ยานยนต์ สุดสัปดาห์/จาก “B2V” ถึง “ฮอนด้า คอนเนค” อีกขั้นของเทคโนโลยีการขับขี่

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

จาก “B2V” ถึง “ฮอนด้า คอนเนค” อีกขั้นของเทคโนโลยีการขับขี่

นับวันเทคโนโลยีที่นำมาใส่ในรถยนต์จะยิ่งไฮเทคขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ “เอไอ” (Artificial Intelligence) ที่ช่วยคิด คำนวณ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกสบายสูงสุดของผู้ขับขี่

ล่าสุดค่าย “นิสสัน” โดย “นิสสัน อินเทลลิเจ้นท์ โมบิลิตี้” นำเสนอความก้าวล้ำของเทคโนโลยีการขับขี่ผ่าน “B2V” (Brain-to-Vehicle) ที่รถยนต์สามารถวิเคราะห์สัญญาณสมองของผู้ขับขี่

โดยนิสสัน ระบุว่า “B2V” ช่วยทำให้ปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ขับขี่รวดเร็วขึ้น ทำให้สามารถควบคุมการขับขี่ได้ดีมากขึ้น รวมถึงเพิ่มประสบการณ์ขับขี่ที่สนุกยิ่งขึ้นอีกด้วย

นิสสันทดลองค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีถอดรหัสสมองของมนุษย์ เพื่อคาดการณ์การกระทำและตรวจจับความกังวลของผู้ขับขี่

เริ่มจาก การคาดการณ์-จับสัญญาณสมองก่อนที่ผู้ขับขี่จะลงมือทำการต่างๆ เช่น หมุนพวงมาลัย หรือเหยียบคันเร่ง เทคโนโลยีที่เปรียบเสมือนตัวช่วยของผู้ขับขี่จะทำให้การกระทำนั้นเกิดได้รวดเร็วขึ้น ถือเป็นการช่วยเร่งปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ขับขี่และทำให้สามารถขับขี่ได้ดีมากยิ่งขึ้น

การตรวจจับ-ประเมินความกังวลของผู้ขับขี่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถเปลี่ยนลักษณะและรูปแบบการขับขี่ได้เมื่ออยู่ในโหมดขับขี่อัตโนมัติ

เทคโนโลยี B2V คิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบขับขี่อัตโนมัติ โดยระบบสามารถสั่งให้ยานยนต์ทำงาน เช่น หมุนพวงมาลัย หรือชะลอความเร็วของรถ ได้อย่างนิ่มนวล และรวดเร็วขึ้น 0.2-0.5 วินาที โดยพิจารณาจากความคิดที่เกิดขึ้นของผู้ขับขี่

ผู้เชี่ยวชาญของนิสสัน เชื่อว่าเทคโนโลยี B2V จับสัญญาณสมองของผู้ขับขี่ ในการสร้างประสบการณ์ที่น่าสนุกและตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น นำเสนอเทคโนโลยียานยนต์อัจฉริยะที่มีความอัตโนมัติมากขึ้น ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น และสามารถเชื่อมต่อกันได้มากยิ่งขึ้น

แม้เทคโนโลยี B2V ของนิสสัน จะล้ำสมัยแต่เชื่อว่าคงต้องพัฒนาและพิสูจน์กันอีกพักใหญ่ ขณะเดียวกันมีหลายค่ายรถยนต์ที่นำเทคโนโลยีเพิ่มความสะดวกสบายมาใช้งานแล้ว หรือรอใช้งานในอนาคตอันใกล้

ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า หรือฮอนด้า ที่เริ่มนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใส่ในรถยนต์ ช่วยการขับขี่ เร่งแซง หรือกระทั่งบังคับพวงมาลัยแบบอัตโนมัติ

ทั้งนี้ ยังมีกลุ่ม “คอนเนค” หรือการเชื่อมต่อระหว่างคนกับรถ ที่เมื่อปีที่แล้วค่าย “เอ็มจี” สร้างความฮือฮากับรุ่น “แซดเอส” ติดตั้งระบบ “i-SMART” สามารถสั่งงานด้วยเสียงภาษีไทยครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดวิทยุ แอร์ ซันรูฟ ฯลฯ หรือสั่งการผ่านไอสมาร์ทแอปพลิเคชั่น (i-SMART application) จากสมาร์ทโฟน

ทำให้เอ็มจี แซดเอส ขายดิบขายดีเหลือเกิน

มาต้นปีนี้ถึงคิว “ฮอนด้า คอนเนค” ออกมาวาดลวดลาย โดยไม่ได้ติดตั้งโดยตรงในรถรุ่นใหม่ๆ แต่ฮอนด้าใช้วิธีแยกเป็นอ็อปชั่นเสริมให้กับรถรุ่นเก่า แต่อยากได้ไฮเทค

ฮอนด้า คอนเนค เป็นการนำเทคโนโลยี Telematics ระบบอัจฉริยะในการควบคุมการรับส่งข้อมูลทางไกล ทำงานผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ตโฟน และกล่องอุปกรณ์รับส่งข้อมูลทางไกล (Telematics Control Unit หรือ TCU) ที่ถูกติดตั้งบนรถยนต์ฮอนด้า ทำหน้าที่เก็บข้อมูลสำคัญผ่านเครือข่ายโทรศัพท์

เพื่อจัดเก็บและประมวลผลโดย Cloud Technology

พร้อมด้วยระบบ GPS ที่ช่วยในการตรวจสอบพิกัดรถยนต์ได้อย่างแม่นยำ และกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน Call Center ยังสามารถแจ้งเตือนหรือติดต่อเพื่อส่งความช่วยเหลือให้ผู้ขับขี่ได้ทันที

การทำงานหลักๆ ของฮอนด้า คอนเนค มี 6 ฟังก์ชั่น

เริ่มจาก

1. ฟังก์ชั่นสถานะรถยนต์ ช่วยแจ้งสถานะความพร้อมของรถยนต์ก่อนออกเดินทาง เช่น ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น และอื่นๆ รวมถึงแจ้งเตือนการบำรุงรักษา ประวัติการเข้ารับบริการและกำหนดการเข้ารับบริการครั้งถัดไป เพื่อให้ผู้ใช้ได้ดูแลรถยนต์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ

2. ฟังก์ชั่นข้อมูลลักษณะการขับขี่ ที่จะบันทึกข้อมูลการขับขี่และแสดงผลพฤติกรรมการขับขี่ต่างๆ เช่น ระยะทางการขับขี่ ช่วงเวลาการขับขี่ อัตราความเร็วสูงสุด อัตราความเร็วเฉลี่ย และการบันทึกประวัติการเดินทาง

3. ฟังก์ชั่นตรวจสอบตำแหน่งรถยนต์ ผู้ใช้งานสามารถขอพิกัดของรถยนต์ (Find My Car) ได้โดยผ่านฟังก์ชั่นแสดงพิกัดรถยนต์ เมื่อเลือกฟังก์ชั่นขอพิกัดรถยนต์ ระบบจะทำการส่งพิกัดไปยังอีเมลที่ลงทะเบียนไว้

ในกรณีที่รถยนต์ถูกเคลื่อนย้าย ระบบจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนความผิดปกติมาที่ฟังก์ชั่นสถานะพิกัดรถยนต์ในแอพพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ตโฟน

4. ฟังก์ชั่นติดต่อเพื่อช่วยเหลือฉุกเฉิน เมื่อถุงลมทำงานในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ระบบจะส่งสัญญาณไปยังศูนย์บริการข้อมูลฮอนด้า (Honda Call Center) เพื่อติดต่อและประสานงานให้ความช่วยเหลือไปยังเบอร์โทร.ที่ลงทะเบียนไว้ หรือเบอร์โทร.สำรองฉุกเฉิน หากไม่สามารถติดต่อได้ ระบบจะติดต่อหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (1669)

ในกรณีเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปที่ฟังก์ชั่นเบอร์โทร.สำคัญสำหรับกรณีฉุกเฉิน เช่น ศูนย์บริการข้อมูลฮอนด้า สถานีตำรวจ รถพยาบาล บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง รวมทั้งบริษัทประกันภัย เพื่อบริการประสานงานความช่วยเหลือฉุกเฉิน

5.ฟังก์ชั่นค้นหาและแชร์การเดินทาง ทำงานเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นแผนที่ ค้นหาเส้นทางหรือสถานที่ใกล้เคียง เช่น สถานีบริการน้ำมัน ตู้เอทีเอ็ม ร้านสะดวกซื้อ หรือผู้จำหน่ายรถยนต์ฮอนด้า สามารถบันทึกสถานที่ที่ใช้ประจำ เพื่อช่วยนำทางไปยังจุดหมายได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถแชร์บันทึกการเดินทางพร้อมภาพถ่ายบนเฟซบุ๊กส่วนตัวได้ด้วย

และ 6. ฟังก์ชั่นข่าวสารและสิทธิพิเศษ ให้บริการแจ้งข้อมูลข่าวสารและสิทธิพิเศษต่างๆ รวมถึงแจ้งเตือนการต่อประกันภัยและภาษีรถยนต์ล่วงหน้า

ฮอนด้า คอนเนค เป็นนวัตกรรมใหม่ของฮอนด้า ที่น่าสนใจ วิธีการใช้งานค่อนข้างง่าย เพียงติดตั้งกล่องอุปกรณ์รับส่งข้อมูลทางไกล ที่ศูนย์บริการฮอนด้าทั่วประเทศ

จากนั้นเจ้าของรถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Honda Connect Thai (ระบบปฏิบัติการ iOS เวอร์ชั่น 8.0 ขึ้นไป และระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชั่น 4.0 ขึ้นไป)

ศูนย์บริการจะลงทะเบียนเชื่อมต่อข้อมูล TCU และแอพพลิเคชั่น เพื่อสร้างบัญชีการใช้งาน

แถมราคาถือว่าไม่แพงมาก 5,900 บาท (ฟรีค่าติดตั้ง และค่าสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์เพื่อการส่งข้อมูลรายปี รวม 2 ปี)

สามารถติดตั้งได้ในรถฮอนด้าเกือบทุกรุ่นตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นไป ยกเว้นรถกลุ่มไฮบริด และรถนำเข้า