ในประเทศ / ฟื้นปมนิรโทษ “สุดซอย” จ่อ “ล้างบาง” พรรค พท. หลัง ส.ส.อีสานประกาศ ยืนหยัด เคียงบ่าเคียงไหล่

ในประเทศ

ฟื้นปมนิรโทษ “สุดซอย”

จ่อ “ล้างบาง” พรรค พท.

หลัง ส.ส.อีสานประกาศ

ยืนหยัด เคียงบ่าเคียงไหล่

สถานการณ์การเมืองปีแห่งการเลือกตั้งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผู้ประกาศเปิดตัวเป็น “นักการเมือง” โดยไม่ปิดประตูการเป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ตกเป็นเป้าถูกฝ่ายตรงข้ามวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ถึงการเดินสายลงพื้นที่พบปะประชาชนหลายจังหวัด การเบิกจ่ายงบประมาณหลักแสนล้านบาท เติมลงนโยบายและโครงการต่างๆ ของรัฐบาล คสช.

การเคลื่อนไหวพบปะแกนนำกลุ่มการเมืองในพื้นที่ทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิด ซึ่งมีภาพประกอบข่าวให้ได้ยินเป็นระยะๆ

เช่นเดียวกับข่าวการ “ดูด” อดีต ส.ส. และนักการเมือง เข้าไปเป็น “กองหนุนใหม่” แทนกองหนุนเก่าที่เริ่มอ่อนแรง

ขณะที่แผน “แยกสลาย” พรรคการเมืองยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผ่านองค์กรตรวจสอบอิสระ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.

บางเรื่องมีการไต่สวนกันมายาวนานหลายปีแต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

บางเรื่องกระบวนการไต่สวนได้ถูกปล่อยทิ้งไว้นาน กระทั่งถึงจังหวะได้เสียทางการเมืองสำคัญ ในสถานการณ์ใกล้มีการเลือกตั้ง คดีความค้างคาเหล่านี้จึงถูกขุดขึ้นมาอีกครั้ง

เป็น “ไพ่ตาย” ขุดรากถอนโคนฝ่ายตรงข้าม

ไม่กี่วันภายหลังการเคลื่อนไหวของนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนอดีต ส.ส.อีสานทั้งหมดของพรรค

เดินทางเข้าอวยพรปีใหม่ผู้ใหญ่และแกนนำพรรค อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ นายภูมิธรรม เวชยชัย นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายชัยเกษม นิติศิริ พร้อมประกาศให้คำมั่น

อดีต ส.ส.อีสานกว่า 100 ชีวิตจะยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่กับหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคเพื่อไทยต่อไป ตามบทกลอนที่ว่า

“ชีวิตนี้ให้ใครไม่ได้แล้ว จะผ่องแผ้วมืดมิดไม่คิดหนี ขอมอบให้เพื่อไทยทั้งชีวี จะสิ้นลมตรงนี้ก็ยอมตาย”

เป็นนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยออกมาระบุ

กระแสข่าวคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ชุดตรวจสอบการทำหน้าที่ของอดีต ส.ส. 40 คนร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเมื่อปี 2556 ที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานอนุกรรมการ

เตรียมมีมติชี้มูลความผิดอดีต ส.ส. ทั้ง 40 คนแล้วส่งเรื่องให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน พิจารณาในเร็วๆ นี้

ที่พาดพิงไปถึงนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ แกนนำ ส.ส.อีสาน ก็เนื่องจากนายประยุทธ์เคยเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลักดันร่างกฎหมาย

นิรโทษกรรม “ฉบับสุดซอย”

นำมาสู่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของกลุ่ม กปปส. จนทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องตัดสินใจประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่กลุ่ม กปปส. ไม่ยอมจบ ยังคงชุมนุมต่อเนื่อง

กระทั่งเกิดรัฐประหารโดย คสช. ในที่สุด

กรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยในมือของ ป.ป.ช. สอดรับกับสิ่งที่นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี 1 ใน 40 อดีต ส.ส. ดังกล่าวรับรู้มา ก็คือ

“ทราบข่าวภายในมาว่าจะมีการลงมติชี้มูลความผิดเรื่องดังกล่าว โดยอนุกรรมการ ป.ป.ช. จะลงมติภายในเดือนมกราคมนี้ และจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์”

และว่า

หากเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง พวกตนจะขอเข้าพบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่เพื่อขอความเป็นธรรมและชี้แจงด้วยตัวเอง เพื่อยืนยันว่าการเสนอกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร มีเอกสิทธิ์คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญปี 2550 อีกทั้งกระบวนการการออกกฎหมายมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลกันอยู่แล้ว

ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจหน้าที่ก้าวล่วง

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ปฏิเสธข่าวการเตรียมชี้มูลดังกล่าวว่า ยังไม่ทราบความคืบหน้าเรื่องนี้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของคณะอนุกรรมการไต่สวน

คาดว่าความคืบหน้าคงยังไม่ถึงขึ้นใกล้สรุปสำนวนการไต่สวนในเร็วๆ นี้ คงต้องใช้เวลาอีกระยะเพราะคณะอนุกรรมการยังไม่แจ้งต่อที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. ว่าคดีใกล้เสร็จแล้ว

พร้อมยืนยันการดำเนินการทุกอย่างของ ป.ป.ช. เป็นไปตามข้อมูลพยานหลักฐาน

ไม่มีแผน “ล้างบาง” ฝ่ายใด หรือเพื่อ “สืบทอด” อำนาจให้ใคร

ทั้งนี้ น่าจะเป็นการตอบโต้นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ว่า

คดีดังกล่าวเป็นการพิสูจน์ข้อครหา ที่มาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ เอนเอียง นักการเมืองและพรรคฝ่ายตรงข้ามถูกตรวจสอบอย่างเอาเป็นเอาตาย

จงใจ “ล้างบาง” พรรคเพื่อไทย

ในสถานการณ์ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง

กรณีผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยเมื่อปี 2556 คือสาเหตุทำให้ 40 อดีต ส.ส. ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคนของพรรคเพื่อไทย ตกเป็นเป้าหมายล้างบางทางการเมือง

ยังมีกรณีคล้ายกัน เพียงเป้าหมายอยู่ที่ “อดีตรัฐมนตรี” ไม่ใช่อดีต ส.ส.

คือการที่ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการพิจารณาชี้มูล ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรัฐมนตรีรวม 34 คน

ร่วมกันมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 และเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 เห็นชอบให้ใช้งบฯ กลาง 1.9 พันล้านบาท เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2548-2553 โดยไม่มีอำนาจและกฎหมายรองรับ

เคยตกเป็นข่าว ป.ป.ช. เตรียมชี้มูลความผิดช่วงเดือนกันยายน 2560 แต่ก็เงียบหายไป

“เป็นเพราะใกล้จะเลือกตั้งหรือไม่ ถึงมีความพยายามกลั่นแกล้งนักการเมืองอีกฝ่าย อยากให้คณะอนุกรรมการพิจารณาคดีไปตามเนื้อผ้า ประเทศขัดแย้งมามากพอแล้ว ดังนั้น อย่ามีอคติและอย่าให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมือง” นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลฯ กล่าว

ล่าสุด ป.ป.ช. ยังได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายวิรัช รัตนเศรษฐ อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย พร้อมข้าราชการ เอกชน นักการเมืองท้องถิ่น รวมเกือบ 30 คน

กรณีถูกกล่าวหาทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล

อย่างไรก็ตาม “ไพ่” ในมือผู้มีอำนาจไม่ได้มีแต่เฉพาะไว้เล่นงานอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยและ นปช.

เพราะอย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม. ก็โดนมาแล้วในคดีชุมนุมปิดสนามบินปี 2551

ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ใช่ว่าจะปลอดโปร่ง

ไม่ว่าคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปี 2553 รวมถึงคดีกบฏ “กปปส.” ก็มีชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญ

กระนั้นเมื่อถึงเวลาจริง สำหรับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่น่าเป็นห่วงเพราะมีข้อได้เปรียบในจุดยืน ประกาศตัวสนับสนุนหัวหน้า คสช. อย่างแข็งขัน

จะห่วงแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่นับวันยิ่งออกมาให้สัมภาษณ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. รุนแรงมากขึ้นๆ ทั้งเรื่องคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 นายกฯ คนนอก นาฬิกาหรู ประชาธิปไตยไทยนิยม ฯลฯ

รวมถึงการที่นายชวน หลีกภัย ระบุว่า “ยังไม่แน่” กับความเป็นไปได้ กรณีมีผู้เสนอให้พรรคประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคเพื่อไทย ร่วมสกัดนายกฯ “คนนอก”

และไม่หวั่นหากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะแยกตัวไปตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่

ท่าทีดังกล่าวชวนให้น่าหวาดเสียวว่า “ไพ่” ในมือ คสช. อาจถูกทิ้งลงมาสั่งสอนพรรคเก่าแก่ในช่วงใกล้เลือกตั้ง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงขะมักเขม้นในการประชุม ครม.สัญจร เดินสายลงพื้นที่พบประชาชน

“เปิดดีล” พูดคุยแกนนำนักการเมืองในพื้นที่ตั้งแต่สุพรรณบุรี สุโขทัย นครปฐม และชลบุรี

กรณี 40 อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จึงถูกมองว่าเป็นการนำเรื่องของคดีความ มาเป็นเกมต่อรองในช่วงเปลี่ยนผ่านการเมือง จะได้ผลหรือไม่อย่างไร

ก่อนเดือนพฤศจิกายน คงได้รู้กัน