เมื่อ “มนัส สัตยารักษ์” พูดถึงวันที่พบ “ทักษิณ” อะไรคือความหลัง เมื่อครั้งเก่าก่อน

Former Thai premier Thaksin Shinawatra speaks during a press conference at Seoul on November 23, 2011. Shinawatra said November 23 he has no plans to return home, following suggestions that the current government headed by his sister may seek to pardon him. AFP PHOTO / KIM JAE-HWAN / AFP / KIM JAE-HWAN

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10/07/2015

 

มี gmail เมื่อ 7 พฤษภาคม 2014 จากผู้ใช้นามว่า Tipawan Y. ถึงผมว่า

“อ่านบทความของคุณ จากมติชนสุดสัปดาห์เล่มล่าแล้ว ให้สงสัยเรื่องความเป็นพี่น้องกับทักษิณ แล้วเดี๋ยวนี้ไม่เป็นพี่น้องกันแล้วเหรือคะ?”

นาทีแรกผมใจไม่ค่อยดี เพราะแง่หนึ่งของถ้อยคำข้างต้นมีน้ำเสียง “ต่อว่าต่อขาน” แต่เมื่ออ่านต่อให้จบข้อความในเมล์ พบว่าคุณ Tipawan Y. ชอบอ่านที่ผมเขียนเล่าเรื่องสมัยก่อน ให้กำลังใจและจะคอยติดตามอ่านต่อไปเรื่อยๆ

เหตุที่ผมใจไม่ค่อยดี เพราะตอนที่เขียนข้อความว่า “…เมื่อครั้งที่เรายังเป็นพี่น้องกันอยู่…” ทิ้งท้ายไว้ก็เท่ากับว่า “เดี๋ยวนี้ไม่ได้เป็นพี่น้องกันแล้ว” มันทำให้ผมคิดแล้วคิดอีก

ลังเลอยู่หลายตลบเหมือนกันว่าสมควรที่จะใช้คำพูดแบบนี้หรือไม่ด้วยว่ามันมีนัยยะให้ตีความได้ถึง2ประเด็น คือบอกเลิกความเป็นพี่น้องนักเรียนนายร้อยตำรวจ กับการไม่บังอาจ “ตีเสมอ” ยกตัวเองเป็นพี่ของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำประเทศที่ดังและร่ำรวยมหาศาลด้วย

มันเป็นนัยยะที่ขัดแย้งกันเองหรือตรงข้ามกันถึงผมจะ”วางตัว”อย่างไหนผมก็ผิดทั้งนั้น… ผิดที่ไปถอนตัวจากความเป็นพี่น้องหรือไม่ก็ผิดที่ไปตีเสมอผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก

อาจจะมีคำถามตามมาว่าเมื่อรู้ตัวจะถูกมองว่า”ผิด”แล้วยังดันทุรังเขียนออกมาทำไมกัน(วะ)

เรื่องมันมีครับ…

คืน countdown วันจะขึ้นปีใหม่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ พ.ศ. เท่าใดผมจำไม่ได้ จำได้แต่ว่าเป็นปีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะไปเป็นประธานและร้องเพลงปีใหม่ร่วมกับประชาชน

ผมกับเพื่อนหญิงคนหนึ่งตั้งใจจะไปฉลองปีใหม่กันที่ล็อบบี้บาร์ของโรงแรมเพรสซิเด้นท์ซึ่งอยู่ละแวกเดียวกับลานเบียร์การ์เด้นของเซ็นทรัลเวิลด์

พอย่างเท้าเข้าไปในล็อบบี้บาร์อันกว้างขวางผมเห็นคุณทักษิณนั่งอยู่ที่โต๊ะแบบชุดรับแขกเก้าอี้อาร์มแชร์มีฝรั่งวัยรุ่น2 คนนั่งร่วมโต๊ะด้วย ไม่มีทหาร-ตำรวจอารักขาแต่อย่างใด ไม่มีแม้แต่เพื่อนคนไทยสักคน

เราอยู่ห่างกันพอสมควร ในระยะที่จะทักกันก็ได้ หรือจะแสร้งทำเป็นไม่เห็นแล้วไม่ทักกันก็ได้

พ.ต.ท.ทักษิณ มองมาทางผมก็จริง แต่ไม่มีสัญญาณทักทาย ไม่ว่าจะด้วยยกมือ หรือด้วยหางตา หรือยิ้มมุมปาก ทำให้ผมชักไม่แน่ใจว่าเขาจะจำผมได้หรือเปล่า

แม้จะไม่เมินแต่เป็นการมองด้วยสายตาว่างเปล่าไม่มีวี่แววของคนที่รู้จักกันหรือรู้จักแต่ก็ไม่ประสงค์จะให้เข้าไปทัก

ผมชะงักลังเลอยู่เพียงเสี้ยวนาทีก็เดินไปหาที่นั่งอีกมุมหนึ่งทำทีเหมือนว่ามองไม่เห็นไม่รู้จักกันหรือจำไม่ได้สายตาสั้นฯลฯ ประมาณนี้แหละ

ผมอยู่ในชุดแต่งกายลำลองใส่เสื้อยืดคอปกลายขวาง กางเกงยีนส์และรองเท้าแตะ แม้จะเป็นรองเท้าหนังมีแบรนด์แต่มันก็เป็นรองเท้าแตะที่ไม่สุภาพ ไม่เหมาะสมที่จะสวมใส่เข้าไปยืนพูดคุยกับคนระดับผู้นำประเทศ

ผมคงไม่คิดอะไรมากถ้าคุณทักษิณไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีผมก็คงกรากเข้าไปทักเหมือนเพื่อนร่วมอาชีพที่เคยผ่านสถาบันเดียวกันอาจจะพูดคุยเรื่องคอมพิวเตอร์ของตำรวจสักสอง-สามคำแล้วก็แยกย้ายกันไปฉลองปีใหม่

แต่พอเป็นนายกรัฐมนตรีผู้นำประเทศ สถานะพี่-น้องระหว่างเรามันก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา อย่างน้อยเราต้องรักษา “ระยะห่าง” กันให้เหมาะสม

พอผมได้ที่นั่งและสั่งเบียร์มาเป็นเพื่อนแล้วผมหวนกลับมาคิดใหม่…ผมควรจะเข้าไปทักนายกฯทักษิณเสียในตอนนี้โอกาสอย่างนี้ไม่ใช่จะมีขึ้นได้ง่ายๆ นะครับ ขนาดนายตำรวจใหญ่ระดับ พล.ต.อ. (ที่คุณทักษิณฝากคำพูดมาบอกว่า “อยากคุยด้วยนานๆ”) เคยบ่นให้ผมฟังว่า “พบยาก กำแพงเยอะ ขนาดบอกว่าอยากคุยด้วยก็ยังไม่ได้พบเลยว่ะ”

ผมเพิ่งเดาออกว่านายกฯ กับหนุ่มฝรั่งนั้นต่างคนต่างมา นายกฯ คงเข้ามาแต่ลำพังเพียงคนเดียวเพื่อรอพรรคพวกที่จะมาร่วมร้องเพลงปีใหม่ด้วยกัน

ที่คุณทักษิณไม่ได้ส่งสัญญาณทักผมนั้นอาจจะเป็นเพราะเห็นผมมากับผู้หญิงเพียงสองต่อสองคงคิดว่าผมน่าจะต้องการความเป็นส่วนตัวมากกว่าจะมาคุยเรื่องที่ไม่มีวาระและสาระกับนายกรัฐมนตรี(ฮา)

ถ้าเป็นเรื่องที่ผมเข้าใจสถานการณ์ผิดก็น่าเสียดายโอกาสหายากนี้อย่างยิ่ง

ผมตัดสินใจเดินกลับไปที่โต๊ะคุณทักษิณ แล้วก็พบว่าที่โต๊ะเหลือแต่ฝรั่งหนุ่มสองคนเท่านั้น นายกฯ ทักษิณไปร้องเพลงที่เวทีบริเวณลานเบียร์การ์เด้น เซ็นทรัลเวิลด์ เสียแล้ว

แรกเจอกันหรือเจอกันครั้งแรกระหว่างผมกับคุณทักษิณไม่ค่อย “สวย” นักเพราะเป็นการเจอกันของ“คนสร้างหนัง” กับ “คนซื้อหนัง” ที่บริษัทสหมงคลฟิล์ม โคลีเซี่ยม

ประโยคแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทักผมก็คือ “หนังของพี่ฟอร์มไม่ดีเลย ผมขอลดห้าหมื่นนะครับ”

คนสร้างหนังอย่างผมหรือจะโต้ตอบอะไรได้ แต่ก็แปลกนะครับที่ผมไม่มีความรู้สึกในทางลบแต่อย่างใด ในขณะที่เพื่อนหุ้นส่วนของผมบ่นอุบและนินทาลับหลังไม่หยุด

ผมเป็นตำรวจท้องที่มีโอกาสได้รับนามบัตรจากพ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนักธุรกิจเป็นเรื่องไม่หนักหนาอะไรซ้ำยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมและหน้าที่ของตำรวจอีกด้วย

ครั้งหนึ่งผมไปขอสำเนาข้อมูลรถยนต์ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ที่คุณทักษิณควบคุมดูแลอยู่ผมพยายามกำหนดขอบเขต (scope) เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองกระดาษเกินไปแต่มันก็ยังมากอยู่ดี พ.ต.ท.ทักษิณ มีท่าทีอิดออด บังเอิญว่าวันนั้น คุณอ้อ (คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร) อยู่ในห้องทำงานด้วย คุณหญิงเข้าใจความจำเป็นของข้อมูลที่ผมต้องการ บอกกับคุณทักษิณว่า “ถึงจะเยอะก็ปริ๊นต์ให้พี่เขาไปเถอะ”

การให้เกียรติเพื่อนของคู่ครองเป็นลักษณะผู้นำที่ดีทำให้ผมนึกทายอยู่ในใจว่าในอนาคตคุณอ้อน่าจะได้เป็นคุณหญิงที่มีบารมีและอิทธิพลสูงและผมก็ทายถูก

พ.ต.ท.ทักษิณ เคยชวนคุยและทดสอบความเห็นส่วนตัวของผม เกี่ยวกับการใช้สัญญาณไฟจราจรที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์แทนใช้กำลังคน แสดงวิสัยทัศน์และความเป็นนักธุรกิจที่มากด้วยไอเดียทันสมัย

ครั้งหนึ่งมีพนักงานบริษัทของคุณทักษินมาขอดู “โครงสร้างข้อมูลคดีอาญาบช.น.” ที่ผมออกแบบผมไม่แน่ใจว่ามาตามคำแนะนำของคุณทักษิณหรือไม่ แต่ผมยินดีอย่างยิ่ง

วันที่เขาลาออกจากราชการ ผมเข้าไปแสดงความไม่เห็นด้วยถึงในห้องทำงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แต่ส่ายหน้าและยิ้มกับความไร้เดียงสาของรุ่นพี่คนนี้

คำตอบของผมที่จะตอบผู้อ่านที่ gmail มาถึงผมก็คือ ความเป็นพี่น้อง นรต. นั้นมันบอกเลิกกันไม่ได้ก็จริง แต่ในสถานะอย่างนี้มันย่อมมี “ระยะห่าง” ตามธรรมชาติของมัน