แพทย์ พิจิตร : การยุบสภาในประเพณีการปกครองไทย : อาจารย์สุจิตและอาจารย์บวรศักดิ์ กับการยุบสภา 24 กุมภาพันธ์ 2549 (27)

ต่อกรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 นักวิชาการคนแรกและคนเดียวที่ออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีไม่มีเหตุผลอันควรในการยุบสภา

นักวิชาการผู้นี้คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

ซึ่งอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไปบ้างแล้วว่า ท่านได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ไว้ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2549 โดยกล่าวว่า

“ตอนยุบสภานั้น นายกฯ ให้ผมเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาเข้าไปกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ไปหาที่กระทรวงการต่างประเทศ ผมก็ยกมือไหว้ท่านหนึ่งครั้ง ตอนยื่นพระราชกฤษฎีกาส่งให้ท่าน ผมขอท่านว่าขอแสดงความเห็นหน่อยได้ไหม ท่านก็บอกว่าได้ ว่ามาเลย ผมก็บอกว่า ท่านนายกฯ ครับ มันไม่มีเหตุที่จะยุบสภา แต่ท่านก็ตัดบทโดยให้เหตุผลว่า ผมรับผิดชอบเอง”

แต่ในบทสัมภาษณ์นั้น บวรศักดิ์ไม่ได้อธิบายขยายความให้เหตุผลว่า ทำไมถึงมีความเห็นว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะยุบสภา”

ดังนั้น ในข้อเขียนนี้ ผู้เขียนจึงได้ขอสัมภาษณ์ท่านเพื่อให้ท่านได้อธิบายขยายความถึงการยุบสภา พ.ศ.2549 ถึงเป็นการยุบสภาที่ไม่มีเหตุผล

 

ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นต่อการยุบสภาผู้แทนราษฎร 24 กุมภาพันธ์ 2549 ได้อธิบายไว้ดังนี้

“เหตุผลหลัก คือ การยุบสภาในทางทฤษฎี คือความขัดแย้งระหว่างสภากับฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะในภาวะระบบรัฐสภาที่ยังไม่เป็นระบบรัฐสภาเสียงข้างมากเด็ดขาด แปลว่ารัฐบาลกำลังจะสูญเสียเสียงข้างมากในสภา เกิดความขัดแย้งกันในสภาของรัฐบาล เพราะตรรกะของระบบรัฐสภาก็คือการที่ฝ่ายหนึ่งต้องมีเสียงข้างมากคือรัฐบาล ถึงจะเป็นรัฐบาลได้ แล้วเสียงข้างมากก็ต้องสนับสนุนรัฐบาล แต่ครั้นเมื่อเสียงข้างมากในสภาเกิดปั่นป่วนรวนเร รัฐบาลก็มีทางออกคือยุบสภา เหมือนกับที่ถ้าสภาเกิดไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้ว สภาก็ต้องเอารัฐบาลออกด้วยการไม่ไว้วางใจ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น (การยุบสภา 24 กุมภาพันธ์ 2549) มันไม่เกี่ยวกับสภาเลย รัฐบาลก็ยังมีเสียงข้างมากในสภาท่วมท้น เหตุการณ์ที่มาจากสภาก็ไม่มี มันเป็นเหตุการณ์ภายนอก พอเป็นเหตุการณ์ภายนอก การยุบสภาแบบนี้มันไม่เหมือนตรรกะของระบบรัฐสภา ยิ่งสมัยนั้นรัฐสภาปิดสมัยประชุมด้วย มันยิ่งไม่มีเหตุผลซ้ำสอง ข้อแรกคือมันไม่มีการที่จะสูญเสียเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างมากเกิดการที่จะคิดล้มรัฐบาล มันไม่มีเหตุการณ์นั้น”

“ข้อสองรัฐสภาอยู่นอกสมัยประชุม นี่คือเหตุผลที่ได้บอกไป”

 

ผู้เขียนได้ถามต่อไปว่า แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2540 และรวมถึงฉบับอื่นๆ ด้วย…

“บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น มิได้กำหนดสาเหตุของการยุบสภาไว้ ดังนั้น สาเหตุของการยุบสภาจึงเปิดกว้างมาก การยุบสภาจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่จะชอบธรรมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

ดังนั้น เหตุผลที่อาจารย์บวรศักดิ์กล่าวไปนั้น จะเรียกได้ไหมว่าเป็น “ประเพณีการปกครอง”

อาจารย์บวรศักดิ์ ตอบว่า

“มันจะเรียกว่าประเพณีการปกครองก็ต้องหมายถึงประเพณีที่อยู่ในตัวระบบรัฐสภาเท่านั้น ไม่ใช่หมายถึงประเพณีของประเทศไทย มันเป็นตรรกะของระบบรัฐสภา ใช้คำนั้นดีกว่า เป็นตรรกะหลักการของระบบรัฐสภา ไม่ใช่ของประเทศไทยเฉพาะ ไม่จำเป็นว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีประเพณีอย่างนี้อยู่ก่อน เพราะจริงๆ ประเทศไทยจะมีประเพณีนี้อยู่ก่อนหรือไม่ เพราะว่าจริงๆ ถ้าดูการยุบสภาย้อนหลังไป มันก็มีฐานมาจากความขัดแย้งในสภาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาของพลเอกเปรม ขัดแย้งกัน จำได้ใช่ไหมเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ทำท่าไม่ดีก็ยุบ คุณชวนทำท่าจะแพ้เรื่อง ส.ป.ก. เกิดความรวนเรกัน พลังธรรมจะถอยก็ยุบ คุณบรรหารมีปัญหาเดียวกันก็ยุบ มันเป็นปัญหาที่เกิดจากสภาทั้งนั้น แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มันไม่มีเหตุเกิดจากสภาเลยแล้วยุบสภา (เน้นโดยผู้เขียน)”

“ซึ่งผมก็เห็นของผมอย่างนี้ แต่ว่าท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร ท่านรับผิดชอบเอง”

 

ขณะเดียวกัน ก็มีความเห็นที่แตกต่างไป โดยผู้เขียนได้สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.สุจิต บุญบงการ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการยุบสภาและประเพณีการปกครอง

อาจารย์สุจิตมีความเห็นว่า “คือการยุบสภา พูดตรงๆ เราเอาหลักมาจาก…ตะวันตก เอาหลักมาก็คือว่า ยุบตอนไหนก็ได้ คืออันนั้นเป็นสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หลายๆ เรื่องมันไม่ได้เขียนไว้ เมื่อไม่ได้เขียนไว้ ดังนั้น เขาถือว่าเป็น prerogative อังกฤษเขาถือว่าเป็น prerogative ของ Queen นายกรัฐมนตรีของเมืองไทยก็เป็นคนทูลเกล้าฯ ยุบสภา แต่แน่นอน ในหลวงจะทรงโปรดให้ยุบไหม ในหลวงก็ต้องถามว่า คุณยุบทำไม เพราะงั้นถ้าจริงๆ แล้วเนี่ย เขาก็ต้องอ้างว่า เช่น ไอ้นั่นไม่ผ่าน ไอ้นี่ไม่ได้ ปกครองไม่ได้ ต้องยุบ คือต้องมีเหตุให้ยุบ”

ผู้เขียนได้ถามต่อไปว่า “อย่างกรณีเดียวกัน ระหว่างทักษิณกับคาเมรอนในกรณี “ปานามา เปเปอร์ส” ครอบครัวของคาเมรอนเอาหุ้นไปจดทะเบียนที่ British virgin Island แล้วพอถึงเวลา คาเมรอนก็ไม่ได้ยุบสภาหนี แต่ว่าเปิดสภาให้ได้อภิปรายหาทางแก้ไข การยุบสภาครั้งนั้นถือว่าไม่ถูกต้องตามประเพณีการปกครองหรือไม่”

อาจารย์สุจิตตอบว่า

“มันไม่มีประเพณี อันนี้ต้องเข้าใจนะ ผมถือว่าประเพณี… ถ้าเป็นประเพณี…โดยอังกฤษ กำหนดโดยอังกฤษ คือมันเป็น Queen”s prerogative เพราะว่าอันนี้นะ เป็นสิ่งที่มันเป็นมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เมื่อก่อน King เอาเอง แต่ตอนนี้ นายกฯ เป็นคนเสนอ แล้วเมื่อเสนอไปยัง Queen มันก็ยังมีเหตุว่า ทำไมต้องยุบ เอ่อ โอเค มันก็อาจจะบอกว่า ยุบโดยไม่มีเหตุก็ได้ เสนอให้ยุบโดยไม่มีเหตุก็ได้ แต่ทรงอาจจะไม่โปรด ก็เหมือนกับในหลวงไทยเหมือนกัน ถ้าไปอยู่ๆ ก็ไปขอเข้าเฝ้าฯ บอกยุบสภา ในหลวงบอกมีเหตุให้ยุบหรือ พอบอกว่าไม่มีเหตุให้ยุบ อย่างนั้นไม่ต้องยุบหรอก ก็อังกฤษยังมี ตอนนั้นสมัยวิลสันหรือนายกรัฐมนตรีในอังกฤษที่มีความรู้สึกว่า ฉันเสียงกำลังดี ฉันยุบ คืออังกฤษมันให้ยุบ แต่เพราะเนื่องจากเพราะอะไรรู้หรือเปล่า? รัฐบาลต้องอยู่ห้า มันไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายฉบับใดทั้งสิ้น เป็นประเพณีทั้งสิ้น อย่างนั้น มันจะอยู่ห้าก็ได้ อยู่สี่ก็ได้ อยู่สามก็ได้ ดังนั้น มันก็บอกถึงเวลาที่บอกยังไม่ถึงห้าปี เอ๊ะ เสียงฉันกำลัง แล้วก็ ฮีต ฮีตน่ะยุบ คอนเซอร์เวทีฟ ยุบ เสียงที่มันกำลังดี ยุบเลย ปรากฏว่ายุบแล้วแพ้ แพ้เลย แต่เขาก็ไม่ว่า เพราะตัดสินใจผิด คำว่าประเพณี มันไม่ได้ใช้คำว่า Tradition คืออย่างนี้มันจะมีบอกว่า รัฐธรรมนูญอังกฤษจะ base on หนึ่ง คำพิพากษาของศาล court decision สอง convention อันนี้คือประเพณี สาม…สี่ custom เป็นประเพณี มันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง อะไรคือ custom อะไรคือ convention ซึ่งอันนี้ไม่มีเป็นการเขียนไว้ ผมก็จำไม่ได้อย่างห้าปีเป็น convention หรือ custom อันนี้มันต้องไปดูตำรา มันก็สามอันเนี่ย สามอัน อีกอันก็คือ statute กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา ทีนี้ ที่ของเราเนี่ย คล้ายๆ ว่าเราน่าจะมี convention นะ อังกฤษมันมีความชัดกว่ากันเยอะ มีระยะเวลาที่ยาวนาน มันตกผลึกไง และหลายๆ อย่างมันไม่ตกผลึก กำลังจะตกผลึก terminate รัฐธรรมนูญใหม่มา แต่ที่ทุกคนไม่กล้ายกเลิก ทุกคนยังคงไว้ก็คือพระมหากษัตริย์ ทำนองนี้”

ผู้เขียนเสริมว่า : แต่ร้อยปีแรกของอังกฤษ หลัง Glorious Revolution มันก็ยังไม่ลงตัวนะครับ

อาจารย์สุจิต : ยังไม่ลง ฝรั่งเศสก็ไม่ลง

ผู้เขียน : ถ้าเช่นนั้น แปดสิบกว่าปีของเราคงต้องรอพัฒนาการ ประเพณีการปกครองจึงจะตกผลึก

ดังนั้น ตามความเห็นของท่านอาจารย์สุจิต ดูเหมือนว่า ตกลงแล้ว การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของเรายังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ประเพณีการปกครอง”???!!!