ยุติสงครามยาเสพติด ว่าด้วย ยาบ้าราคาถูก ไทยจะเป็นเจ้าแรกในโลก?

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2559 ผมไปร่วมงานเปิดประชุมเรื่อง “บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีน อย่างสร้างสรรค์ และนวัตกรรมตามร่างประมวลกฎหมายเสพติด” ของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีชื่องานประชุมเป็นภาษาอังกฤษว่า Integrated Constructive (Meth) amphetamine Control and Innovative Justice in Draft Narcotics Code

(ผมลงแรงเขียนภาษาอังกฤษไว้ด้วย เพราะบางทีคำศัพท์ทางวิชาการใหม่ๆ ในภาษาไทยจำต้องแปล หรือขยายความ อธิบายความ ตีความ และกระชับความ ให้เข้าใจตรงกันโดยถูกต้องดีขึ้น)

ผมสนใจงานนี้เพราะก่อนหน้านี้ได้อ่านข่าว พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมต.กระทรวงยุติธรรม กล่าวบนเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อนำเสนอนโยบายยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ถึงปัญหาคนล้นคุก กฎหมายยาเสพติดมีปัญหา จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้การแก้ปัญหาสามารถเดินหน้าต่อไปได้

พล.อ.ไพบูลย์ เชื่อว่ายาบ้าไม่มีทางที่จะทำให้หมดไปได้ ท่านจึงถามกระทรวงสาธารณสุขว่าจะทำอย่างไรให้ยาบ้าเหลือเม็ดละ 50 สตางค์ คิดได้ให้บอก ท่านจะทำให้ทันที

ซึ่งหมายความว่า กระทรวงยุติธรรมจะเป็นตัวหลักในการแก้กฎหมายยาเสพติด ไม่ถือว่าการผลิตยาเมทแอมเฟตามีนของกระทรวงสาธารณสุขผิดกฎหมาย การซื้อขายหรือแม้กระทั่งการเสพภายใต้การควบคุมก็จะไม่ผิดกฎหมายด้วย

ทั้งนี้ เพื่อ “ตัดวงจรการค้า” ตามภาษาเศรษฐศาสตร์ของ พล.อ.ไพบูลย์ ซึ่งในภาษาชาวบ้านเข้าใจง่ายอย่างพวกผมก็คือ “ผู้ผลิตและผู้ค้าเจ๊งและหมดฤทธิ์”

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงแรมฟอร์จูน ถนนรัชดาภิเษก ผมเข้าใจว่าเป็นการเตรียมการก่อนวลี “ยาบ้าเม็ดละ 50 สตางค์” จะแพร่ออกมา

เป็นการประชุมเสวนาทางวิชาการภายใต้ “สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม” อย่างละเอียดรอบคอบและรอบด้านในประเด็นยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีน

ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่เป็นแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งไทยและต่างประเทศ นักบริหารและนักวิชาการด้านสังคม

ผู้เข้าประชุมได้รับแจกหนังสือเกี่ยวกับ เมทแอมเฟตามีน 7 เล่ม และบทความอ่านเข้าใจง่ายรวมทั้งสำเนาแผ่นสไลด์ประกอบการบรรยายอีก 2-3 ชุด

ผมพลิกดูคร่าวๆ ภายในเวลาอันจำกัดเห็นว่า ทั้งหมดเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับยาเสพติด ปัญหาสุขภาพของผู้เสพ ความพยายามและหนทางเลิกเสพ รวมทั้งผู้ที่จะต้องรับมือกับปัญหาทางสังคมและองค์กรที่ต้องใช้กฎหมายยาสพติด

การประชุมเริ่มตั้งแต่แจงให้เห็นในเบื้องแรกว่าปัญหาอยู่ตรงไหน

อย่างไรก็ตาม ไม่ตรงกับเป้าหมายที่ผมคาดหวังไว้ว่าจะได้เห็น กล่าวคือ ผมมีจินตนาการข้ามช็อตไปถึงไคลแมกซ์ท้ายเรื่องไปเสียก่อนแล้ว

จินตนาการของผมเลยไปถึงจุดที่ปัญหาสารพัดของยาเสพติดเหลือเพียงปัญหาเดียวเท่านั้น คือ “ปัญหาผู้เสพ” เมื่อเราลดราคายาบ้าลงได้

ปัญหาผู้ผลิตและผู้ค้าหมดไป เพราะพวกเขาคงเลิกทำธุรกิจที่เสี่ยงคุกเสี่ยงชีวิตแต่ไม่มีกำไร พวกเขาส่วนหนึ่งที่ยังลังเลหรือคิดสู้จะถูกจับกุมคุมขัง ถูกยึดทรัพย์และถูกดำเนินคดี อีกส่วนหนึ่งอาจจะฆ่ากันเองหรือหนีหายไปจากประเทศของเราไปสู่ประเทศที่ยังไม่ได้แก้ปัญหาหรือแก้ปัญหายังไม่ถูกจุด

เมื่อรัฐมียาเมทแอมเฟตามีนราคาถูกโดยไม่ผิดกฎหมายแล้ว รัฐสามารถวางกฎและระเบียบปฏิบัติต่อผู้เสพ ผู้เสพที่ล้นคุกอยู่จะเปลี่ยนสถานะเป็น “ผู้ป่วย” ที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ป่วยไม่จำเป็นจะต้องถูกคุมขัง

เมื่อผู้เสพเป็นผู้ป่วยแล้ว คุกว่างทันที ราชทัณฑ์หมดปัญหาคนล้นคุก ตำรวจ อัยการ และศาล หมดภาระทำคดียาเสพติดไปโดยปริยาย

การแพร่กระจายอย่างง่ายดายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะยุติ วิธีการที่ผู้ค้าล่อหลอกให้เด็กหรือเยาวชนเสพติดแล้วเอาไปขายต่อเพื่อจะได้รับรางวัลมีเสพต่อนั้นใช้ไม่ได้ผล เพราะผู้เสพติดสามารถไปลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยแล้วซื้อยาราคาถูกภายใต้การควบคุม

ตำรวจจะมีกำลังเหลือพอไปทำงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านอื่น

ปัญหาอาชญากรรมลดน้อยจนไม่เกินกำลังตำรวจ ปัญหาทุริตคอร์รัปชั่นจะบางเบาลงไปด้วยโดยอัตโนมัติ ประเทศจะไม่มีเจ้าพ่อมาบังคับบัญชาและเป็นนายข้าราชการ

ภาพที่สำคัญก็คือ เราจะเหลืองบประมาณที่เกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติดอย่างมหาศาลไว้พัฒนาประเทศ

เมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็น “พระเอก” ในตลาดยาเสพติดปัจจุบันมีลักษณะกลมแบนขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร น้ำหนักเม็ดยาประมาณ 80-100 มิลลิกรัม ราคาอยู่ในระหว่างเม็ดละ 50 ถึง 200 บาท หรือบางครั้งอาจจะสูงถึง 300 บาท ขึ้นกับแหล่งและปริมาณที่ซื้อ ขึ้นกับความเสี่ยง ความยากง่ายในการติดต่อและขนย้าย

ผมมีประสบการณ์เกี่ยวกับยาเสพติดไม่มาก แต่มีข่าวสารและข้อมูลไม่น้อย

สภาวการณ์ในปัจจุบันยาเสพติดในรูปแบบต่างๆ แพร่หลายอย่างมาก นัยว่าเสพได้ง่ายและสะดวกขึ้น มีกลิ่นหอม เป็นสารกระตุ้นชั้นดี ฯลฯ

ถ้าปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อเรื้อรังนานไป ในที่สุดเงินรางวัลจะทำให้เจ้าหน้าที่ร่วมมือกับผู้ผลิตแล้วผลิตเพื่อจับกุมเอารางวัล เช่นเดียวกับที่สรรพสามิตกับตำรวจสมัยก่อนจับเหล้าเถื่อนไม่มีตัวผู้ต้องหานั่นแหละ

พืชเสพติดบางอย่างกำลังจะกลับกลายเป็นยาในความหมายของ “ยา” เช่น กัญชา กระท่อม โคคา เป็นต้น นายตำรวจชายแดนทางใต้ท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ถ้าตรวจกระเป๋าเสื้อตำรวจหรือทหารแนวหน้า 8 ใน 10 คน จะพบพืชพวกนี้ พวกเขาอ้างว่าเพื่อแก้เครียด ทำให้อารมณ์ดี ขยัน ช่วยให้ไม่เหนื่อยและไม่ง่วง

นายตำรวจปราบปรามยาเสพติดกล่าวว่า ในช่วงแรกของโครงการ “ยาบ้าราคาถูก” องค์การเภสัชกรรมยังไม่จำเป็นต้องผลิตเมทแอมเฟตามีน เพียงแต่เอายาของกลางไปตรวจสอบสารพิษเท่านั้น ถ้าไม่มีสารพิษก็จำหน่ายได้เลยทันที

นพ.มนตรี เศรษฐบุตร ผู้เคยเสนอพรรคการเมืองใช้นโยบาย “ยาบ้าราคาถูก” ในปี 2554 โดยให้องค์การเภสัชกรรมผลิตเมทแอมเฟตามีน บอกว่าต้นทุนจริงเม็ดละไม่ถึง 10 สตางค์

ผมใคร่ขอเสนอให้ตั้งราคาไว้ที่ “เม็ดละ 5 บาท” ด้วยเหตุผลเดียวกับที่ตั้งราคา “30 บาทรักษาทุกโรค” นั่นคือ เพื่อให้ผู้ที่จะใช้บริการ “หยุดคิด” สักนิดก่อนซื้อ

หรือถ้าท่านจะยืนยันความหมายของคำว่า “ราคาถูก” ผมก็ขอเป็น “เม็ดละบาทเดียว” (บาทเดียว-ฟังดูราคาถูกพอกันกับห้าสิบสตางค์) ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการซื้อขายและง่ายต่อการจดจำทำบัญชีหรือทำกราฟแสดงสถิติ

ผมตื่นเต้นจนเก็บอาการไม่อยู่… อ่านหัวข้อเอกสารการประชุมแล้วพบว่าเราน่าจะมีความพร้อมเพื่อรองรับนโยบายยาเสพติดราคาถูกและยุติสงครามยาเสติดได้แล้ว หวังว่าไทยจะเป็นชาติแรกในโลกที่รัฐบาลเอาชนะเจ้าพ่อมาเฟียได้สำเร็จ