โล่เงิน : ไทม์ไลน์ 13 พธม.ชดใช้ 522 ล้าน คดีปิดล้อมสนามบิน บทพิสูจน์การบังคับคดี

นับจากวันที่ 27 เมษายน 2558 เป็นวันที่ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดี บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสุริยะใส กตะศิลา นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายอมร อมรรัตนานนท์ นายนรัญยู หรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง นายสำราญ รอดเพชร นายศิริชัย ไม้งาม นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้ง 13 คน

กรณีระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 พวกจำเลย ร่วมกันนำผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนไปบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ทำให้การให้บริการต่างๆ ภายในท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งต้องหยุดลง

ในวันดังกล่าวศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้ ในคดีหมายเลขดำที่ 6453/2551 เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ

เนื่องจากเห็นว่า การชุมนุมที่จะได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 นั้น หมายถึงการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ

แต่การชุมนุมของพวกจำเลย ไม่ได้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ละเมิดสิทธิและเสรีภาพการประกอบอาชีพและการคมนาคมของประชาชน

Thai anti-government protesters wave national flags at the departure terminal of Bangkok’s international airport after they seized control of the facility, in Bangkok on November 26, 2008. Bangkok’s international airport will remain closed until at least the end of Wednesday after anti-government protesters seized control of the facility, an air traffic control official said. Staff had been asked to leave the control tower at Suvarnabhumi Airport because of the closure, said Puttawan Noirod, a spokeswoman for Aeronautical Radio of Thailand, which controls air traffic across the country. AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAULT / AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

และการปิดสนามบินดังกล่าวยังก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในหมู่ผู้โดยสาร และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์

ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างรุนแรง

จึงเป็นวัตถุประสงค์ให้เกิดความไม่สงบภายในบ้านเมือง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมที่เกินสัดส่วน

ต่อมาพวกจำเลยไม่ได้ยื่นฎีกาตามเวลาที่กำหนดตามกฎหมาย ทอท.โจทก์ จึงขอให้ศาลออกหมายคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เนื่องจากจำเลยไม่ได้ยื่นฎีกาในระยะเวลา

ทำให้วันที่ 9 กรกฎาคม 2558 นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ไม่ได้ยื่นฎีกาตามกำหนด ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุว่า ในวันที่มีการปิดหมายศาลที่สำนักงานของนายสุวัตรนั้นเป็นวันหยุดทำการ และมีฝนตกหนักรุนแรงมาก ประกอบกับนายสุวัตรนัดพบแพทย์อยู่หลายวันเพื่อตรวจเอ็กซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย จึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเพื่อขอให้ศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าว โดยอ้างเหตุสุดวิสัยการปิดหมายแจ้งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ต่อศาลแพ่ง ที่เป็นศาลชั้นต้น

ต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอขยายฎีกาของจำเลย

จนเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 ศาลอ่านคำสั่งศาลฎีกา ในคำร้องขออนุญาตขยายฎีกาของ 13 แกนนำพันธมิตรฯ โดยเห็นว่าที่คำร้องดังกล่าวนั้นอ้างเหตุสุดวิสัยการปิดหมายแจ้งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ต่อศาลแพ่งนั้น ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 โดยเห็นเช่นเดียวกันว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีร่วมกันปิดสนามบินโดยชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นด้วยจึงให้ยกคำร้องของจำเลย

เมื่อศาลฎีกายกคำร้องขอขยายเวลาฎีกาของจำเลยแล้ว ผลแห่งคดีแพ่งนี้จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ 13 แกนนำพันธมิตรฯ ร่วมกันชดใช้เงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

คำนวณเฉลี่ยคนละประมาณ 40,166,226 บาทเศษ ยังไม่รวมดอกเบี้ย

จากวันนั้นยังไม่ปรากฏว่าหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งหมดได้ชำระเงินตามคำพิพากษา

จนกระทั่งวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 มีหนังสือแจ้งชำระหนี้ตามคำพิพากษา แนบด้วยสำเนาหมายบังคับคดีแพ่ง ถึง 13 แกนนำพันธมิตรฯ

โดยหนังสือแจ้งชำระหนี้มีเนื้อหาว่า สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 ได้รับสำเนาหมายการบังคับคดีจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) โจทก์ มาดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดี จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 แจ้งให้บุคคลทั้ง 13 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งที่ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้ง 13 คน ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 522,160,947.31 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อย 7.5 และให้ร่วมกันชำระค่าธรรมเนียมและทนายความแทนโจทก์เป็นเงิน 597,847 บาท ให้แก่ ทอท. โจทก์

มิเช่นนั้นโจทก์จะนำพนักงานบังคับคดีไปยึดอายัดทรัพย์สินของบุคคลทั้ง 13 คนขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์!!

นายสุวัตร ทนายความ กล่าวภายหลังรับทราบหนังสือทวงหนี้ว่า แกนนำพันธมิตรฯ ได้รับหนังสือการบังคับคดีที่อัยการมอบอำนาจจาก ทอท. โจทก์ แล้ว ตรงนี้เป็นอำนาจของฝ่ายโจทก์เจ้าหนี้ ลูกหนี้ไม่มีอำนาจต่อรองการบังคับคดี ฝ่ายจำเลยไม่มีทรัพย์สินเพียงพอในการชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าว

“ตามขั้นตอน จำเลยลูกหนี้คงไม่ต้องแจ้งอะไร เพราะว่าไม่มีทรัพย์สินมาชำระได้ โดยฝ่ายโจทก์ เจ้าหนี้ จะต้องติดตามตรวจสอบดูทรัพย์สินของจำเลยแต่ละรายว่ามีอะไรบ้าง เพียงพอชำระหนี้อย่างไร หากมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่จะนำมาขายทอดตลาดได้ จะดำเนินยึดอายัดมาประกาศขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา แต่ถ้าระหว่างนี้การตรวจสอบชัดเจนว่าจำเลยที่เป็นลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่มีมูลค่าจะนำมาขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ ก็จะยื่นฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้”

ขณะที่ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับคดีของแกนนำพันธมิตรฯ ว่า อัยการสำนักงานบังคับคดีมีอำนาจในการบังคับคดีในส่วนที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหรือคดีในส่วนอาญาที่ศาลมีคำพิพากษาให้ปรับหรือชำระค่าเสียหาย

คดีนี้เมื่ออัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย อัยการจะช่วยสืบทรัพย์โดยการออกหนังสือสอบถามเรื่องทรัพย์ไปในหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ้น บัญชีเงินฝาก หรือที่ดิน เมื่อสืบทรัพย์ได้ว่ามีทรัพย์สินอยู่ที่ใด จะแจ้งให้ ทอท. เจ้าของเรื่องนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อนำมาขายทอดตลาด

หากชำระแล้วยังไม่พอ อัยการจะดำเนินการตามหน้าที่คือ แจ้งไปยัง ทอท. หาก ทอท. มีหนังสือมาขอให้ฟ้องคดีล้มละลายต่อ ทางสำนักงานอัยการสูงสุดก็มีกองคดีล้มละลายสำหรับฟ้องคดีล้มละลายต่อ

“ส่วนกรณีที่มีการสืบทรัพย์และทราบว่ามีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์ไปก่อนเเล้ว ตรงนี้ทางสำนักงานอัยการฝ่ายการบังคับคดีคงจะต้องนำเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ตามหน้าที่ต่อไป” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดระบุ

จึงต้องดูกันต่อไปว่า เมื่อใช้มาตรการบังคับคดีแล้ว จะสามารถไล่เบี้ยทรัพย์สินของจำเลยทั้ง 13 คนได้มากน้อยแค่ไหน!!