สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ล่องสาละวิน เยือน ร.ร. I see U เรื่องเศร้าที่ ร.ร.บ้านซิวาเดอ (3)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ฟังเพลง “เรียมยินเสียงแม่สะเรียงร้องเรียก สาดน้ำตัวเปียกฉ่ำเมื่อวันดำหัว” ยังไม่ทันจบ ถึงเวลานัดหมายทีมผู้ประสานงานการเดินทางหิ้วย่ามผ้าหลายใบ เดินแจกจ่ายให้ครบทุกคน

รับย่าม แรกนึกว่ามอบของขวัญต้อนรับผู้มาเยือนตามขนบธรรมเนียม แขกมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับให้สมเกียรติ ขณะเดียวกันเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์พื้นบ้านผ้าทอมือ

บางคนพูดถึงความทรงจำเมื่อครั้งอดีต หลัง 14 ตุลามหาวิปโยค 2516 ยุคขบวนการนักศึกษามีบทบาททางการเมืองสูงกับแฟชั่น 5 ย. เสื้อยับ ผมยาว กางเกงยีนส์ รองเท้ายาง สะพายย่าม

เปิดดูภายใน ที่แท้เป็นเอกสารรายการเดินทางวันรุ่งขึ้น ตั้งแต่เช้ายันค่ำไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนชายขอบ แบ่งกันเป็น 5 สาย กับภารกิจที่จะต้องทำ

 

สายที่ 1 ย้อนกลับไปทางเชียงใหม่ เลี้ยวซ้ายไปบนถนนลูกรังลัดเลาะตามไหล่เขา มุ่งหน้าโรงเรียนบ้านแม่ลิด ศูนย์กลางการสอน PLC อันงดงามในขุนดอย ต่อไปที่โรงเรียนห้วยปางผาง สอนแบบคละชั้น และไปปิดท้ายที่โรงเรียนบ้านแม่สวรรค์น้อย ไร้เงาผู้อำนวยการ แต่การสอนกลับโดดเด่น

สายที่ 2 มุ่งไปทางแม่ฮ่องสอนถึงอำเภอแม่ลาน้อย เลี้ยวขวาลัดเลาะตามไหล่เขา ไปที่โรงเรียนบ้านห้วยหมกหนุน บริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกัน ต่อไปที่โรงเรียนแม่สะกั๊วะ บริหารจัดการทรัพยากรทางการศักษาร่วมกัน ไปปิดท้ายที่โรงเรียนบ้านห้วยผึ้ง หรือ ชอลอคีโมเดล เครือข่ายเรียนรวมแบบพึ่งพา

สายที่ 3 ไปทางจังหวัดตากก่อนถึงอำเภอสบเมยเลี้ยวซ้ายเข้าไปสู่โรงเรียนบ้านแม่ออก ชุมชนเมินการศึกษา ต่อไปยังบ้านแม่เกาะวิทยา เครือข่ายเรียนรวมสองทาง ต่อไปโรงเรียนบ้านแม่ทะลุ เครือข่ายเรียนรวมสองทางไปจบที่โรงเรียนชุมชนบ้านผาผ่า สอนทางไกลผ่านดาวเทียม เทคโนโลยีสารสนเทศ

สายที่ 4 ไปทางตะวันตกของอำเภอแม่สะเรียง ถนนลูกรัง คดเคี้ยวเป็นหลุมเป็นบ่อไต่ไปตามไหล่เขา ชายขอบด้านในป่าสงวนแห่งชาติป่าสาละวิน มุ่งสู่โรงเรียนแสนโดดเดี่ยว บ้านห้วยห้อม เขตปลอดผู้อำนวยการ ต่อไปโรงเรียนบ้านแม่ก๋อน เด็กไร้สัญชาติอยู่ประจำ ไปจบวันที่โรงเรียนบ้านห้วยแห้ง โรงเรียนเล็กในป่าใหญ่สาละวิน

สายที่ 5 ได้ชื่อว่าสายโหด เริ่มต้นมุ่งหน้าไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอแม่สะเรียงไปสุดแดนไทย-พม่า เป้าหมายแรกที่โรงเรียนบ้านแม่สามแลบ เด็กหลากชาติพันธุ์ริมฝั่งสาละวิน จบลงเรือล่องฝ่ากระแสน้ำไปที่โรงเรียนบ้านสบเมย สุดสาละวินถิ่นสยาม ฝั่งตรงข้ามเป็นบังเกอร์ทหารพม่า หน้ารั้วโรงเรียนฝั่งไทยเป็นบังเกอร์ทหารไทย

เสร็จขึ้นรถต่อไปโรงเรียนบ้านบุญเลอ ศูนย์รวมความด้อยโอกาส ต่อไปที่โรงเรียนบ้านกลอเซโล แบบอย่างการสอนกลางขุนดอย ไปปิดท้ายใกล้ค่ำกันที่โรงเรียนบ้านกอมูเดอ การเรียนของบุตรหลานชาวกะเหรี่ยงอันเก่าแก่

ผู้ร่วมทางแต่ละสายประกอบด้วย กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ผู้บริหาร สพฐ. ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ครู และทีมศึกษานิเทศก์คนหนุ่มคนสาว

 

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ประธานคณะอนุกรรมการด้านวิชาการยกระดับคุณภาพการศึกษา ร่วมย่ำภูดอยไปด้วยบอกว่า ตอนนี้เล่นบท “ตัวช่วย ตัวเชื่อม ตัวชง”

เมื่อก้าวเท้าขึ้นรถตั้งแต่เช้าตรู่แล้ว ไม่ว่าตัวจริง ตัวชง ตัวช่วย ความเสี่ยงบนเส้นทางขรุขระ ทุรกันดารบนยอดดอย เท่าๆ กัน ถึงอย่างไรก็ต้องเคลื่อนไปให้ถึงโรงเรียนเป้าหมายพร้อมภารกิจที่ถูกกำหนด ค้นพบความจริงทั้ง 7 มิติ

1. กายภาพและสภาพแวดล้อม บรรยากาศ ห้องเรียน ห้องน้ำ โรงอาหาร ห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ โรงพักนอน บ้านพัก

2. คุณภาพด้านครู การเข้าร่วมโครงการคูปองครู การจัดการชั้นเรียน ภาระงานนอกเหนืองานสอน สวัสดิการ

3. การจับคู่กับโรงเรียนแม่เหล็ก

4. คุณภาพหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผล หลักสูตรมุ่งเน้นการประกอบอาชีพในอนาคต การอ่านออกเขียนได้ ทักษะวิชาชีพ วิชาชีวิต วิชาการ ความมีระเบียบวินัย การช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือผู้อื่น การเรียนรู้โดยการใช้โครงงานเป็นฐาน

5. คุณภาพโรงเรียน ผู้บริหาร กรรมการสถานศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้นำภูมิปัญญาท้องถิ่น

6. คุณภาพการบริหารจัดการโรงเรียน การแก้ปัญหานักเรียนขาดครู การมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น ประชารัฐ

7. มาตรการแก้ปัญหาของ สพฐ. หรือ สพป. โครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียนแม่เหล็ก โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนไอซียู ผลของการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กด้วยมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมา

ทุกสายต้องไปให้เห็นและสัมผัสถึงหัวใจของพวกเขา ครู นักเรียน รออยู่ทั้ง 18 โรง

แต่ละคนรับย่ามพร้อมภาระงาน หลังปิดฉากมื้อค่ำแยกย้ายกันไปทำการบ้านเพื่อการเดินทางวันรุ่งขึ้นอย่างมีเป้าหมาย ได้งานเป็นเรื่องเป็นราว

 

เสียดาย ทั้ง 5 สาย ไม่ได้ไปอีกแห่ง โรงเรียนบ้านซิวาเดอ โรงเรียนดีประจำตำบล และเป็น 1 ในโรงเรียนที่เข้าโครงการโรงเรียนประชารัฐ มีนักเรียน 191 คน เป็นนักเรียนประจำพักนอนที่โรงเรียน 107 คน

เหตุที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลสบเมย 70 กิโลเมตร ไฟฟ้าภูมิภาคเข้าไม่ถึงเช่นเดียวกับโรงเรียนอีกหลายแห่ง ขาดแคลนยานพาหนะสำคัญ รถขับเคลื่อนสี่ล้อ

ปีที่แล้ว วันที่ 18 สิงหาคม 2560 เด็กชายตัวน้อย กะเหรี่ยงสัญชาติไทย วัย 10 ขวบ นักเรียนประจำพักนอนเกิดอาการไม่สบาย ปวดหัว ตัวร้อน วันนั้นเป็นช่วงฤดูฝน ฝนตกหนักตลอดทั้งคืน โรงเรียนไม่มีรถขับเคลื่อนสี่ล้อ หาเช่าจากชาวบ้านก็ไม่มี รถธรรมดาฝ่าพายุฝน ลุยโคลนออกไปอันตราย ต้องรอจนเช้า

ครู เพื่อนนักเรียน คิดว่าเป็นไข้มาลาเรีย ช่วยกันเช็ดตัวเรื่อยๆ เพื่อลดไข้จนรุ่งเช้า จึงรีบพาไปสถานีอนามัยแม่สามแลบห่างกว่า 10 กิโล ส่งต่อไปโรงพยาบาลแม่สะเรียง อาการยังไม่ทุเลา ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลนครพิงค์เชียงใหม่

เด็กมีอาการดำไปทั้งตัว อยู่โรงพยาบาลอีกคืนและเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น ที่เคยสูญหายไปนานแล้ว

เหตุเศร้าสะเทือนใจ เด็กน้อยต้องจบชีวิตลงและจากไป ทั้งเพื่อนนักเรียน ครู พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนเศร้าสลดใจไม่ลืมจนถึงวันนี้ วันที่ความขาดแคลน ลำบากลำบน ยังคงเป็นวิถีปกติของครู นักเรียนบนดอย