พระเสื้อเมือง และพระทรงเมือง คืออะไร?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นักวิชาการนอกเครื่องแบบอย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยอธิบายให้ผมฟังว่า คำว่า “ผีเสื้อ” เพี้ยนมาจากคำว่า “ผีเชื้อ”

และแปลตรงตัวว่า “ผีบรรพบุรุษ”

คำอธิบายดังกล่าวช่วยให้ผมถึงบางอ้อ โดยไม่ต้องพึ่งพายานพาหนะชนิดใด แม้กระทั่งรถไฟความเร็วปานกลางเลยด้วยว่า “พระเสื้อเมือง” ที่ประจำอยู่ในศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ ก็คงเพี้ยนมาจากคำคำเดียวกันคือ “พระเชื้อเมือง” หมายถึง “ผีบรรพบุรุษของเมือง” หรือจะเรียกตามภาษาชาวบ้าน ว่าเป็น “ผีปู่ตาของเมือง” ก็คงจะไม่ผิดนัก

แต่ที่ควบคู่ไปกับ “พระเสื้อเมือง” ยังมี “พระทรงเมือง” อยู่อีกองค์หนึ่ง

 

คําว่า “ทรง” ถ้าเป็นคำนามแปลว่า รูปร่าง แต่ถ้าเป็นคำกริยาแล้วหมายถึง การดำรงอยู่ การจำ หรือการคงอยู่ ผมเข้าใจเอาเองว่า “ทรง” คำเดียวกันนี้เอง ที่บรรดาเจ้านายเอาไปใช้นำหน้าคำกริยาทั้งหลาย ที่ไม่เป็นคำราชาศัพท์ด้วยตัวของมันเองอย่าง ทรงเห็น ทรงฟัง ฯลฯ และเมื่อถูกใช้นำหน้าคำนามที่ไม่เป็นราชาศัพท์บางคำ ก็ทำให้กลายเป็นกริยาไป อย่างเช่น ทรงม้า ทรงธรรม (หมายถึง รับธรรม) เป็นต้น

น่าประหลาดดีนะครับ คำธรรมดาๆ ที่พูดกันในหมู่ไพร่เหล่านี้เมื่อเติมคำว่า “ทรง” ซึ่งเป็นคำเขมรไว้ข้างหน้าแล้วก็กลายเป็นคำราชาศัพท์

เช่นเดียวกับคำเขมรอีกหลายๆ คำที่เป็นคำราชาศัพท์ของไทยเรา แต่คำว่า ทรง มีหน้าที่พิเศษกว่าคือช่วยยกบรรดาศักดิ์ให้กับคำไพร่ที่ไม่ใช่ภาษาเขมร หรือบาลี-สันสกฤต ให้กลายเป็นศัพท์เจ้านายไปด้วย

“พระทรงเมือง” จึงหมายถึง “ผีผู้ครองเมือง” แต่ผีที่ไหนจะครองเมืองได้ล่ะครับ ถ้าไม่ใช่ผีพระเจ้าแผ่นดินที่นั่น?

คำคำนี้จึงมีความหมายไม่ต่างไปจาก “ผีบรรพบุรุษ” อย่าง “พระเสื้อเมือง” นั่นแหละ

จะเรียกว่าโดยหน้าที่แล้วเป็นองค์เดียวกันเลยก็ไม่ผิด เพราะสิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง พระเสื้อเมือง และพระทรงเมือง ดูจะมีก็แต่ว่า เป็นคำที่มีรากมาจากคนละภาษากันเท่านั้นเอง

 

หลักสูตรการศึกษาไทยสอนให้ผมท่องจำมาแต่เด็กว่า ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด ยิ่งนานวันผมยิ่งเห็นว่าไม่ถูกนัก ภาษาไทยชอบใช้คำซ้ำและคำซ้อน เช่น คำว่า “สวยงาม” ที่คำว่า สวย ก็แปลว่า งาม ส่วนคำว่า งาม ก็แปลว่า สวย

คำซ้ำและคำซ้อนจะต่างกันอย่างไรผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว แต่ผมยังจำได้ดีอยู่ว่าอาจารย์สอนภาษาไทยสมัยมัธยมของผมท่านสอนมาว่า คำซ้ำและคำซ้อนในภาษาไทยเกิดขึ้นเพื่อความงามในภาษา

ผมยังรักและเคารพอาจารย์ภาษาไทยทุกท่านที่อบรมสั่งสอนผมมา ด้วยความรักและเคารพอันนี้เอง ที่ทำให้ผมกระตือรือร้นที่จะสอบทานความรู้ที่เล่าเรียนมาอีกด้วยเช่นกัน

จนทำให้ผมคิดว่าคำอธิบายของนักวิชาการสายมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์สาขาอื่นที่ว่า คำซ้ำและคำซ้อนในภาษาไทยเป็นคำที่ใช้ย้ำความหมายระหว่างกัน เพราะเกิดขึ้นจากการประสมกันระหว่างคำสองภาษา น่าจะเป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผลมากกว่าเรื่องของวรรณศิลป์เพียงอย่างเดียว

 

คําว่า “สวย” เพี้ยนมาจากภาษาเขมรตรงกับคำว่า “งาม” ในภาษาลาว สองคำนี้ใช้คู่กันเพื่ออ้างอิงความหมายระหว่างกัน เพราะสังคมในอุษาคเนย์ไม่ได้เป็นสังคมที่ประกอบขึ้นจากกลุ่มชาติภาษาเดียว แต่เต็มไปด้วยกลุ่มชาติภาษาหลายกลุ่ม (อย่างที่มีคำเก่าว่า สิบสองภาษา คือมีหลายชนชาติ ไม่ได้หมายถึงมีแค่สิบสองชนชาติจริงๆ) อยุธยาก็ใช่ กรุงเทพฯ ก็ใช่

และก็เป็นเพราะธรรมชาติของการใช้คำอย่างนี้เอง ที่ทำให้นานวันเข้า “พระทรงเมือง” ที่คำศัพท์เกี่ยวดองอยู่กับเขมรจึงกลายเป็นคนละองค์กับ “พระเสื้อเมือง” ที่ผมอยากจะเดาว่าเกี่ยวพันกับสายลาว ไปในที่สุด

ที่อยู่เหนือลาวขึ้นไปคือจีนนั้น ก็มีความเชื่อเรื่อง “ผีเสื้อ” กับ “บรรพบุรุษ” เหมือนกัน

คนจีนเชื่อว่า ผีเสื้อกลางคืน ที่โบยบินเข้ามาในเรือน เป็นวิญญาณของบรรพบุรุษที่ตายไปกลับมาเยี่ยมเยือนบ้านเก่า

แต่ความเชื่อว่าจะมีอยู่ทั้งจีนใต้ของพวกเจ๊ก และจีนเหนือของพวกฮั่นหรือเปล่า ผมไม่ทราบได้ เดาเอาจากรูปศัพท์ น่าจะเป็นเรื่องของจีนใต้ที่เกี่ยวดองกับอุษาคเนย์มากกว่า แต่จีนเหนือก็มีร่องรอยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “ผีเสื้อ” กับ “ความตาย” หรือชีวิตในอีกโลกหนึ่ง ซ้ำยังเป็นหลักฐานจากบุคคลชื่อดังคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนเสียด้วย

จวงจื๊อ ปราชญ์คนสำคัญในประวัติศาสตร์จีนยุคเลียดก๊ก มีชีวิตอยู่ในช่วง 369-286 ปีก่อนคริสตกาล เคยฝันว่าตนเองเป็นผีเสื้อ เที่ยวบินไปในสวนอย่างสุขสม พลันเมื่อตกใจตื่นขึ้นมาจวงจื๊อจึงเฝ้าครุ่นคิดว่าตนเองเป็นจวงจื๊อที่ฝันว่าตัวเองเป็นผีเสื้อ หรือตนเองเป็นผีเสื้อที่กำลังฝันว่าเป็นจวงจื๊อ

ความฝันของจวงจื๊อเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงสำหรับผู้สนใจในประวัติศาสตร์ และปรัชญาของจีน และหากพิจารณาอย่างผิวเผินแล้ว การที่จวงจื๊อฝันว่าตนเองเป็นผีเสื้อไม่ได้เกี่ยวกับความตายเลยสักนิด

แต่ถ้าพิจารณาต่อไปถึงตำราเล่มสำคัญของจวงจื๊อ ที่มีชื่อเดียวกับผู้ประพันธ์คือจวงจื๊อเอง ก็ชวนให้สงสัยอยู่ว่า ความฝันเรื่องผีเสื้อเป็นเพียงนิทานที่จวงจื๊อใช้สำหรับถกถึงปรัชญาหรือไม่?

วรรคทองตอนหนึ่งในคัมภีร์จวงจื๊อ หมวดฉีอู่ลุ่น หรือความถึงพร้อมแห่งสรรพสิ่ง มีความว่า

“ตัวเราจักรู้ได้อย่างไรว่าความยินดีต่อชีวิตไม่ใช่ความฉงนงงงวย ตัวเราจักรู้ได้อย่างไรว่าความกลัวต่อความตายมิใช่เสมือนหนึ่งผู้ออกจากบ้านแต่เยาว์วัย แล้วลืมหนทางกลับสู่ถิ่นเกิด”

วรรคทองตอนนี้จวงจื๊อตั้งคำถามกับ “ความตาย” ไม่ต่างไปจากที่ตั้งกับ “ความฝัน” เพียงแต่ท่านไม่ได้เอ่ยถึง “ผีเสื้อ” และคงจะไม่ผิดอะไรนักถ้าจะกล่าวว่าสำหรับจวงจื๊อ “ชีวิต” เป็นเพียง “ความฝัน” ตื่นหนึ่ง

การตื่นขึ้นจึงไม่ต่างอะไรกับความตายจากโลกหนึ่ง และ (กลับ) ไป (เกิด) ยังอีกโลกหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับที่ท่านได้ตั้งคำถามถึงผีเสื้อในฝันตัวนั้นนั่นเอง

ปรัชญาของจวงจื๊อยังบังเอิญพ้องกันอย่างเหมาะเจาะกับเทพปกรณ์ของพวกกรีก ที่เทพแห่งความตายอย่าง ธานาทอส (Thanatos) กับฮิปนอส (Hypnos) เทพแห่งความฝันเป็นพี่น้องฝาแฝดกัน

“ความตาย” หรือ “ธานาทอส” อาจปรากฏกายได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเทพผู้มีปีกปักอยู่กลางหลัง สุภาพบุรุษรูปงามที่ปรากฏกายอยู่กลางทุ่งหญ้าอีไลเซียมอันสุขสงบของบรรดาผู้กล้าที่ตายไป แต่ที่น่าสนใจคือการปรากฏกายในรูปของเด็กน้อยที่ประคองกอดผีเสื้อ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “ผีเสื้อ” เป็นสัญลักษณ์ของ “ความตาย” ในหลายๆ วัฒนธรรมที่ผมอ้างถึงนั่นแหละครับ

เช่นเดียวกับที่ “พระเสื้อเมือง” จึงหมายถึง “ผีเชื้อเมือง” หรือ “ผีบรรพบุรุษของเมือง” ซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จสวรรคตแล้วแน่

นี่เป็นความคิดพื้นเมืองอุษาคเนย์ไม่ได้อิมพอร์ตมาจากอินเดียหรือที่ไหน ไม่ใช่เรื่องของทั้งศาสนาพุทธ หรือศาสนาพราหมณ์ เพราะเป็นเรื่องของศาสนาผี ความเชื่อเรื่องนี้ปรากฏมาแต่โบราณทั้งในคัมภีร์โบราณของราชสำนักชวาภาคตะวันออก และเป็นใจความสำคัญของลัทธิเทวราชาในราชอาณาจักรกัมพูชาโบราณที่มีสิ่งปลูกสร้างอย่างนครวัด นครธม

และยังมีหลงเหลือตกทอดอยู่ ณ เสาหลักเมือง ตรงข้ามวัดพระแก้ว ข้างๆ ท้องสนามหลวง ที่กรุงเทพมหานคร