ฉัตรสุมาลย์ : ภายใต้ปีกของฉือจี้

ไปเมืองจีนตามเส้นทางสายไหม 12 วัน พอกลับมาเมืองไทยได้ 5 วัน ก็ต้องสัญจรไปไต้หวันอีก

ไปประชุมกับ INEB ค่ะ (กลุ่มชาวพุทธเพื่อสังคม)

ตอนที่จะออกจากเมืองไทย อาการก็ไม่ค่อยดีเท่าไร มีอาการไอ เจ็บคอ มีเสมหะ รีบไปนอนให้หมอให้ยาฆ่าเชื้อมาเกือบชั่วโมง

พอเดินทางถึงไต้หวัน เข้าประชุมในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันที่พาคณะที่มาประชุมนานาชาติ 120 คน ไปเยี่ยมชมงานศาสนาที่วัดและมหาวิทยาลัย Dharma Drum เรียกเพราะว่า วัดธรรมเภรี ที่อยู่ไกลออกไป 2 ชั่วโมง ตอนบ่ายอาการไม่ดีชัดเจน ไอถี่ขึ้น และมีไข้ จึงกระซิบบอกเจ้าภาพว่าคงต้องถึงหมอ

เส้นทางที่มาจากวัดธรรมเภรีนั้น ต้องผ่านไทเป ภิกษุณีใจเย็น (ชื่อของท่านค่ะ) เลยโทรศัพท์เข้าไปสั่งคนที่ท่านรู้จักที่โรงพยาบาลฉือจี้ว่ากำลังพาพระภิกษุณีไทยมานะ อาสาสมัครขับรถพาเราแยกมาจากคณะ เข้าโรงพยาบาลโดยตรง

พอเดินเข้าไป โรงพยาบาลใหญ่โตโอ่โถงมาก ท่านธัมมนันทาว่าเคยมาแล้ว มาฉันอาหารมังสวิรัติที่ชั้นใต้ดิน

 

ประเดี๋ยวเดียวมีรถคนไข้มารับ บุรุษพยาบาลและพยาบาลมา 5 คน ตกใจหมดเลย เขาจัดการให้ท่านธัมมนันทานอนบนรถเข็นแล้วเอาเข้าห้องฉุกเฉิน บุรุษพยาบาลคนหนึ่งเจาะเลือดไปตรวจ และให้ยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือด เจ็บมากเลยค่ะ

เดี๋ยวเดียวเข็นไปห้องตรวจหัวใจ ทำอีเคจี แล้วต่อไปห้องเอ็กซเรย์ดูช่องท้อง และดูโพรงจมูก เพื่อดูไซนัส

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกว่า “ต้องนอนสองอาทิตย์” ผู้ช่วยพยาบาลที่เข็นเตียงก็เลยบอกว่า “เขามาจากเมืองไทย”

กลับมานอนรอผลการตรวจไม่ถึง 15 นาที หมอมาบอกว่าดูเอ็กซเรย์แล้ว ไซนัสเคลียร์ เดี๋ยวจะส่งขึ้นไปแผนกทรวงอก “หมอเจ้าของไข้เป็นผู้หญิง ฝีมือดีมากนะ”

ปรากฏว่า ไม่พูดพล่ามทำเพลง แอดมิตเลยค่ะ ทั้งท่านธัมมนันทาและอาจารย์ที่มาดูแล มาด้วยชุดที่ใส่มาเท่านั้น ไม่ทราบว่าจะต้องมานอนโรงพยาบาล แต่ก็ปรับตัวไปตามสถานการณ์

ยังอยู่ที่ห้องฉุกเฉินเพื่อรอผลเลือด คุณหมอผู้ชายคนเดิมเข้ามารายงานผลเลือดว่า เม็ดเลือดขาวสูงมาก แสดงว่าร่างกายผลิตเม็ดเลือขาวออกมาทำหน้าที่เป็นทหารป้องกันศัตรู

คืนแรกที่ไปถึงนั้น หมอให้ยาฆ่าเชื้อเข้าเส้นเลือดติดต่อกัน 3 ขวด

ห้องที่นอน เป็นห้องพิเศษนอนคนเดียว ชั้น 15 อาคารนั้นมี 17 ชั้นค่ะ

 

3วันแรกคุยไม่ออก นอนอย่างเดียว หมอเจ้าของไข้มาพบเช้าวันรุ่งขึ้น บอกหมอว่า มีอาการท้องผูกด้วย หมอว่า “เห็นในเอ็กซเรย์แล้ว” อายจัง

หมอให้ยาระบายแบบทำให้เนื้ออุจจาระนุ่ม ถ่าย 5 ครั้ง ไม่เข้าใจว่าทั้งหมดที่ออกมานั้น มันอยู่ในท้องของเราได้อย่างไร มหัศจรรย์พันลึก

โล่งตัวไปเยอะ

ยาที่หมอให้เป็นยาสมุนไพร ทำเป็นเกล็ดเล็กๆ สีน้ำตาลไหม้ กรอกใส่ปากแล้วดื่มน้ำตาม ปรากฏว่า เกล็ดเล็กๆ เหล่านี้ พอถูกน้ำมันจะพองออกเหมือนเม็ดแมงลักเข้าไปแทรกในกากอาหาร จึงทำให้กากอาหารนุ่ม ถ้าเอามาขายในเมืองไทยน่าจะขายดีนะคะ

หมอให้ยาฆ่าเชื้อทุกวัน วันละขวด ต้องเจาะเลือดไปตรวจทุกวัน เก็บเสลดไปเพาะเชื้อทุกวัน

 

นายแพทย์ใหญ่ที่เป็นคณบดี มาเยี่ยมทุกเช้า คุณหมอเจ้าของไข้มาดูอาการแต่เช้า และปรับยาให้เหมาะกับอาการ เด็กพยาบาลที่เป็นนักศึกษาพยาบาลฝึกหัดก็สนุกสนานที่ได้หัดพูดภาษาอังกฤษ บางทีเข้ามาแล้วพูดไม่ออก วิ่งออกไปใหม่ ไปกดคำแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วจึงเข้ามาใหม่ ให้เราอ่านจากภาษาอังกฤษ ดูพยาบาลเด็กๆ จะสนุกเป็นพิเศษ

เวลาที่พยาบาลมาให้ยา หรือมาตามอาการ เขาจะเข็นโต๊ะทำงานใหญ่ที่มีทั้งจอคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ในการจัดยาครบ มีชั้นใส่เข็ม ใส่ใบสั่งยา จิปาถะ ไม่ต้องวิ่งกลับไปกลับมา แบบนี้ คิดว่าพัฒนามากกว่าประเทศไทย ยังไม่เห็นโรงพยาบาลไหนมีในเมืองไทย

น้ำร้อนน้ำเย็นสามารถไปกรอกได้เอง หากไม่มีคนเฝ้าไข้ จะมีอาสาสมัครทำให้ ในกรณีของเราพอถึงเวลาอาหาร อาจารย์ที่เป็นผู้ดูแลท่านธัมมนันทาลงไปซื้อจากชั้นเบสเมนต์ 1 มีอาหารมังสวิรัติขายให้เลือกนับ 100 อย่าง เขาขายโดยการชั่งตามน้ำหนัก ผู้คนที่อาศัยมาฝากท้องที่นั่นเป็นร้อยคน สถานที่กว้างขวาง อาหารที่วางร้อนๆ ทั้งนั้น เรียกว่าตักไม่ทันขาย

ชั้นหนึ่งนอกจากมีห้องสวดมนต์ใหญ่แล้ว ยังมีบริเวณที่คนไข้มานั่งฟังดนตรี นักแสดงเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิฉือจี้เอง ผลัดกันมาจัดการแสดงเพื่อสร้างความบันเทิงให้คนไข้ มีทั้งเปียโน และการแสดงอื่นๆ สลับกันไป

มีร้านหนังสือ และร้านชาติดกัน คือสามารถที่จะอ่านหนังสือและจิบชาไปด้วย บรรยากาศไม่เป็นโรงพยาบาลค่ะ

 

ตอนที่ท่านภิกษุณีเจิ้งเหยียนเริ่มต้นคิดทำโรงพยาบาลนั้น อายุเพียง 25 ท่านบังเอิญไปยืนอยู่หน้าโรงพยาบาล เห็นคนท้องถิ่นแบกผู้หญิงที่ตกเลือดมาจากบนภูเขา แต่พอมาถึงโรงพยาบาล โรงพยาบาลไม่รับเพราะไม่มีเงิน

ท่านอธิษฐานจิตตรงนั้นเลยว่าท่านจะสร้างโรงพยาบาลดูแลคนเจ็บที่ไม่มีเงิน

ตอนนั้นท่านเป็นภิกษุณีสาวๆ มีอาม้า อาซิ้มมาสวดมนต์กับท่านเพียง 10 กว่าคน เมื่อท่านกลับไปบอกถึงความคิดของท่าน บรรดาสานุศิษย์ของท่านคิดไม่ได้ คิดได้แต่เพียงว่าท่านอาจารย์คิดจะสร้างโรงหมอ โดยความเข้าใจว่า เป็นคลินิก 1 ห้อง แต่ท่านอาจารย์เจิ้งเหยียนท่านคิดสร้างโรงพยาบาลขนาด 800 เตียง

ท่านเริ่มต้นจากการสอนให้อาม้า อาซิ้มออมเงินค่าอาหารที่ไปจ่ายตลาดเก็บเงินใส่กระปุกไม้ไผ่วันละหยวนให้ทำทุกวัน ให้นึกถึงแม่กวนอิมโพธิสัตว์

โรงพยาบาลที่ท่านสร้างแห่งแรกที่ฮวาเหลียน อยู่ทางตะวันออกของเกาะ เรียกว่าเป็นภาคอีสาน นายแพทย์จากเมืองใหญ่คือจากไทเป ไปอยู่ได้สองวันก็กลับ ในที่สุดท่านคิดต่อว่า ท่านต้องสร้างมหาวิทยาลัยที่จะผลิตแพทย์เอง มหาวิทยาลัยแพทย์ และพยาบาลจึงตามมา

คราวนี้ แพทย์และพยาบาลที่ออกมาจากฉือจี้จะมีกระบวนการทางความคิดเป็นแบบโพธิสัตว์ ล้วนเสียสละและตั้งใจรับใช้ประชาชนอย่างจริงจัง

 

ท่านไม่ได้สร้างโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว แต่อย่างน้อยที่สุดน่าจะมีโรงพยาบาลฉือจี้ขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่ๆ ของไต้หวันอย่างน้อย 4-5 แห่ง

ฉือจี้สนใจการรักษาสิ่งแวดล้อม รณรงค์การนำกระดาษและวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และพยายามให้ชาวบ้านทำความเข้าใจว่า การใช้กระดาษอย่างฟุ่มเฟือยเป็นการตัดต้นไม้โดยตรง หนึ่งในสี่ของรายจ่ายที่ฉื้อจี้นำมาสร้างสถานีต้าอ้าย สถานีโทรทัศน์ส่วนตัวของฉือจี้นั้น มาจากการจัดการขยะ

งานของฉือจี้จึงครบวงจรอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ล่าสุด ในร้านขายของที่โรงพยาบาลฉือจี้ มีการแปรเศษพลาสติกกลับมาทำเป็นกระเป๋า เป้ เสื้อผ้าที่ทันสมัย ของใช้ที่ฉือจี้ผลิตขายรับรองคุณภาพระยะยาว

ผู้เขียนเคยซื้อตลับพลาสติกอย่างดีสำหรับใส่อาหาร ชนิดที่แม้เป็นอาหารน้ำก็ไม่หก ใช้มา 15 ปีแล้วก็ยังใช้ได้อยู่

ท่านภิกษุณีเจิ้งเหยียนได้รับรางวัลแม็กไซไซในงานเพื่อประชาชน และต่อมาได้รับรางวัลสันติภาพนิวาโน จากญี่ปุ่นที่ท่านธัมมนันทาร่วมเป็นกรรมการคัดสรรด้วย

ท่านยังใช้เวลาสอนธรรมะทางทีวีต้าอ้ายทุกๆ วัน วันละ 15 นาที ในโรงพยาบาลทุกห้องจะมีโทรทัศน์จากสถานีต้าอ้ายให้ดู ทำให้คนไข้ได้รับรู้ถึงงานของมูลนิธิฉือจี้ว่ามิได้มีเฉพาะงานโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ท่านยังส่งอาสาสมัครออกไปช่วยผู้ประสบภัยพิบัติทั้งในเอกวาดอร์และแม้ในสหรัฐอเมริกา

รูปภาพขนาดใหญ่ที่ปรากฏในห้องสวดมนต์ทั้งที่ฮวาเหลียนและทั้งในไทเปจึงไม่เกินความเป็นจริง เมื่อเราเห็นรูปท่านภิกษุณีธรรมาจารย์ยืนประคองลูกโลกทั้งใบอยู่เบื้องหน้า

งานโพธิสัตว์ เป็นงานที่คนตัวเล็กๆ ทำไม่ได้ แม้เมื่อเรามีเป้าหมายเดียวกัน บางครั้งงานที่เราคิดว่าเราไม่สามารถก็อาจจะเป็นจริงได้

 

ที่พิพิธภัณฑ์ฉือจี้ที่เมืองฮวาเหลียน มีจุดหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจเป็นพิเศษ คือ ซากปรักหักพังที่ท่านไปตัดเอามาจากอาคารที่พังเวลาที่เกิดแผ่นดินไหว ท่านตัดเอามาให้ดูว่า การสร้างอาคารถ้าไม่สนใจในโครงสร้างเหล็ก ก็จะไม่สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ ทุกครั้งที่ไต้หวันประสบทุพภิกขภัยจากแผ่นดินไหว อาสาสมัครฉือจี้จะเป็นพวกแรกที่มีความพร้อมเข้าถึงเหตุการณ์ได้ก่อนรัฐบาลด้วยซ้ำ

ท่านธัมมนันทานอนอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์พยาบาลฉือจี้ 4 คืน 5 วัน ได้ซึมซับมหากรุณาของมูลนิธินี้อย่างเป็นรูปธรรม

วันที่จะต้องเช็กเอาต์ ท่านต้องขอยืมบัตรเครดิตของเจ้าภาพที่จัดงาน แต่ปรากฏว่าเมื่อไปถึงแผนกบัญชี ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 34,000 หยวน (เทียบเงินไทยประมาณ 36,000 บาท) เจ้าหน้าที่การเงินว่า “วางใจ” ท่านเป็นแขกวีไอพีของฉือจี้ ฉือจี้ยินดีดูแลท่าน

เรามาทราบทีหลังว่า ต้องมีการรายงานเรื่องราวต่างๆ จากทุกสาขากลับที่ฮวาเหลียน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของมูลนิธิฉือจี้ ในกรณีนี้ ท่านเจิ้งเหยียนเองรับทราบว่า ท่านธัมมนันทามานอนเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลอยู่ เจ้าหน้าที่ว่า “สั่งตรงมาจากข้างบน” หมายถึงท่านธรรมาจารย์ภิกษุณีเจิ้งเหยียนเอง ปีนั้น ท่าน 81 แล้วค่ะ ขอให้ท่านได้มีอายุยืนนาน เป็นพระมหาโพธิสัตว์อย่างแท้จริง

โมทนา สาธุ