เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (14) 500 ปี โคลงนิราศหริภุญไชย : คุณค่าและความทรงจำ (3)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว อธิบายต่อไปว่า กวีผู้รจนาโคลงนิราศหริภุญไชย ออกเดินทางจากวัดพระสิงห์ กวีเดินเท้าเลียบคลองมาผ่านสถานที่ต่างๆ ในกำแพงเมืองเชียงใหม่ ดังนี้

บทที่ 13 กล่าวถึง “กุดาราม” บทที่ 14 กล่าวถึง “หอมังราชเจ้า” บทที่ 16 กล่าวถึง “มหาอาวาส” บทที่ 17 กล่าวถึง “พระอัฏฐารส” บทที่ 18 กล่าวถึง “ยักษ์สองตน”

บทที่ 13, 16-18 จะขออธิบายรวมเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือเกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกต และวัดเจดีย์หลวง หรือวัด “โชติการาม” (มหาอาวาส) อันที่ประดิษฐานพระอัฏฐารสและรูปปั้นยักษ์ 2 ตน

ในที่นี้พบว่าบทที่ 14 มี “หอผี” หรือ “หอพระญามังราย” มาคั่น เป็นหอผีเมืองหรืออารักษ์เมืองเชียงใหม่ เหตุที่สวรรคตไม่ดี ถูกฟ้าผ่าตาย ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “กาดฟ้าผ่า” ปัจจุบันนี้เป็นอาคารพาณิชย์ที่ตั้งสปาริมถนนพระปกเกล้าฯ

เมื่อพ้นวัดเจดีย์หลวง กวีเดินตรงไปออกประตูเชียงใหม่ จากนั้นผ่านประตูขัวก้อม “ขัว” หมายถึงสะพาน “ก้อม” แปลว่าขนาดย่อมๆ เป็นสะพานที่อยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่เพื่อทะลุออกไปยังเวียงกุมกาม

 

นิยามความหมายแห่ง “อมรกต”

มหาอาวาสสร้อย     ศรีสถาน

ชินรูปองค์อุฬาร      เลิศหล้า

อมรกตค่าควรปาน   บุรีหนึ่ง นุชเอ่

ถวายประนมน้อมหน้า    เพื่อน้องนาริรมย์

 

กวีได้กราบพระแก้วมรกต แต่ใช้ศัพท์ในโคลงว่า “อมรกต” บางสำนวนเขียนว่า “อมรโกฏ” ด้วยซ้ำ

อาจารย์อรุณรัตน์อธิบายว่า ตัว อ (ออกเสียง อะ) เมื่อเติมหน้าคำไหนก็เท่ากับทำให้ความหมายกลายเป็นปฏิเสธ นั่นคือ เป็นพระพุทธรูปที่ไม่ได้ทำด้วยแก้วมรกตแต่อย่างใด

จากเวทีเสวนาหัวข้อคล้ายคลึงกันนี้ (500 ปีโคลงนิราศหริภุญไชย) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ศาสตรเมธีวิจัยอาวุโส กลับให้นิยามคำ “อมรกต” ว่าหมายถึง พระพุทธรูปซึ่งเทวดากระทำแล้ว โดยแยกรากศัพท์เป็น 2 คำ

อมร = เทวดา/พระอินทร์ ส่วน กตะ = การกระทำ/ทำแล้ว

เช่นเดียวกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย แห่งสาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (วิทยาเขตทุ่งมหาเมฆ) ที่เห็นด้วยว่า อมรกต แปลว่าแก้วของเทวดา แต่ควรมาจากคำว่า อมร+มรกต มรกตหมายถึงสีเขียว ทว่าในบทกวีนั้นมีการจำกัดจำนวนคำของฉันทลักษณ์ กวีจำต้องตัดคำซ้ำออกไป จึงใช้คำควบรวมระหว่าง อมร กับ มรกต กลายเป็นเหลือแค่ อมรกต คำเดียว?

อย่างไรก็ดี ทั้งสามท่านมีความเห็นตรงกันว่า พระแก้ว(อ)มรกต องค์นี้ แม้จะเรียกกันในปัจจุบันว่า พระแก้วมรกต แต่ไม่ได้ทำจากวัสดุมรกต (Emerald) ทว่าทำจากหินหยกสีเขียวทึบที่พบทั่วไปในประเทศจีน แต่ชาวล้านนานิยมเรียกว่า แก้ว

ภาษาล้านนาสิ่งใดที่ดีงาม มักเรียกว่า “แก้ว” อาทิ ช้างแก้ว ม้าแก้ว ลูกแก้ว พระแก้ว เวียงแก้ว คำว่า “เวียงแก้ว” หรือ “เวียงแก้วเนรปาน” เป็นชื่อเมืองของพระอินทร์ เวียงแก้ว จึงหมายถึงเวียงที่มีค่า เวียงที่เต็มไปด้วยความสุข

เกี่ยวกับ “พระแก้ว” นี้ อาจารย์อรุณรัตน์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในวัฒนธรรมล้านนานิยมสร้างพระพุทธรูปจากผลึกควอตซ์ หรือหินสีต่างๆ ให้ดูแวววาวเปล่งประกาย มีทั้งสีเขียว สีขาว สีม่วง สีเหลือง สีดำ สีแดง ฯลฯ จึงเรียกโดยรวมว่า “พระแก้ว” ทำให้เมื่อพูดคำว่าพระแก้วลอยๆ จึงยากต่อการตีความ

ตำนานวัดหอธรรมระบุว่า แม้แต่ตอนที่พระไชยเชษฐาจะอัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่หลวงพระบาง ยังเกิดความสับสนว่าองค์ไหนคือพระแก้วมรกตองค์จริง เนื่องจากไปดูที่หอพระแล้ว มีพระแก้วนานาประการหลายองค์มาก สะท้อนว่าในสมัยก่อนพระไชยเชษฐา ได้มีการรวบรวมพระแก้วองค์สำคัญมารวมไว้ที่หอพระแล้ว

คนเฝ้าหอจึงบอกว่า คืนนี้จะเอาดอกไม้สีแดงไปวางไว้ที่พระหัตถ์ของพระแก้วมรกตองค์จริง เพื่อเป็นเครื่องหมาย รุ่งขึ้นพระไชยเชษฐาจะได้เลือกถูกองค์แท้

 

กุดาราม ราชกูฏ โลหะปราสาท
สุวรรณปราสาท หอพระแก้ว?

คําถามที่ต้องช่วยกันตีความคือ พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่ไหนกันแน่ใน พ.ศ.2060 ช่วงที่กวีรจนาโคลงนิราศหริภุญไชยสมัยพระเมืองแก้ว

ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ตอนนำพระแก้วมรกตมาไว้ที่เชียงใหม่ ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานภายในซุ้มจระนำด้านทิศตะวันออกของพระเจดีย์หลวง (องค์มหึมาที่ปัจจุบันยอดพังทลาย)

ตามข้อความใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ที่ปริวรรตโดย แสง มนวิธูร

“พระเจ้าพิลกราชาธิราช (ติโลกราช) ได้อัญเชิญพระรตนปฏิมา ซึ่งมีฤทธิ์เดชหาประมาณมิได้ มาแต่นครเขลางค์ ประดิษฐานไว้ที่ราชกูฏในนครเชียงใหม่นั้น เมื่อปีฉลู จุลศักราช 843 (พ.ศ.2025)”

ปีที่มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตจากลำปางสู่เชียงใหม่คือ พ.ศ.2025 ตรงกับปีที่พระเมืองแก้ว กษัตริย์เชียงใหม่ลำดับที่ 11 ประสูติพอดี เป็นไปได้ว่าการที่พระองค์มีพระนามเช่นนี้ เหตุเพราะประสูติในปีที่พระแก้วมรกตเสด็จมาเชียงใหม่

แล้ว “ราชกูฏ” คืออะไร ปกติ กูฏ หมายถึงซุ้มคูหา หรือกุฏาคาร เป็นคำเดียวกันกับที่เนื้อความตามบทประพันธ์ได้พรรณนาถึง “กุดาราม” ก่อนในบทที่ 13 โดยที่กวีได้เงยหน้ามองเห็นพระเจดีย์หลวงสูงเด่นแต่ไกล ซึ่งในสมัยพระเจ้าติโลกราชเมื่อครั้งที่พระแก้วมรกตยังอยู่ในราชกูฏนั้น โดยปกติแล้ว

“มีพันจุฬาเป็นนายรักษาหอ ช่วงเดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำถึงขึ้น 15 ค่ำ ก็อัญเชิญพระแก้วออกจากหอให้ประชาชนได้สรงน้ำ ส่วนในพระราชวัง พระเจ้าพิลกราชก็ให้สร้างหอพระแก้วเพื่อประดิษฐานพระศิลา” (พระศิลาปัจจุบันอยู่วัดเชียงมั่น)

คำถามมีอยู่ว่า เมื่อกวีพบกุฎาราม (กุดาราม-ราชกูฏ) ในโคลงบทที่ 13 แล้ว ไฉนกวีจึงผ่านเลยไป

 

กุดารามรวดด้าน   หลังเหลียว

ถวายกระพุมมือเทียว    หว่านไหว้

ทำบุญเพื่อผลเยียว    พลัดแม่ นาแม่

ถึงถับอุแปนได้    แต่ซ้ำปราฐนา

แต่กลับไปไหว้พระแก้วมรกตในบทที่ 16 (มหาอาวาสสร้อย) แสดงว่าได้มีการย้ายพระแก้วมรกตลงจากกุดารามหรือซุ้มจระนำเจดีย์หลวงแล้ว

ทำไมต้องย้ายพระแก้วมรกตจากกุฎาราม อาจารย์วรชาติ มีชูบท และอาจารย์ประสงค์ ปัญญาเพชร นักวิชาการอาวุโสเรื่องล้านนาศึกษา อธิบายว่า

เนื่องจาก “กุฎาราม” ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตแห่งแรกในเชียงใหม่นั้น น่าจะสร้างด้วยวัสดุที่มีสายล่อฟ้า คือทองแดง ตรงตามตำนานรัตนพิมพวงศ์ ซึ่งระบุว่าที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตเป็น “โลหะปราสาท” หลังคาดาดด้วยทองแดงจึงต้องอสนีบาตอยู่เนืองๆ จำต้องแปลงเป็นมหาวิหาร

ผ่านมาถึงยุคพระนางโป่งน้อย สิริยศวดี พระมหาเทวี (ชายาของพระญายอดเชียงราย) ผู้เป็นพระราชมารดาและปกครองเชียงใหม่ร่วมกับราชโอรสคือพระเมืองแก้ว เห็นว่าการประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญไว้บนซุ้มจระนำเช่นนั้นไม่ดี ประสงค์จะให้ย้ายลงมาไว้ในปราสาททองคำ หรือสุวรรณปราสาท แล้วประดิษฐานใน “หอพระ” อีกชั้นหนึ่ง

ตำนานพระสีหลพุทธปฏิมาเจ้ากล่าวว่า “…เสวยเมืองได้ 8 ปี ท้าวก็หื้อปราสาทอันประจิตรริสนาด้วยเครือดอก เครือวัลย์ แล้วก็พอกคำ คือว่าติดคำปลิว … แล้วก็นิมนต์พระเจ้าแก้วบัวระกต แต่โขงมหาเจติยะลงมาสถิตสำราญยังปราสาทคำท่ามกลางวิหารหลวงในปีเต่าเสต ศักราชได้ 865 ตัว (พ.ศ.2046) เดือนเจียง ออก 7 ค่ำ วันอาทิตย์ฤกษ์กฎ 28 ตัวแลฯ…”

ช่วงที่กวีรจนาโคลงนิราศฯ ได้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตลงมาประดิษฐานในปราสาททองคำ ภายในวิหารวัดเจดีย์หลวง (มหาอาวาส) แล้ว แต่จะเป็นวิหารหลังเดียวกันกับที่ประดิษฐานพระอัฏฐารสหรือไม่นั้นยังไม่อาจยืนยันได้

เจดีย์หลวงถล่มลงมาในปี 2088 สมัยพระนางเจ้าจิรประภาเทวีครองเมืองนั้น โชคดีที่พระแก้วมรกตได้ย้ายออกจากซุ้มจระนำพระเจดีย์หลวงไปก่อนแล้ว มิเช่นนั้น พระแก้วมรกตคงตกแตกพังทลายลงมาด้วยเช่นกัน

แต่วิหารประดิษฐาน “สุวรรณปราสาท” คงได้รับผลกระทบกระเทือนไม่น้อย ต่อมาจึงได้ย้ายพระแก้วมรกตไปที่ “หอพระ” อาจารย์อรุณรัตน์บอกว่าตำนานใช้คำว่า “หอพระ” ไม่มีคำว่าแก้ว ส่วนคำว่า “หอพระแก้ว” เป็นการมาเรียกกันภายหลัง

สอดคล้องกับการที่พงศาวดารโยนกกล่าวว่า เมื่อพระไชยเชษฐาครองเมืองเชียงใหม่ วันหนึ่งเดินไปนมัสการพระแก้วมรกต รุ่งขึ้นจึงเดินไปวัดเจดีย์หลวง แสดงว่าสมัยพระไชยเชษฐานั้น พระแก้วมรกตไม่ได้อยู่ในวัดเจดีย์หลวงแน่นอนแล้ว แต่ได้ย้ายมาประดิษฐานที่หอพระแทน

“หอพระ(แก้ว)” นี้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต พระแก้วขาวเสตังคมณี และพระแก้วอื่นๆ อีกหลายองค์นั้น คำถามคือหอพระตั้งอยู่ที่ไหน

นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า หอพระ ตั้งอยู่ทิศใต้ของเขตพระราชฐาน (หากเชื่อว่าเขตพระราชฐานในสมัยล้านนา คือจุดที่เรียกว่า “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” แล้วถูกปรับเปลี่ยนกลายเป็นคุกในสมัยรัชกาลที่ 5) หอพระก็ย่อม คือซากอาคารในบริเวณหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากแผนที่เก่าของ นายเจมส์ แมคคาร์ธี มีการระบุที่ตั้งของ “หอพระแก้ว” ร้างไว้ตรงนั้น

ทว่า ศาสตราจารย์สุรพล ดำริห์กุล เสนอมุมมองว่า แนวกำแพงหอพระแก้ว ณ จุดที่ขุดค้นก่อนสร้างหอศิลป์ฯ นั้น เป็นวัดพระแก้วที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละนี่เอง เพื่อให้เป็นวัดประจำเวียงแก้วตามคติภาคกลาง (กล่าวคือ ไม่ได้เก่าไปถึงยุคพระเมืองแก้ว)

ทำไมต้องมีหอพระแก้วอีกในยุคพระเจ้ากาวิละ ในเมื่อพระไชยเชษฐาเอาพระแก้วมรกตไปไว้ที่ลาวนานแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2096

ชัยวุฒิ ไชยชนะ นักวิชาการรุ่นใหม่เห็นว่าน่าจะเป็นหอประดิษฐานพระแก้วขาว เสตังคมณี ของพระนางจามเทวี ที่เคยอยู่วัดเชียงหมั้นมากกว่า ก่อนย้ายกลับคืนไปวัดเชียงหมั้นอีกครั้ง ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พ.ศ.2416 ช่วงเดียวกับการยกคุ้มหลวงให้สร้างเรือนจำ

อาจเป็นไปได้ว่า หอพระแก้วที่อาจารย์สุรพลบอกว่าสร้างขึ้นใหม่ในยุคพระเจ้ากาวิละนั้น เป็นการสร้างทับที่หอพระเดิม ที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกต ซึ่งร้างไปแล้ว