เปิดใจ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ทำไมต้องชวนคนไป ‘เสียสละ’? ในสนาม ‘เลือก ส.ว.’

เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

เปิดใจ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’

ทำไมต้องชวนคนไป ‘เสียสละ’?

ในสนาม ‘เลือก ส.ว.’

 

หมายเหตุ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์สื่อเครือมติชน ว่าด้วยเรื่องกระบวนการเลือก ส.ว. ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้

 

: การเลือก ส.ว. สำคัญอย่างไร?

นี่คือ “โอกาสครั้งสำคัญ” ของประเทศ ต้องบอกก่อนว่าผมได้เดินทางไปรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนเข้าใจถึงการเลือก ส.ว.ในหลายจังหวัด สิ่งที่ผมตกใจมากก็คือประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีการเลือก ส.ว. หนึ่ง สอง ต่อให้รู้แล้ว ก็ไม่รู้ว่า ส.ว.สำคัญอย่างไรกับชีวิตของพวกเขา ส.ว.สำคัญอย่างไรต่อทิศทางการพัฒนาการเมืองไทย

เราก็ตกใจว่านี่คือสมาชิกวุฒิสภานะ แต่การตื่นตัวทางการเมืองของคนไทยจำนวนมากน้อยเหลือเกินในประเด็นนี้

ดังนั้น ก็คิดว่าคงเป็นหน้าที่ที่พวกเราจะต้องช่วยกันให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญ ตอบคำถามก็คือสำคัญอย่างไร? ผมคิดว่านี่คือโอกาส นี่คือจุดเริ่มต้นที่จะแก้ปมที่มันพันกันอยู่

ปมนี้คืออะไร? มีพรรคการเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตยตั้งขึ้นมา นักการเมืองของพรรคนั้นก็ถูกตัดสิทธิ พรรคก็ถูกยุบ ครั้นจะไปแก้ที่มาขององค์กรอิสระก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ไม่ได้ ถ้าไม่มีหนึ่งในสามของ ส.ว. ถ้าไม่สนใจการเลือก ส.ว. ที่เป็นจุดเริ่มต้น กลไกต่างๆ นี้ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

จำได้ไหมครับ? ความขัดแย้งทางการเมืองสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีคำพูดอยู่หนึ่งคำที่ใช้นิยามที่มาของความขัดแย้งนี้ นั่นก็คือคำว่า “สองมาตรฐาน”

สองฝ่ายปฏิบัติเหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งที่สนับสนุนผู้มีอำนาจ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ต่อต้านผู้มีอำนาจ ปฏิบัติเหมือนกัน แต่กลับถูกดำเนินการทางกฎหมายแตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งทำอะไรถูกเสมอ อีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรผิดเสมอ จนทำให้ประชาชนจำนวนมากหมดศรัทธาและไม่เชื่อในการเมืองแบบรัฐสภา

ผลคืออะไร? ผลคือการลงถนน ถูกไหมครับ นี่คือที่มาของความขัดแย้งสิบกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้น ถ้าเราอยากทำให้คนไทยปรองดองกัน สมานฉันท์กัน ต้องเริ่มที่ไหน? ต้องเริ่มที่การคืนความยุติธรรม ต้องเริ่มที่ยุติการดำเนินการแบบสองมาตรฐาน เอาความเป็นธรรม ความยุติธรรม คืนให้กับการเมืองไทย เมื่อทำอย่างนี้ได้จะเป็นจุดเริ่มต้น

แต่จะทำอย่างนี้ได้ ต้องทำที่ไหน? ต้องทำที่องค์กรอิสระต่างๆ ที่ถือดาบอาญาสิทธิ์พวกนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น กกต. ที่เป็นคนยื่นคำร้องยุบพรรค ป.ป.ช. ที่มีอำนาจในการตัดสินนักการเมือง ต้องเริ่มที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจในการยุบพรรคการเมือง

คำถามคือประชาชนจะเข้าไปกำกับดูแลองค์กรแบบนี้ได้อย่างไร? ทางตรงไม่ได้ ทางอ้อม ผ่านการเลือก ส.ว. นี่ไงครับ เพราะ ส.ว.เป็นคนแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระเหล่านี้

7 ใน 9 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, 5 ใน 9 ของ ป.ป.ช., 5 ใน 7 ของ กกต., กสทช. แทบจะทั้งชุด จะถูกคัดเลือกด้วย ส.ว.ชุดต่อไป ที่ผมพูดมาทั้งหมด มากกว่ากึ่งหนึ่งทั้งนั้นเลย มากกว่าครึ่งของกรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ เหล่านี้ทั้งนั้น

นี่คือการเลือก ส.ว. ที่จะเป็นโอกาสให้เรานำ “ความปกติทางการเมือง” กลับมาสู่สังคมไทย ถ้าฝ่ายที่มีอำนาจไม่มีอาญาสิทธิ์พวกนี้เมื่อไหร่ มันจะทำให้การเมืองรัฐสภาเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น เกิดการทำงานร่วมกันมากขึ้น

เพราะอะไร? เพราะไม่มีใครมีอำนาจพิเศษ เพราะการที่กลุ่มหนึ่งมีอำนาจพิเศษ ทำให้มันมีอำนาจต่อรองสูงกว่าเสมอ ในการเมืองที่เป็นจริง

แต่ถ้าไม่มีอำนาจพิเศษพวกนี้ ถ้า ส.ว.เป็นกลาง แต่งตั้งคนดี คนที่มีคุณสมบัติ เข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ องค์กรอิสระทำหน้าที่ตัดสินวินิจฉัยพิพากษาคดีต่างๆ อย่างเป็นธรรม ไม่ให้คุณไม่ให้โทษใคร การเมืองแบบรัฐสภาจะเดินหน้าไปไกลกว่านี้อีกเยอะเลย เพราะมันจะทำให้ทุกคนมีอำนาจเท่าเทียมกันในสภา

ผมคิดว่านี่คือเรื่องที่สำคัญมากของสังคมไทย ถ้าเราอยากจะออกจากความขัดแย้ง อยากจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

การเลือก ส.ว.ชุดนี้ จึงสำคัญครับ

: แต่คนที่อยากลงสมัคร ก็อาจคิดเรื่องต้องเสียค่าใช้จ่าย 2,500 บาท แถมยังต้องเจอกฎกติกาต่างๆ ที่ยุ่งยากอีก

ถูกต้อง ผมพูดให้คนหมดหวังก่อน ผมคิดว่าเรากำลังเรียกร้องกับประชาชนมากเหลือเกิน

คือหนึ่ง คุณต้องมี 2,500 บาท สอง คุณต้องพร้อม “เสียสละ” ไปลงสมัคร ไปในวันเลือก ส.ว.จริง ถ้าคุณผ่านรอบอำเภอ คุณต้องไปที่ศาลากลางนะ ซึ่งถ้าคุณอยู่อำเภอห่างไกล มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางแน่นอน คุณผ่านรอบจังหวัด คุณไปรอบประเทศ คุณต้องเสียตังค์ค่าเดินทางมากรุงเทพฯ

มันไม่เหมือนการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คูหาอยู่หน้าบ้าน นี่คูหาที่ใกล้ที่สุดก็อยู่ที่ทำการอำเภอแล้ว ผ่านไป คุณต้องไปที่ศาลากลาง ผ่านระดับจังหวัดคุณต้องไปที่กรุงเทพฯ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายเป็นหมื่นแน่นอน รวมทั้งหมด รวมเวลาที่เสียไปด้วย เรากำลังเรียกร้องกับประชาชนมากเหลือเกิน ที่บอกให้ทุกคนไปลงสมัคร ส.ว.

แต่คิดกลับ ถ้าใครที่มีอายุเกิน 40 ปี มีคุณสมบัติลง ส.ว.ได้ และมีศักยภาพที่พอจะจ่าย 2,500 บาทได้ จะไม่ลองสักหน่อยเหรอครับ? ในการลงทุนสำหรับอนาคตประเทศ

ไม่มีใครรู้หรอกว่าวันนี้จะมีคนสมัครเท่าไหร่ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้า 2,500 บาท มันไม่ได้มากมายเกินไปสำหรับคุณ แล้วคุณมีคุณสมบัติ คุณไม่ลงทุนกับอนาคตของประเทศดูสักหน่อยเหรอ? ถ้าเกิดเราร่วมไม้ร่วมมือกัน เราอาจมีโอกาสที่จะผลักดันให้คนมีความรู้ความสามารถจริงๆ เข้าไปเป็น ส.ว.ได้

ถ้าเราอยาก มันไม่เหลือทางเลือกอื่น นอกจากลงมือทำ ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ก็คือคนมีศักยภาพต้องลงมือทำ นั่นคือหัวใจในการรณรงค์ของพวกเรา

เราอยากให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการเลือก ส.ว.ในรอบนี้ อยากขอเชิญชวนให้คนที่มีจิตใจรักความเป็นธรรม รักประชาธิปไตย อยากเห็นการเมืองไทยพัฒนา ไปลงสมัคร ส.ว.กัน ยิ่งคนสมัครอิสระเยอะมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่เราจะได้ ส.ว.ที่มีคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น

 

: “กระแสประชาธิปไตย” ในการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีโอกาสส่งมาถึงสนาม ส.ว.บ้างหรือไม่?

“ไม่ง่าย” จริงๆ ในความหมายว่าเราต้องเข้าใจกฎกติกาการเลือก ส.ว.ในรอบนี้

อย่างแรกที่สุด ประชาชนคนไทย 67 ล้านคน ไม่ใช่ทุกคนมีสิทธิเลือก ไม่ใช่ทุกคนมีโอกาสเข้าไปเล่นเกมนี้ 67 ล้านคน เขาตัดเฉพาะคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิลงสมัคร คนลงสมัครถึงมีสิทธิเลือก ดังนั้น คุณตัดไปครึ่งประเทศแล้ว

อายุ 40 ปีขึ้นไป คนเป็นข้าราชการลงไม่ได้อีก คนที่ลงสมัครก็เหลือน้อยกว่านั้น ไอ้ที่เหลือน้อยตรงนี้ต้องมีศักยภาพพร้อมจ่าย 2,500 บาทด้วย

คนที่เข้าไปเล่นเกมนี้จริงๆ มันเหลือน้อยนิดเดียวเอง มันจึงไม่รู้สึกถึง “การส่งต่อพลังประชาธิปไตย” ที่ฮึกเหิมจากปี 2566 ไปถึงการเลือก ส.ว.รอบนี้

ไม่แน่ ผมอาจประเมินผิดก็ได้ แต่จนถึงวันนี้อย่างที่ผมกล่าวข้างต้น ผมคิดว่าประชาชนคนไทยจำนวนมาก ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการเลือก ส.ว. ต่อให้รู้ ก็ไม่รู้สึกว่าเลือกไปแล้วตัวเองจะมีชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร แล้วท้ายที่สุด ก็จะรู้สึกว่ากระบวนการมันยากลำบาก

ไม่รู้จะไปลงทุนลงแรงกับมันทำไม