ภาพยนตร์ นพมาส แววหงส์ / THE GREATEST SHOWMAN “มิวสิเคิล”

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

THE GREATEST SHOWMAN “มิวสิเคิล”

กำกับการแสดง Michael Gracey

นำแสดง Hugh Jackman, Michelle Williams, Zac Efron, Rebecca Ferguson, Zendaya

มิวสิเคิลเรื่องนี้เป็นเรื่องราวชีวิตของ พี.ที. บาร์นัม ลูกชายช่างตัดเสื้อที่ต่ำต้อยและยากจน ที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นในธุรกิจบันเทิงแหวกแนว จนร่ำรวยขึ้นยืนผงาดเคียงบ่าเคียงไหล่เศรษฐีในมหานครนิวยอร์ก และสร้างชื่อเสียงโด่งดังข้ามทวีปไปถึงอังกฤษ

ในธุรกิจบันเทิงที่ได้รับการขนานนามว่า “การแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” The Greatest Show on Earth เคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาเมื่อหลายสิบปีแล้ว

แต่คราวนี้เรื่องราวของ พี.ที. บาร์นัม มาในรูปแบบของมิวสิเคิล ด้วยโปรดักชั่นสวยงามและเพลงไพเราะในแบบของมิวสิเคิลที่เป็นรูปแบบ ซึ่งเดี๋ยวนี้เราได้ชมเสมอในละครเวที ที่เติมท้ายชื่อว่า เดอะมิวสิเคิล แทบทุกเรื่อง

แต่นานๆ จะสร้างมาให้ชมในรูปภาพยนตร์

ละครมิวสิเคิลเป็นรูปแบบการละครที่เกิดในอเมริกาแท้ๆ และเป็นที่นิยมมากในช่วงกลางจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ และทำให้มีเพลงจากหนังมากมายที่คนในยุคนั้นร้องกันได้แทบทุกคนแทบทุกเพลง ไม่ว่าจะใน Sound of Music, West Side Story, My Fair Lady, Fiddler on the Roof, Camelot ฯลฯ ฯลฯ

สมัยนี้ ความนิยมจางหายไปมาก แม้ว่าจะยังมีมิวสิเคิลบนเวทีละครให้ดูกันเป็นโปรแกรมยืนพื้นในนิวยอร์กและลอนดอน แต่บนจอภาพยนตร์จะมีเพียงนานทีปีหนที่โฉบมาให้ดู

หลังจาก La La Land เมื่อปลายปี 2559 ก็เพิ่งจะได้ดูหนังมิวสิเคิลแบบอลังการขณะนี้แหละค่ะ

แฟนมิวสิเคิลจึงไม่ควรพลาดการชมให้เต็มตาบนจอใหญ่ เพราะอารมณ์ผิดกันเยอะเมื่อเทียบกับการดูบนจอทีวี ต่อให้จอกว้างจอแบนสักแค่ไหนก็ตามเถอะฮิว แจ๊กแมน ทั้งร้องทั้งเต้นทั้งแสดง พิสูจน์ความสามารถในฐานะนักร้องและนักแสดงอย่างไม่มีข้อสงสัย

เรื่องราวของ ฟีเนียส บาร์นัม เริ่มตั้งแต่เขายังเป็นเด็กน้อยลูกช่างตัดเสื้อ ที่ติดสอยห้อยตามพ่อไปให้บริการตามบ้านของผู้ดีมีอันจะกิน ได้พบเด็กหญิงชื่อ แชริตี้ ซึ่งเป็นลูกสาวเจ้าของบ้าน เด็กสองคนถูกชะตากันในทันที แม้ว่าแชริตี้จะถูกส่งตัวไปอยู่โรงเรียนประจำเยี่ยงกุลสตรี แต่ฟีเนียสยังคงเขียนจดหมายติดต่ออยู่ตลอด

ตราบจนเมื่อเติบใหญ่ในพริบตากลายเป็นฟีเนียสกับแชริตี้ ที่รับบทโดย ฮิว แจ๊กแมน กับ มิเชลล์ วิลเลียมส์ ทั้งสองก็ตัดสินใจร่วมชีวิตกัน มิไยที่พ่อของหญิงสาวจะไม่เห็นด้วยเลย แต่ขัดใจลูกสาวไม่ได้ ทั้งคู่เดินออกจากคฤหาสน์อัครฐานไป พร้อมด้วยคำมั่นสัญญาจากฟีเนียสว่าจะทำให้ภรรยามีทุกสิ่งทุกอย่างเทียมหน้าเทียมตาคนอื่น

เวลาหลายปีจึงผ่านไปได้ในเพลงเพลงเดียว และหนุ่มสาวก้าวเข้าสู่ชีวิตแต่งงานที่เต็มไปด้วยความรักและเสียงหัวเราะของลูกสาวสองคน แต่ยังคงอยู่ในความยากจน ด้วยอาชีพเสมียนของสามี

แต่ฟีเนียสผู้เต็มไปด้วยจินตนาการและหัวธุรกิจไม่ยอมหยุดตัวเองอยู่แค่นั้น เขาฉวยโอกาสทางธุรกิจเท่าที่ทำได้ และเปิดตัวพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งที่รวบรวมสิ่งประหลาดพิสดารกลางมหานครนิวยอร์ก

และล้มลุกคลุกคลานอยู่ในธุรกิจนี้ ก่อนที่จะพบว่าข้าวของที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์นั้นไร้ชีวิตและไร้แรงดึงดูดผู้คนจำนวนมาก

เขาจึงแตกแขนงไปในธุรกิจใหม่ นั่นคือ วงการบันเทิง ซึ่งรวบรวมผู้คนพิสดารแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นั่นคือสรรหาผู้คนที่หลบหน้าซ่อนตัวอยู่ในเงามืดเนื่องจากความอับอายที่เกิดมาผิดแผกจากคนปรกติ

มีทั้งหญิงสาวที่มีหนวดเคราเฟิ้ม แต่ร้องเพลงได้แสนไพเราะเสนาะโสต ชายหนุ่มร่างแคระแกร็นที่เขาจับมาใส่เครื่องแบบนายพล โดยตั้งชื่อว่า “ทอม ธัมบ์” (หมายความว่า ทอมที่มีขนาดตัวเท่าหัวแม่มือ) ชายร่างสูงเป็นยักษ์ปักหลั่น ฯลฯ ฯลฯ (อินและจัน ที่ทำให้คนทั้งโลกเรียกแฝดที่ตัวติดกันว่า “แฝดสยาม” ก็เคยแสดงร่วมกับคณะของ พี.ที. บาร์นัม)

โชว์ของฟีเนียสประสบความสำเร็จในหมู่ผู้ชม ขายตั๋วไปเป็นเทน้ำเทท่า และสร้างความสุข รอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้คนดู แต่กลับถูกสับเละจากนักวิจารณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าไร้รสนิยมและเอารัดเอาเปรียบคนพิการและด้อยโอกาสโดยนำมาประจานในที่สาธารณะ

ซึ่งทำให้ฟีเนียสต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองต่อไป ด้วยการจ้างนักเขียนที่เป็นที่ยอมรับในสังคมมาร่วมงานด้วย ซึ่งใช้เส้นสายติดต่อจนได้รับคำเชิญจากพระราชินีวิกตอเรียของอังกฤษให้ไปแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง

ในตอนที่ ทอม ธัมบ์ ได้รับการเบิกตัวเข้าเฝ้า ควีนวิกตอเรียทรงปรารภว่า “คุณตัวเล็กกว่าที่ฉันนึกไว้เสียอีก” แต่เจ้าตัวเล็กจอมแสบก็สวนกลับทันควันว่า “แหม พระองค์ก็ไม่ได้ว่าจะเอื้อมถึงหิ้งชั้นบนสุดได้นี่นา”

เป็นที่รู้กันว่าควีนวิกตอเรียทรงมีพระวรกายไม่สูงเลย ถ้อยคำนี้ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องบอกว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ทว่าหลังจากที่ทุกคนนิ่งงันกันไปอึดใจใหญ่ๆ อย่างไม่คาดคิด ควีนก็ทรงใจกว้างพอที่จะหัวเราะขันมุขอันสะท้อนถึงความเสมอภาคแบบอเมริกันนี้

ความพยายามของฟีเนียสที่จะได้รับการยอมรับจากสังคมทำให้เขาเชิญนักร้องโอเปราสาวสวยชาวสวีเดนไปเปิดการแสดงที่นิวยอร์ก และเดินสายทัวร์กับเขาด้วย เธอชื่อ เจนนี ลินด์ (รีเบ็กกา เฟอร์กูสัน) ซึ่งได้รับฉายาว่า “นกไนติงเกลจากสวีเดน”

เฟอร์กูสันมีเพลงเด่นในหนังชื่อเพลง “ไม่เคยพอ” (Never Enough) ซึ่งสะท้อนตัวตนและความต้องการของฟีเนียสด้วย

“ผู้หญิงมีหนวด” (คีลา เซตเทิล) ก็มีเพลงเด่นในเรื่อง ชื่อเพลง “นี่คือฉัน” (This Is Me) ซึ่งสะท้อนความหมายของสิ่งที่ฟีเนียสกระทำให้แก่คนพวกที่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจและอับอายที่จะออกมาใช้ชีวิตในสังคม

ดังนั้น หนังจึงให้ข้อโต้แย้งแก่ผู้คนที่วิจารณ์ฟีเนียสว่าเอารัดเอาเปรียบคนด้อยโอกาสและนำตัวประหลาดออกมาประจานให้เป็นที่ขายหน้า โดยเน้นในเรื่องที่เขาทำให้คนพวกนี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ต้อนรับโดยไม่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป

มีฉากที่ออกแบบท่าเต้นได้อย่างสวยงามน่าประทับใจฉากหนึ่งคือ ฉากที่เป็นเพลงระหว่างหนุ่มสาวที่มาจากชนชั้นต่างกัน ฟิลลิป คาร์ไลล์ (แซ็ก เอฟรอน) หนุ่มลูกผู้ดี มาหลงรักนักกายกรรมสาวที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า (เซนดายา) โดยใช้การออกแบบท่าเต้นในระหว่างกายกรรมเหินขึ้นไปกลางอากาศ…พูดสั้นๆ ว่า สวยค่ะ

จุดอ่อนของหนังน่าจะอยู่ที่พล็อตซึ่งไม่ค่อยโดนใจ แคแร็กเตอร์ก็ไม่ค่อยน่าเชื่อ ไม่เหมือนเป็นเรื่องราวในชีวิตของบุคคลจริง หนังสร้างเหมือนจะส่งให้ พี.ที. บาร์นัม ดีจนเลอเลิศเป็นพระเอกไปหน่อย มีการหลงทางบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเตลิดเปิดเปิง

คนชอบหนังเพลง ก็ไปดูเถอะค่ะ เพลงเพราะมาก และโปรดักชั่นเข้าขั้น ให้ความเพลิดเพลินเจริญใจและมีความสุขตลอดความยาวที่มีขนาดสั้นกว่ามิวสิเคิลส่วนใหญ่ค่ะ