เมนูข้อมูล : “เศรษฐกิจ” ในมุมต่าง

แม้จะมีคนกลุ่มหนึ่งแสดงความดีอกดีใจมากมายที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลายเรื่องกระเตื้องขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดในช่วงต้นปีนี้ โดยเฉพาะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ขึ้นสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยิ่งปริมาณการซื้อขายทุบสถิติสร้างประวัติศาสตร์ใหม่อีกครั้ง ยิ่งทำให้เสียงสรรเสริญรัฐบาลภายใต้การควบคุมของ คสช. ดังกระหึ่ม

จะเห็นว่ามีการนำเสนอตัวเลขเปรียบเทียการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในแต่ละยุคกันครึกโครม และแน่นอนตามการเยาะเย้ยถากถางคนบางกลุ่มบางอย่างฝ่ายที่ไม่ศรัทธาในระบบที่ไม่ยึดโยงประชาชน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเป็นความปกติของสังคมที่จะมีความเห็นต่าง

ประเทศไทยเรามีบรรยากาศของการเลือกข้างน่าจะยังเข้มข้น

เพราะขณะที่ฝ่ายหนึ่งกระดี้กระด๊าดีอกดีใจกับความรุ่งเรืองของตัวเลขทางเศรษฐกิจบางตัว ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า “นั่นยิ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำ”

ข้อมูลของฝ่ายที่เห็นต่างก็คือ มีแต่ตัวเลขที่เป็นประโยชน์กับคนระดับบนเท่านั้นที่รุ่งเรืองขึ้น สำหรับสภาพเศรษฐกิจที่สะท้อนอาการเริ่ม “ชักหน้าถึงหลัง” ขึ้นมาบ้างของคนส่วนใหญ่ กลับไม่มีให้เห็น

ไม่ว่าการจ้างงานที่มากขึ้น ทั้งเชิงปริมาณและค่าจ้าง ที่สำคัญที่สุดคือ “ราคาพืชผลทางการเกษตร” ที่สะท้อนปากท้องของคนส่วนใหญ่มากที่สุดไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม เสียงบ่นถึงความเดือดร้อนยังดังขรมมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจกลุ่มนี้มองว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับคนระดับบนดีขึ้นนั้น ยิ่งชัดเจนว่าการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ถ่างช่องว่างรายได้ หรือ “สร้างความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น”

อย่างที่บอก นั่นเป็นมุมมองที่สะท้อนความเห็นที่แตกต่างชนิดเหมือนไม่มีวันไปในทางเดียวกันได้

ด้วยเหตุนี้เองคำตอบว่าความจริงแท้ของเศรษฐกิจไทยควรชื่นชมยินดีหรือไม่ ย่อมเป็นเรื่องที่สรุปได้ยากเย็นยิ่ง

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลชุดหนึ่งที่หลายคนสามารถใช้อ้างอิงในความเป็นจริงได้ นั่นคือ “ความพอใจของคนส่วนใหญ่ต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไร”

แน่นอน ยอมหมายถึงโพล หรือผลสำรวจ

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ที่ทำขึ้นในช่วงปลายธันวาคม เดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว เรื่อง “การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล” มีผลออกมาว่า

ในคำถาม “ท่านคิดว่ารัฐบาลแก้ปัญหาได้ดีหรือยัง”

การแก้ปัญหาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 16.99 ตอบว่าได้ดีแล้ว, ร้อยละ 45.68 ตอบว่าค่อนข้างดี, ร้อยละ 29.25 ไม่ค่อยดี, ร้อยละ 7.252 ไม่ดีเลย, ร้อยละ 0.56 ไม่แน่ใจ

การลดค่าครองชีพ (ค่าไฟฟ้าฟรี, ค่ารถเมล์ฟรี, ตรึงราคาก๊าซ, ราคาน้ำมัน) ร้อยละ 7.86 ตอบว่าได้ดีแล้ว, ร้อยละ 30.13 ค่อนข้างดี, ร้อยละ 42.80 ยังไม่ค่อยดี, ร้อยละ 17.90 ไม่ดีเลย, ร้อยละ 1.31 ไม่แน่ใจ

การแก้ปัญหาการว่างงาน และพื้นที่ทำกิน ร้อยละ 6.13 ตอบว่าได้ดีแล้ว, ร้อยละ 30.66 ค่อนข้างดี, ร้อยละ 45.51 ยังไม่ค่อยดี, ร้อยละ 18.87 ไม่ดีเลย, ร้อยละ 2.83 ไม่แน่ใจ

การจัดการการเลือกตั้ง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ และความมั่นใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ร้อยละ 6.88 ตอบว่าทำได้ดีแล้ว, ร้อยละ 21.88 ค่อนข้างดี, ร้อยละ 31.25 ยังไม่ค่อยดี, ร้อยละ 38.12 ไม่ดีเลย, ร้อยละ 1.87 ไม่แน่ใจ

การกระจายงานและรายได้ไม่ให้กระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ร้อยละ 4.13 ตอบว่าได้ดีแล้ว, ร้อยละ 37.19 ค่อนข้างดี, ร้อยละ 38.02 ยังไม่ค่อยดี, ร้อยละ 19.83 ไม่ดีเลย, ร้อยละ 0.83 ไม่แน่ใจ

การออกนโยบายสนับสนุนให้คนในประเทศใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ร้อยละ 11.59 ตอบว่าได้ดีแล้ว, ร้อยละ 30.44 ค่อนข้างดี, ร้อยละ 43.48 ยังไม่ค่อยดี, ร้อยละ 14.49 ไม่ดีเลย

การสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติ ร้อยละ 4.17 ตอบว่าได้ดีแล้ว, ร้อยละ 25.00 ค่อนข้างดี, ร้อยละ 35.42 ยังไม่ค่อยดี, ร้อยละ 31.25 ไม่ดีเลย, ร้อยละ 4.16 ไม่แน่ใจ

อื่นๆ เช่น การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตร ร้อยละ 3.77 ตอบว่าได้ดีแล้ว, ร้อยละ 7.55 ค่อนข้างดี, ร้อยละ 7.55 ยังไม่ค่อยดี, ร้อยละ 47.17 ไม่ดีเลย และร้อยละ 33.96 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ

ความรู้สึกของประชาชนที่สะท้อนผ่าน “นิด้าโพล” ย่อมบอกอะไรบางอย่าง

ประชาชนส่วนใหญ่ชื่นชมยินดีกับความเป็นไปทางเศรษฐกิจ เหมือนที่คนกลุ่มหนึ่งปรีดาปราโมทย์หรือไม่ ลองย้อนไปอ่านทวนดู