อินโดนีเซียทำได้ ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนตลาดใหม่ เมื่อคำสั่งซื้อไม่มีก็ต้องลดกำลังการผลิต

แม้ว่าที่ผ่านมา ธปท. ได้เข้าดูแลเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและให้เวลาในการปรับตัวแล้วก็ตาม

การเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินบาทยังต้องติดตามต่อไป และจะกระทบกับผู้ประกอบการส่งออกจะโยงใยมาสู่ซัพพลายเชนหรือไม่ หรือกำลังแรงงานและการบริโภคที่เกี่ยวเนื่องหรือไม่

และสุดท้ายจะย้อนกลับมากระทบชิ่งเศรษฐกิจอีกรอบหรือไม่!