โฟกัสพระเครื่อง/เหรียญพิมพ์หน้าแก่ หลวงปู่สี ฉันทสิริ วัดถ้ำบุญนาคตาคลี

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญพิมพ์หน้าแก่ หลวงปู่สี ฉันทสิริ วัดถ้ำบุญนาคตาคลี

“หลวงปู่สี ฉันทสิริ” วัดเขาถ้ำบุญนาค ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พระเกจิชื่อดัง เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง

เหรียญวัตถุมงคลหลวงปู่สี ที่จัดสร้างแต่ละรุ่น ล้วนแต่ได้รับความสนใจ โดยเฉพาะเหรียญ ปี พ.ศ.2519 ถือเป็นเหรียญพระใหม่อีกเหรียญหนึ่งที่ได้รับความนิยม

เหรียญหลวงปู่สี พิมพ์หน้าแก่ เป็นเหรียญครึ่งองค์ (หน้าแก่) วงการเรียกกันว่า “เหรียญหน้าแก่” วัดเขาถ้ำบุญนาคเป็นผู้จัดสร้าง เมื่อปี พ.ศ.2519 เป็นที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา สร้างเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียว จำนวน 20,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วงในตัว มีขอบ ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเหรียญเป็นรูปนูนหลวงปู่สี ครึ่งองค์ มียันต์ครูและอักขระขอมประจำตัวของท่านที่สังฆาฏิ

ส่วนด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเหรียญเป็นยันต์พัด กำกับด้วยอักขระขอม “มะ อะ อุ” มีพยัญชนะ “ก” ตรงกลางยันต์ และด้านล่างมีอักขระขอม 1 แถว “พุท นะ สัง มิ อะ อะ” กำกับด้วยเลขไทย “๒๕๑๙” รอบขอบเหรียญมีอักษรไทย “ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา วัดเขาถ้ำบุญนาค ตาคลี จ.นครสวรรค์ หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ”

เหรียญวัตถุมงคลรุ่นนี้ หลวงปู่สี ปลุกเสกเดี่ยว และทางวัดยังนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกในอุโบสถของวัดเขาถ้ำบุญนาค โดยพระเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสกล้วนเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งสิ้น

ปัจจุบัน ยังพอเหลืออยู่บ้าง ราคาเช่าหาบูชายังไม่สูงเท่าใดนัก

หลวงปู่สี เป็นชาวอำเภอรัตนบุรี จ.สุรินทร์ มีนามเดิมลี เมื่อมีการใช้นามสกุล ท่านใช้นามสกุลว่า ดำริ เกิดเมื่อปีจอ พ.ศ.2392 ตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ชีวิตในวัยเด็กติดตามบิดาออกล่าสัตว์มาเป็นอาหารและเก็บของป่าไปขาย

อายุ 11 ปี บิดานำไปฝากกับพระอาจารย์อินทร์ พระธุดงค์ซึ่งเคยเป็นสหายเก่า ด.ช.ลี จึงตามพระอาจารย์อินทร์ตระเวนธุดงค์ไปด้วยกัน จาก จ.สุรินทร์ จนกระทั่งมาถึงกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2403 จากนั้นได้พามากราบนมัสการพระสหธรรมิก คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี

สมเด็จโต สั่งสอนพระธรรมวินัยและถ่ายทอดวิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อักขระขอม ไทย และวิทยาคม รวมทั้งการปฏิบัติสมาธิจิต

พ.ศ.2407 มีการบวชพระและเณรจำนวน 108 รูป เพื่อสมโภชสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

หลวงปู่สี ขณะนั้นอายุ 15 ปี ได้บรรพชาด้วย โดยสมเด็จโต เป็นพระอุปัชฌาย์ และอยู่วัดระฆังฯ เพื่อศึกษาวิชาอาคมต่างๆ กับสมเด็จโต อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำผงวิเศษทั้งห้าอันศักดิ์สิทธิ์

กระทั่งปี พ.ศ.2411 พระอาจารย์อินทร์ กลับจากธุดงค์แวะเยี่ยมสมเด็จโต จึงขออนุญาตสมเด็จโต ตามพระอาจารย์อินทร์กลับไปเยี่ยมบิดา-มารดา เมื่อกลับไปเห็นสภาพครอบครัวซึ่งมีความยากลำบาก จึงขออนุญาตพระอาจารย์อินทร์ สึกออกมาช่วยเหลือครอบครัว

ใช้ชีวิตในวัยหนุ่มอย่างโชกโชน นอกจากช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนาแล้ว ยังมีอาชีพรับจ้างคุมฝูงวัวไปขายข้ามจังหวัด

อายุ 29 ปี เข้ารับราชการเป็นทหารเรืออยู่หลายปี แล้วออกมาประกอบอาชีพค้าวัวค้าควายอยู่ระยะหนึ่ง

อายุ 39 ปี เกิดความเบื่อหน่ายทางโลก จึงตัดสินใจอุปสมบทที่วัดบ้านเส้า ซึ่งอยู่ใน อ.บ้านหมี่ ปัจจุบัน มีพระครูธรรมขันธ์สุนทร เป็นพระอุปัชฌาย์

จําพรรษาได้ระยะหนึ่งจึงออกธุดงค์มาจำพรรษาที่ถ้ำเขาไม้เสียบ ต.ช่องแค จ.นครสวรรค์ ฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นเวลา 3 ปี จากนั้นมา ท่านก็ถือปฏิบัติในการออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย จากเหนือถึงใต้ ตะวันออกถึงตะวันตก รวมทั้งประเทศลาว ประเทศพม่า เลยไปประเทศอินเดีย เกือบตลอดระยะเวลาที่ท่านบวช ได้ไปสักการะสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนามากมาย

ท่านพบพานพระเกจิชื่อดังหลายต่อหลายรูป พระสหธรรมิกที่มีความสนิทสนม สนทนาข้อธรรมและแลกเปลี่ยนสรรพวิชาซึ่งกันและกัน อาทิ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ และ หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน

หลวงปู่สี ยังเป็นพระอาจารย์ของพระเถระชื่อดังหลายรูป เช่น หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่, หลวงปู่บุดดา วัดกลางชูศรีเจริญสุข จ.ชัยนาท และหลวงปู่เย็น วัดสระเปรียญ จ.ชัยนาท เป็นต้น

อายุประมาณ 90 ปี ท่านสร้างวัดหนองลมพุก อ.โนนสังข์ จ.อุดรธานี และอยู่จำพรรษามาโดยตลอด จนถึงปี พ.ศ.2512 พระครูนิวิฐปริยัติคุณ (พระอาจารย์สมบูรณ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาถ้ำบุญนาค ไปนิมนต์ท่านลงมาช่วยสร้างวัดเขาถ้ำบุญนาค ซึ่งตอนนั้นยังเป็นสำนักสงฆ์เล็กๆ จนเจริญรุ่งเรืองสืบมา

ด้วยหลวงปู่สี ท่านเป็นพระสมถะ ไม่ยึดติดความสะดวกสบาย ท่านจึงคงอยู่ที่กุฏิไม้เก่าๆ หลังเล็กๆ ไม่ยอมย้ายไปกุฏิหลังใหม่ที่อดีตเจ้าอาวาสตั้งใจสร้างให้

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2520 สิริอายุ 128 ปี พรรษา 89

คณะศิษยานุศิษย์นำสังขารของท่านซึ่งไม่เน่าเปื่อย บรรจุในโลงแก้ว ประดิษฐานไว้ที่กุฏิหลังใหม่ เพื่อให้สาธุชนได้ไปกราบไหว้บูชา

ในทุกปีเมื่อครบวันมรณภาพ จะมาร่วมกันสรงน้ำ และเปลี่ยนผ้าไตรจีวรให้