วิกฤติศตวรรษที่21 : การแข่งขันกับการครองความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจสหรัฐ

โลกหลังสหรัฐ : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (3)

การแข่งขันกับการครองความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจสหรัฐ

การแข่งขัน การช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายอำนาจในโลกสมัยใหม่ เกิดเป็นความปั่นป่วน สงครามใหญ่ พร้อมกับการพัฒนาของระบบทุน

สหรัฐเองกว่าจะขึ้นมาครองความเป็นใหญ่ได้ ก็ต้องทำสงครามปฏิวัติประกาศเอกราชจากอังกฤษ ทำสงครามชิงดินแดนอาณานิคมและอิทธิพลกับสเปนหลายครั้ง และซื้อ “ลุยเซียนา” จากฝรั่งเศส

ต่อมาประกาศทวีปอเมริกาเป็นเขตอิทธิพลของตน แต่มหาอำนาจอย่างอังกฤษก็ท้าทายเป็นระยะ

คล้ายกับจีนที่ประกาศบริเวณทะเลจีนใต้เป็นอาณาเขตของตน แต่สหรัฐก็ส่งเรือรบมาลาดตระเวนอยู่เนืองๆ โดยอ้างสิทธิในการเดินเรือของตน

สหรัฐต้องเผชิญกับการแข่งขันสามด้านใหญ่ด้วยกัน

ด้านแรก จากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ต้องการความเป็นอิสระทางการเมืองและรักษาอำนาจอธิปไตยของตน ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กเหมือนหยดน้ำเล็กๆ แต่เมื่อรวมตัวกันก็กลายเป็น “มหาสาครใหญ่” เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานและตลาดที่มีความสำคัญ ในประเทศเหล่านี้ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษได้แก่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงานหลักในสังคมอุตสาหกรรม มูลค่าสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายกันทั่วโลกเกือบทั้งหมดอยู่ในกลุ่มพลังงาน

ด้านต่อมา ได้แก่ การแข่งขันจากประเทศอุตสาหกรรมด้วยกัน ที่สำคัญได้แก่ประเทศเยอรมนี

ด้านท้ายสุด เป็นการแข่งขันช่วงชิงความเป็นใหญ่จากสหรัฐ โดย แกนจีน-รัสเซีย เป็นการแข่งขันที่มีลักษณะพิเศษ ต่างกับการต่อสู้ระหว่างประเทศมหาอำนาจเดิม ที่เน้นในด้านการชิงพื้นที่ (รวมทรัพยากรและตลาด) และแรงงาน แต่การแข่งขันครั้งนี้เป็นด้านการเงิน จีน-รัสเซียไม่ยอมให้สหรัฐครองความเป็นใหญ่ทางการเงินเหมือนเดิมอีกต่อไป

การแข่งขันโดยเฉพาะในด้านแรกและด้านที่สามมีความดุเดือด ถึงเป็นถึงตาย มีการลงไม้ลงมือด้วยกำลัง ความรุนแรง จนถึงก่อเป็นสงครามลามไปทั่วโลก และขณะนี้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีน-รัสเซีย อย่างน่าใจหาย สำหรับการแข่งขันด้านที่สองระหว่างประเทศอุตสาหกรรมด้วยกัน เพิ่งทวีความรุนแรงไม่นาน นั่นคือหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 นี้เอง ต้องจับตาดูต่อไป

จะกล่าวถึงการแข่งขันเหล่านี้เป็นลำดับไป

การแข่งขันจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน

ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรู้สึกว่าสินค้าของตนเป็นที่ต้องการเพิ่มอย่างไม่สิ้นสุด มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจ โลก แต่กลับไม่มีบทบาทในการกำหนดราคาน้ำมัน การกำหนดราคาตกอยู่ในมือบรรษัทน้ำมันใหญ่สามชาติคือสหรัฐ อังกฤษและฝรั่งเศส กับตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าที่นิวยอร์กและลอนดอน

จึงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน มีเวเนซุเอลาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เพราะประเทศผู้ผลิตน้ำมันใหญ่ในตะวันออกกลางล้วนตกอยู่ในอำนาจของอเมริกา-อังกฤษ ที่สามารถเปลี่ยนระบบปกครองได้ เช่น การก่อรัฐประหารที่อิหร่าน

การรวมพลังนี้ทำให้สามารถต่อรองผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงขึ้น และกดดันให้ราคาน้ำมันดิบสูงตามไปด้วย

มีเหตุการณ์ประลองกำลังใหญ่ 2 ครั้งในทศวรรษ 1970 ที่แสดงว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกประสบชัยชนะ คือ

(1) กรณีงดส่งน้ำมันแก่สหรัฐและพันธมิตรของกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันอาหรับในปี 1973

และ (2) การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านปี 1979 ที่มีการยึดกิจการน้ำมันเป็นของรัฐบาล แต่สหรัฐก็ได้ตอบโต้อย่างไม่ละลด เริ่มตั้งแต่การแซงก์ชั่นปิดล้อมอิหร่านอย่างหนาแน่นจนถึงปัจจุบัน

ทำสงครามอ่าวครั้งที่หนึ่งกับอิรัก (1990) เพื่อแสดงว่าสหรัฐจะไม่ยอมให้ชาติใดมีอิทธิพลเหนือประเทศที่มีน้ำมันสมบูรณ์ในตะวันออกกลาง

หลังเหตุการณ์วินาศกรรมเวิลด์เทรดปี 2001 สหรัฐได้ฉวยโอกาสนี้ก่อสงครามใหญ่หวังยึดครองมหาตะวันออกกลางทั้งหมดอย่างถาวร

แต่กลับติดหล่มสงครามที่นั่น มีค่าใช้จ่ายคิดเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ และก็ไม่รู้ว่าจะสามารถหลุดพ้นไปได้เมื่อใด

ความหวังที่จะใช้น้ำมันอิรักเพื่อบูรณะประเทศอิรักก็ไม่เป็นผล

และจีนเป็นผู้ได้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันรายใหญ่ไป

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายทั่วโลก คล้ายกับว่าสหรัฐเหนือกว่า เป็นฝ่ายรุกและผู้กระทำ เป็นผู้สร้างสถานการณ์ ล้มระบบที่โน่นที่นี่ไม่ได้ขาด

แต่เมื่อดูภาพใหญ่แล้ว กลายเป็นว่าสหรัฐเป็นผู้เพลี่ยงพล้ำ สงครามเวียดนามเป็นแห่งแรก

สงครามมหาตะวันออกกลางเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ปลดเขี้ยวเล็บของสหรัฐ ประเทศกำลังพัฒนาเป็นเหมือนแจ๊กผู้ฆ่ายักษ์ แต่เป็นแจ๊กหลายคน และในหลายคนนั้นมีบาดแผลสงครามบอบช้ำมาจนถึงทุกวันนี้

ถ้าไม่เป็นเพราะการต่อสู้อย่างทรหดของประเทศกำลังพัฒนา จีนคงไม่สามารถรุ่งเรืองได้เร็วถึงปานนี้

การเข้าแทรกแซงในตะวันออกกลาง ยังทำให้ทุนทางการเมืองสหรัฐหดหายไปด้วย

เช่น เมื่อสหรัฐประกาศโดยลำพัง รับรองเยรูซาเลมเป็นนครหลวงของอิสราเอล และจะย้ายสถานทูตของตนไปเมืองนี้ ได้มีบางประเทศยื่นญัตติต่อที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ เพื่อให้ลงมติว่าการกระทำของสหรัฐดังกล่าว “ไม่เป็นผลและเป็นโมฆะ”

ผลการลงคะแนน ปรากฏว่าที่เห็นด้วยกับญัตตินี้มีถึง 128 ประเทศ ในนี้รวมถึงพันธมิตรของสหรัฐ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอินเดียที่เข้าไปสนิทสนมด้วยในภายหลัง

ส่วนประเทศที่เห็นด้วยกับการกระทำของสหรัฐมีเพียง 9 ประเทศ ที่งดออกเสียง 35 ประเทศ แคนาดาและออสเตรเลียที่ติดตามสหรัฐไปทุกหนแห่ง ก็งดออกเสียงด้วย

ที่น่าสนใจคือ ละตินอเมริกาที่สหรัฐถือว่าเป็นสนามหลังบ้านของตน มีประเทศที่ลงคะแนนเห็นด้วยกับสหรัฐเพียงสองประเทศคือ กัวเตมาลา และฮอนดูรัส

ผลการลงคะแนนดังกล่าว แสดงว่านโนบายต่างประเทศของสหรัฐต้องมีข้อบกพร่องสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่เรื่องนี้ต้องให้ชนชั้นนำสหรัฐรู้เอาเอง คนอื่นบอกย่อมไม่เกิดผลอะไร

นางสาวนิกกี เฮลลีย์ ทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า การลงคะแนนี้เป็นการแสดงความไม่เคารพต่อสหรัฐ และประธานาธิบดีทรัมป์คุกคามว่าจะตัดเงินช่วยเหลือแก่ประเทศที่ลงคะแนนต่อต้านเขา

การแข่งขันจากประเทศอุตสาหกรรม-เยอรมนี

ประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ที่แพ้สงครามและถูกสหรัฐยึดครองจนถึงปัจจุบัน คือ เยอรมนีและญี่ปุ่น ได้ลงแรงอย่างหนักเพื่อฟื้นอุตสาหกรรมของตน จนกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง สามารถส่งออกสินค้าแข่งกับของสหรัฐ การฟื้นอุตสาหกรรมใหม่ในทั้งสองประเทศ มีทั้งข้อเสียเปรียบและข้อได้เปรียบ

ข้อเสียเปรียบได้แก่โรงงานอุตสาหกรรมถูกทำลายอย่างย่อยยับ ต้องลงทุนลงแรงมาก

A picture taken on November 17, 2017 shows the logo of German car maker Volkswagen (VW) on the facade of the main administrative building of the Volkswagen brand at VW plant in Wolfsburg, central Germany. / AFP PHOTO / dpa / Peter Steffen / Germany OUT

จุดได้เปรียบคือสามารถสร้างโรงงานที่ทันสมัยใหม่ รับแนวคิดการบริหารสมัยใหม่ได้ง่ายกว่า เช่น ระบบควบคุมคุณภาพครบวงจร (QQC) ที่กล่าวกันว่าคิดขึ้นในสหรัฐ แต่ญี่ปุ่นสามารถรับมาปฏิบัติใช้อย่างแนบเนียนและแพร่หลายกว่าในสหรัฐเอง

ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งได้แก่อุตสาหกรรมของเยอรมนีและญี่ปุ่นรุ่งเรืองขึ้นในร่มธงและการป้องกันจากสหรัฐ ไม่ต้องวอกแวกไปใช้จ่ายทางการทหารและสงคราม

ภาระนี้เป็นสิ่งที่สหรัฐเข้ามาแบกรับเอง เพราะไม่ต้องการให้เยอรมนีและญี่ปุ่นฟื้นลัทธิทหารขึ้นมาอีก ขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้ทั้งสองประเทศกลายเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ด้วย นับว่ามีผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นแบบชนะ-ชนะทั้งสองฝ่าย

การรุ่งเรืองของเยอรมนีเป็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษ เมื่อสามารถรวมกับเยอรมนีตะวันออกได้แล้ว ก็ได้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจของยุโรปตะวันตก

เมื่อถึงปี 1999 ก็ได้ผลักดันให้ใช้เงินตราสกุลยูโรขึ้น และได้กลายเป็นเงินตราที่ใช้ในการค้าและการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศมากที่สุด เป็นรองแต่เงินดอลลาร์ของสหรัฐ ซึ่งเป็นการขึ้นมาแข่งขันอยู่ในตัว ทำให้ประเทศต่างๆ มีทางเลือกทางการเงินมากขึ้น

และทำให้การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจของสหรัฐมีพลังลดลง โดยเฉพาะหากสหภาพยุโรปไม่ร่วมมือด้วย

เหตุวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ที่เริ่มต้นในสหรัฐปี 2008 ได้ทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนไป เพราะมันแสดงว่าสหรัฐหมดความสามารถในการแสดงตนเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกได้เหมือนเดิมแล้ว

ประเทศต่างๆ รวมทั้งในยุโรปต้องหาทางออกเฉพาะของตน

เมื่อถึงต้นปี 2010 วิกฤติลามสู่หลายประเทศเขตสกุลเงินยูโรได้แก่ กรีซ โปรตุเกส สเปน และอิตาลี เป็นต้น ดังนั้น ต้องจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง

รัฐบาลเยอรมนีได้เสนอฐานงานอุตสาหกรรม 4.0 ขึ้น ในงานแสดงสินค้าที่เมืองฮันโนเวอร์ ในปี 2011 เพื่อชี้ทางออกสำคัญการอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของตะวันตก แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่”

“อุตสาหกรรม 4.0” ของเยอรมนี จึงกลายเป็นคู่แข่งกับแผนงานของสหรัฐ ที่มีคำขวัญว่า “อเมริกาเหนือชาติ ใด” และ “อเมริกาต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” โดยไม่ได้เจตนา “อุตสาหกรรม 4.0” ของเยอรมนีมุ่งการมองไปข้างหน้า ขับเคลื่อนกระบวนโลกาภิวัตน์ ทำให้เศรษฐกิจโลกเชื่อมประสานเป็นเศรษฐกิจเครือข่ายมากขึ้น

ขณะที่วิสัยทัศน์ของสหรัฐมีลักษณะมองย้อนหลังถึงความยิ่งใหญ่และความเหนือกว่าชาติใดของสหรัฐในอดีต คล้ายกับขับรถยนต์โดยมองแต่กระจกหลัง ไม่ได้สนใจว่าจะขับโดนใครหรือทับสิ่งใดที่อยู่ข้างหน้า

German Vice Chancellor, Economy and Energy Minister Sigmar Gabriel gives a speech at the “Leaders Dialogue – Industry 4-0 Made in Germany” during the launch of the “Industry 4-0” platform at the Hannover Messe industrial trade fair in Hanover, central Germany on April 14, 2015. India is the partner country of this year’s trade fair running until April 17, 2015. AFP PHOTO / DPA / OLE SPATA +++ GERMANY OUT / AFP PHOTO / DPA / Ole Spata

บางประการเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 ของเยอรมนี

“อุตสาหกรรม 4.0” ของเยอรมนีเป็นทั้งวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติให้เป็นจริง เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้ตั้งมั่นในเยอรมนีโดยลำดับและแพร่หลายออกไป ในการประชุมประจำปี 2016 ของ “เวทีเศรษฐกิจโลก” ของมหาเศรษฐีโลก ได้กำหนดแก่นเรื่องของการประชุมว่า “เรียนรู้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่”

“อุตสาหกรรม 4.0” (และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่) กล่าวอย่างคร่าวๆ ได้แก่

ก) มีพัฒนาการดังนี้คือ

(ก) อุตสาหกรรม 1.0 เป็นเรื่องของเครื่องจักรและพลังไอน้ำ

(ข) อุตสาหกรรม 2.0 เป็นเรื่องของไฟฟ้าและเครื่องไฟฟ้า

(ค) อุตสาหกรรม 3.0 เป็นเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตแบบอัตโนมัติและอินเตอร์เน็ต

(ง) อุตสาหกรรม 4.0 เป็นการรวมเอาอุตสาหกรรมขั้นก่อนหน้าทั้งหมด โดยเฉพาะขั้นที่สามเข้าไว้ด้วยกัน เกิด “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” (Internet of Things) หรือทุกสิ่งที่ติดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สามารถต่อเชื่อมกันได้ทั้งหมด เป็นการรวมเทคโนโลยีข่าวสารกับเทคโนโลยีปฏิบัติการ (IT & OT) เข้าด้วยกัน สร้างระบบไซเบอร์-กายภาพ (Cyber-physical System) รวมทั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ส่งผลต่อการผลิต การจัดระบบโรงงานอุตสาหกรรม เกิดโรงงานฉลาด การปฏิวัติการค้า และการตลาด ไปจนถึงทั่วทั้งสังคม

ข) อุตสาหกรรม 4.0 จะก่อผลดีดังนี้คือ (ในผลดีก็มีด้านลบของมัน) การเพิ่มผลิตภาพโดยผ่านกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและระบบอัตโนมัติ สามารถสนองข้อมูลในเวลาจริงสำหรับสายโซ่อุปทานในเศรษฐกิจที่เป็นจริง เพิ่มความสำคัญแก่ข้อมูลและข่าวสารขึ้นอีก สร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจขั้นสูง โดยการบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์ล่วงหน้าและการแจ้งเตือนต่างๆ ทำให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพสูง สามารถติดตามได้ในเวลาจริง “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” จะช่วยให้ควบคุมคุณภาพได้ดีขึ้น รวมทั้งหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ (Cobot) สร้างสภาพการทำงานที่ดีขึ้นและยั่งยืน สามารถสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้ ส่งเสริมความคล่องตัว ยืดหยุ่นและการปรับปริมาณการผลิตได้ง่าย พัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมและเปิดโอกาสในการสร้างตัวแบบทางอุตสาหกรรมใหม่

ค) อุตสาหกรรม 4.0 ไม่สามารถปฏิบัติการโดยลำพังในบรรษัทหนึ่งหรือในประเทศหนึ่ง แต่ต้องมีการปฏิบัติเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระดับโลก เป็นหน้าที่ของบรรษัทข้ามข้ามต้องร่วมมือกัน (ดูเอกสารชื่อ Industry 4.0 : the fourth industrial revolution – guide to Industrie 4.0 ใน i-scoop.eu กุมภาพันธ์ 2017)

ทรัมป์ดูไม่สบอารมณ์กับแผนของเยอรมนีเท่าใด และกล่าวโจมตีเยอรมนีไว้หลายประการ

แต่ก็มีผู้ไม่เห็นด้วย เช่น หนังสือพิมพ์ USA Today ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการ (04.06.2017) แสดงทัศนะว่า สหรัฐสามารถเรียนรู้ตัวแบบทางเศรษฐกิจจากเยอรมนีได้ แทนที่จะวิจารณ์อย่างที่ทรัมป์ทำ

เช่น เยอรมนีสามารถรักษาฐานอุตสาหกรรมของตนไว้ได้ ไม่ได้ปล่อยให้เสื่อมถอยอย่างสหรัฐ ทั้งนี้ โดยอาศัยระบบภาษีที่ส่งเสริมการออมและการลงทุน

Craftsmen pour molten bronze as they work on various metal objects including the creation of the bear trophies for the upcoming Berlinale film festival on January 15, 2018 in Berlin at the Noack fine art foundry.
The Golden Bear statuettes were designed in 1932 by German sculptor Renee Sintenis. The festival runs from February 15 to 25, 2018. / AFP PHOTO / Tobias SCHWARZ

ตรงข้ามกับสหรัฐที่สนับสนุนการกู้ยืมและการบริโภค

และเยอรมนียังสนับสนุนการพัฒนาแรงงานอย่างจริงจัง รับกับการเปลี่ยนแปลงทางการผลิตและรักษาอัตราการจ้างงานในระดับสูงไว้ได้

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการช่วงชิงความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจจากแกนจีน-รัสเซีย