สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/ต้นพะยอมของสมเด็จฯ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ต้นพะยอมของสมเด็จฯ

เรื่องนี้นำมาจากชื่อบทความเรื่องเล่าในหนังสือ “ลำธารริมลานธรรม” ของพระไพศาล วิสาโล ซึ่งได้ขออนุญาตท่านและในฐานะที่เป็นกรรมการมูลนิธิสุขภาพไทยด้วย

ท่านก็อนุโมทนาบุญกุศลที่เห็นว่าเรื่องที่ท่านเล่าเกี่ยวเนื่องกับพืชสมุนไพรอยู่บ้าง และแง่คิดข้อธรรมที่เล่าไว้ในหนังสือเล่มนั้นหากได้เผยแพร่ก็จะยิ่งเป็นการดี

เพราะมุ่งเล่าเรื่องราวของพระเถระและพระเถรีในสมัยพุทธกาล ไล่ลงมาจนถึงชีวิตของพระสุปฏิปันโนทั้งในอดีตและปัจจุบัน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ได้อ่านอยู่บ้าง

ต้นเรื่องมีอยู่ว่า…

แม้สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ จะทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ (อุปัชฌาย์) ของในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ก็หาทรงถือพระองค์ไม่ ทรงเป็นกันเองกับลูกศิษย์และญาติโยม ขณะเดียวกันก็ทรงเปี่ยมด้วยเมตตาและทรงเป็นแบบอย่างในทางธรรมได้อย่างดี

คราวหนึ่งเสด็จกลับจากหัวหิน มาถึงวัดบวรนิเวศฯ ก็เย็นแล้ว ไม่นาน ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเคยเป็นสัทธิวิหารริกของท่านได้เดินทางมาเยี่ยม ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์สังเกตเห็นที่ปากประตูพระตำหนักมีต้นไม้ต้นเล็กๆ แค่คืบใส่กระป๋องนมวางอยู่ ถึงกับทูลถามพระองค์ว่าต้นอะไร

“ต้นพะยอมว่ะ สมภารวัดหัวหินให้มา” สมเด็จฯ ตอบ

“โอ้โฮ!” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์อุทาน

“ทำไมโอ้โฮ” สมเด็จฯ ถาม

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงอธิบายว่า “ก็ต้นพะยอมมันต้องใช้เวลาตั้ง 40 หรือ 50 ปีตั้งแต่ปลูก จึงจะโตออกดอกได้ สมเด็จฯ แก่จะตายมิตายแหล่อยู่แล้ว จะไปได้ดูดอกมันทันอย่างไร”

“อย่านั้นหรือ” สมเด็จฯ ตรัสถามย้ำ “เอ็งว่ากี่ปีนะ?”

“50 ปี” คือคำตอบยืนยัน

เมื่อทรงได้ยินเช่นนั้นพระองค์ก็ทรงตะโกนเรียกไวยาวัจกรลั่นตำหนัก พอไวยาวัจกรมาถึงก็รับสั่งให้เอาต้นพะยอมนั้นไปปลูกทันที อย่าให้เสียเวลาแม้แต่นาทีเดียว

“ไอ้นี่มันบอกว่าต้องปลูกถึง 50 ปี ต้นพะยอมมันถึงจะออกดอก ต้องรีบปลูกเร็วๆ อย่าให้เสียเวลา ลุแก่ความประมาทไม่ได้”

เมื่อประสบกับอะไรก็ตามที่ให้ผลช้า ใช้เวลานานกว่าจะบังเกิดความสำเร็จ คนทั่วไปมักจะเฉื่อยแฉะและนิ่งดูดาย เพราะคิดว่ายังมีเวลาอีกมาก หรือยิ่งกว่านั้นก็คือถึงกับวางมือด้วยความท้อแท้ ไม่มีกำลังใจที่จะทำ

แต่สำหรับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นี้ ยิ่งให้ผลช้า ยิ่งต้องรีบทำเพื่อให้ผลนั้นมาถึงเร็วขึ้น

เพราะยิ่งทอดธุระ ผลก็ยิ่งมาถึงช้าลงไปเรื่อยๆ

และหากผลนั้นเป็นสิ่งที่ดีงามด้วยแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงกังวลว่าตนเองจะเป็นผู้รับผลนั้นหรือไม่ เพราะถึงตนเองไม่ได้รับ คนอื่นก็ได้รับอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้แม้จะทรงตระหนักว่ากว่าต้นพะยอมจะออกดอก พระองค์ก็คงละโลกนี้ไปแล้ว แต่ก็ทรงกระตือรือร้นที่จะปลูก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของอนุชนรุ่นหลังนั่นเอง…

พะยอม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ตั้งแต่ 15-40 เมตร

ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea roxburghii G. Don

และมีชื่อพ้องทางพฤกษศาสตร์คือ S. talura Roxb.

มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น กะยอม (เชียงใหม่) ขะยอม (ลาว) ขะยอมดง พะยอมดง (ภาคเหนือ) แคน (ร้อยเอ็ด) เชียง เซียว (กะเหรี่ยง เชียงใหม่) พะยอมทอง (สุราษฎร์ธานี ปราจีนบุรี) ยางหยวก (น่าน)

ต้นพะยอมนี้เป็นไม้ผลัดใบ ลำต้นเปลา ตรง กิ่งอ่อนเกลี้ยง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกหนาสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นร่องตามยาวลำต้น กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ในเขต ตั้งแต่อินเดียตะวันออก พม่า ไทย คาบสมุทรอินโดจีนและมาเลเซีย

ในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้น ป่าดิบแล้งทั่วๆ ไป หรือพบได้ทุกภาคของไทย แต่ปัจจุบันประชากรพะยอมในธรรมชาติลดน้อยลงมาก

ในอดีตบางคนถึงกับเรียกว่าเป็นไม้ไทยๆ และนิยมปลูกกันทั่วไปในบ้านเพราะถือเป็นหนึ่งในไม้มงคล เชื่อกันว่าปลูกแล้วนำโชคชัยมาให้ มีทรัพย์สินเงินทองมาสู่บ้านเรือน

และต้นพะยอมยังช่วยให้ใครที่อาศัยในบ้านที่ปลูกจะเป็นคนสุภาพ คิดทำแต่สิ่งดีงาม ไม่มีศัตรูที่คิดปองร้าย

แต่ใครจะปลูกพะยอมต้องมีที่ดินกว้างๆ เพราะเป็นไม้ใหญ่พอควร ในอดีตจึงเห็นวัดวาอารามนิยมปลูกไว้เป็นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาและให้กลิ่นหอมจากดอกที่ชวนให้สบายใจอย่างดี แต่ปัจจุบันแทบไม่เห็นไม้พะยอมในวัดกันแล้ว น่าเสียดายยิ่ง

พะยอมมีประโยชน์ในหลายด้าน แม้ว่าพะยอมจะออกดอกปีละหน แต่ดอกอ่อนนำมาปรุงอาหารกินอร่อย กินสด กินแบบผักจิ้มน้ำพริก นำไปผัดหรือทอดกับไข่ได้ ทำซุปดอกพะยอมก็อร่อย

ในด้านยาสมุนไพร ดอกพะยอมมีกลิ่นหอม จึงนำไปเข้ายาบำรุงหัวใจ หรือกลุ่มยาหอมแก้อาการเกี่ยวกับลมได้

ดอกพะยอมยังมีสรรพคุณแก้ไข้ได้ด้วย เปลือกต้นมีสารแทนนิน ซึ่งเป็นยาฝาดสมานมีคุณสมบัติแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน แก้ลำไส้อักเสบหรือสมานแผลในลำไส้ได้ นำมาใช้ภายนอกก็ยังได้ ใช้เปลือกต้น แก้แผล ชำระล้างบาดแผล

ชาวบ้านที่ทำน้ำตาลมะพร้าวหรือตาลโตนดจะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น นำเปลือกต้นและเนื้อไม้พะยอมใส่ในกระบอกไม้ไผ่รองน้ำตาลสด ทำเป็นสารกันบูดตามธรรมชาติได้อย่างดี และไม้พะยอมเป็นไม้เนื้อแข็งใช้ในการก่อสร้างทำเสาบ้าน พื้นหรือฝาบ้านได้ ฯลฯ

ปัจจุบันธุรกิจไม้ล้อมทำขายให้กับคนหวังดอกผลไวๆ ต้นพะยอมล้อมราคาหลักหลายหมื่น

แต่วิธีขยายพันธุ์โดยการผลิตกล้าจากเมล็ดก็ทำได้เป็นจำนวนมากในเวลาไม่นาน และเทคโนโลยีวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากส่วนตายอดและแขนง ก็ขยายพันธุ์ได้

หากเรามาสร้างเครือข่ายปลูกพะยอม ทำตามสมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ดีไหม ไม่ต้องรอถึง 50 ปี ต้นโตสัก 10 ปีมีลุ้นดอกหอมออกเต็มต้นได้แล้ว

ใครเพาะพะยอมได้และอยากแบ่งปันแจกจ่ายให้ปลูกกันทั่วประเทศ ก็ส่งข่าวมาบอกกันบ้างนะ