ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
ใครๆ ก็คงสังเกตเห็นได้ว่า “อารมณ์ขัน” ประเภทต่างๆ นั้น เหลือที่ทางลดน้อยลงในสื่อบันเทิงกระแสหลักของสังคมไทย
หลายทศวรรษก่อน เคยเป็นยุครุ่งเรืองของ “ตลกคาเฟ่” ซึ่งค่อยๆ ขยับขยายมามีอิทธิพลในวงการโทรทัศน์ ก่อนจะข้ามไปสานต่อความสำเร็จในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
แต่ยุครุ่งเรืองดังกล่าวก็ผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งเพราะการแก่ตัวลงของนักแสดงตลกจำนวนมาก ขณะเดียวกัน วิธีการเล่นมุขแบบสองแง่สองง่าม ตลกเจ็บตัว หรือการล้อเลียนเหยียดหยามบุคลิกลักษณะส่วนบุคคล ก็กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ในค่านิยม-วัฒนธรรมของสังคมโลกสมัยใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็น “ความถูกต้องทางการเมือง” อย่างสูง
ดูเหมือนจะเหลือแค่ “แจ๊ส ชวนชื่น” และมิตรสหายกลุ่มหนึ่งของเขาเท่านั้น ที่ยังพอมีตำแหน่งแห่งที่ในสื่อบันเทิงกระแสหลักยุคปัจจุบัน
ทว่า “รายการตลกแบบแจ๊ส” ก็มีสถานะเป็นเหมือน “วัฒนธรรมย่อย” ที่มิใช่ “กระแสใหญ่” ใน “วัฒนธรรมกระแสหลัก” อีกต่อไป
โดยส่วนตัว เป็นคนที่ตามดู “ละครพื้นบ้านจักรๆ วงศ์ๆ” ที่ผลิตโดยบริษัทสามเศียร และแพร่ภาพทางช่อง 7 อยู่บ้างตามสมควร
ด้วยฐานคิดที่ว่า ถ้าอยากจะเข้าใจสังคมไทย ก็ต้องเข้าใจความบันเทิงซึ่ง (เคย) เป็นที่นิยมของมหาชนคนจำนวนมาก
ละครหมวดหมู่หนึ่งที่ทางบริษัทสามเศียรทำได้ดีเสมอมา ก็คือ ละครพื้นบ้านจักรๆ วงศ์ๆ แนวตลกขบขัน ซึ่งมีแก่นเรื่องว่าด้วยการที่ “ผู้น้อย” สถานะต้อยต่ำ อำ ล้อเลียน เล่นหัวใส่ “ผู้มีอำนาจ” โดยปราศจากความเกรงกลัว
ที่อาจเรียกรวมๆ ได้ว่าเป็น “ละครพื้นบ้านจักรๆ วงศ์ๆ แนวหัวร่อต่ออำนาจ” โดยมี “แก้วหน้าม้า” และ “สังข์ทอง” (ช่วง “เจ้าเงาะ” ป่วนท้าวสามนต์และหกเขย) เป็นตัวอย่างชั้นเลิศ
น่าสนใจว่า อารมณ์ขันแนวนี้เคย “เวิร์ก” และลงตัวมากๆ ในยุคที่ผู้อาวุโสและศิลปินแห่งชาติอย่าง “ไพรัช สังวริบุตร” ยังเป็นแกนหลักในการผลิตละครจริงๆ พร้อมมีคนเขียนบทที่รู้ทาง-รู้ใจกัน เช่น “รัมภา ภิรัมย์ภักดี” และ “นันทนา วีระชน” ผนวกด้วยการมีนักแสดงสมทบรุ่นเก๋าๆ มาคอยประคับประคองรับส่งมุขให้ดารารุ่นใหม่ๆ
แต่อารมณ์ขันแบบ “หัวร่อต่ออำนาจ” ก็ขาดหายจากละครพื้นบ้านๆ จักรๆ วงศ์ๆ มานานหลายปีแล้ว
ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะทางผู้ผลิตละครพยายามระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ในท่ามกลางบริบทของสังคมการเมืองไทยที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว
หรือเป็นเพราะทั้งบุคลากรเบื้องหลังรุ่นถัดมาและนักแสดงรุ่นใหม่ ต่างไม่เข้าใจถึงนัยยะสำคัญและบทบาทหน้าที่ทางสังคมของอารมณ์ขันประเภทนี้

เอาเข้าจริงแล้ว การแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของ “โน้ส-อุดม แต้พานิช” ถือเป็นอารมณ์ขันอีกแนวทาง ที่สามารถยืนหยัดอยู่ในความบันเทิงกระแสหลักได้อย่างยาวนานจนน่าทึ่ง
การหันมาใช้ “เน็ตฟลิกซ์” เป็นฐานที่มั่นหลัก ยิ่งแสดงให้เห็นว่างาน “เดี่ยวของโน้ส” สามารถปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ได้ดี
การโยนมุขตลกบางมุขออกไป แล้วได้รับทั้งเสียงหัวเราะเฮฮาชอบใจ เสียงวิพากษ์วิจารณ์เห็นต่าง และความโกรธแค้นเดือดดาล จากทั้งคนธรรมดาและคนสำคัญในสังคม ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า “อารมณ์ขันของโน้ส” ยังมีพลังสูง
และนี่อาจเป็นป้อมปราการด่านท้ายๆ ของการมีอารมณ์ขันในสังคมไทย
ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าจะมีทั้งคนที่ “ตลก” และ “ไม่ตลก” กับมุขของโน้ส อุดม
แต่จะเป็นสถานการณ์แปลกประหลาดและผิดปกติมาก หากมีใครพยายามจะทำให้ “อารมณ์ขันชนิดท้ายๆ” ที่ยังดำรงอยู่อย่างมั่นคง ต้องเงียบเสียงลงและปลาสนาการไป
เพราะนั่นหมายความว่า “รูระบายความตึงเครียด” ทางสังคมจะถูกปิดตายไปอีกหนึ่งช่องทาง
ส่วน “เวทีตลก” ซึ่งผู้มีอำนาจทั้งในภาครัฐและสังคมสามารถกระโจนเข้าไปร่วม “เล่นเกม” บางอย่างได้ ก็จะถูกทุบทำลายลงอีกหนึ่งเวที
ถ้าหากอารมณ์ขันหายไปอย่างสิ้นเชิงในวัฒนธรรม-อุตสาหกรรมบันเทิงกระแสหลัก
ฐานที่มั่นท้ายสุดจริงๆ ของมุขตลกต่างๆ นานาในสังคมไทย ก็จะได้แก่โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ติ๊กต็อก” ซึ่งเป็นแหล่งรวมคลิปวิดีโอขนาดสั้นจำนวนมหาศาล
โดยมีชาวบ้านสามัญชนคนธรรมดาเป็นทั้งผู้เล่นและผู้ชมสำคัญ
อารมณ์ขันลักษณะนี้จะแพร่กระจายไปได้ไว ลงรากลึกและหลากหลาย อีกทั้งกำหนดควบคุมได้ยาก
คนมีอำนาจอาจไม่มีความสามารถแม้กระทั่งจะสร้างบทสนทนากับมุขตลกที่เกิดขึ้นและถูกผลิตซ้ำอย่างมากมายไม่รู้จบ (ถ้าไม่เออออห่อหมกตามน้ำไปเนียนๆ ก็ต้องทำเป็นไม่รู้ชี้ไม่พบไม่เห็นไปเลย)
ศักยภาพที่คาดเดาได้ลำบากของอารมณ์ขันประเภทสุดท้ายนี้ จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่ “คุณๆ ท่านๆ” คุมผลการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ได้นั่นแหละ •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022