ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 เมษายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
สําหรับประชาชนคนธรรมดาทั่วไป เทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านพ้น คือ โอกาสในการออกเดินทาง
บ้างเดินทางกลับบ้านเกิดภูมิลำเนา บ้างออกเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัวมิตรสหาย
แต่สำหรับคนเป็น “นักการเมือง” การเดินทางในช่วงสงกรานต์ของพวกเขา ย่อมหลีกหนีจาก “การทำงานการเมือง” ไปไม่พ้น
ในเทศกาลสงกรานต์ 2567 เราได้เห็นการเดินทางสามสายหลักๆ ของนักการเมืองคนสำคัญในประเทศนี้
สายแรก อดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” ที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ได้หวนกลับไปบ้านเกิดจังหวัดเชียงใหม่อีกหน
เช่นเคย การเดินทางสู่เชียงใหม่ของทักษิณ ไม่ใช่แค่การไปฉลองปีใหม่ไทยกับญาติสนิท หากเป็นการโชว์บารมี-สำแดงอิทธิพลทางการเมืองอีกครั้ง ด้วยการส่งคลื่นพลัง “แรงดึงดูด” อันยากขัดฝืน ชักนำรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเกือบครบชุดให้ต้องขึ้นเหนือไปพบ “ผู้มีบารมีสูงสุดตัวจริง” ของพรรค
ท่ามกลางกระแสข่าวการปรับ ครม. โดยเฉพาะในโควต้าส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงวันหยุดยาวพอดี
พูดอีกแบบได้ว่า นัยยะสำคัญของการเดินทางสายนี้ อาจไม่ได้อยู่ที่ “ทักษิณเดินทางขึ้นเชียงใหม่” มากเท่ากับ “ใครบ้างที่เดินทางติดตามขึ้นไปพบทักษิณ”
สายถัดมา ซึ่งแบ่งแยกออกเป็นสองสายย่อยหรือการเดินทัพสองทาง คือ การเดินทางของพรรคก้าวไกล โดยให้ “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคนำทีมคาราวานส่วนหนึ่งเดินทางล่องภาคเหนือ ส่วน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ ก็นำคาราวานอีกกลุ่มไปตระเวนภาคอีสาน (โดยที่พิธาแว้บไปเล่นน้ำแถวภาคเหนือก่อนด้วย)
ภาพเปรียบเทียบที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ ถ้าทักษิณเดินทางไปตั้งหลักที่เชียงใหม่ เพื่อดึงดูดให้บรรดารัฐมนตรีเพื่อไทยตามขึ้นไปพบ
นักการเมืองหนุ่มสาวของก้าวไกลกลับเดินทางออกไปหาและ “เล่นน้ำ” กับประชาชนจำนวนมหาศาลอย่างเป็นกันเอง
สายสุดท้าย ได้แก่ การเดินทางไปหัวหินของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งมีอยู่สองจุดมุ่งหมาย จุดหมายแรกคือการไปพักผ่อนจริงๆ กับครอบครัว อีกจุดหมายหนึ่งคือการได้โอกาสไปพบปะทักทายประชาชน-นักท่องเที่ยวแถบนั้น บวกด้วยการเปลี่ยนบรรยากาศไปตั้งโต๊ะแถลงข่าวริมทะเล
นี่คือการเดินทางที่ “เป็นตัวของตัวเอง” แม้ต้องยอมรับว่าหัวหินอาจมิใช่ชัยภูมิสำคัญในสนามการเมือง เท่ากับจังหวัดใหญ่ๆ ในภาคอีสาน หรือเชียงใหม่ที่ภาคเหนือ
ยังไม่มีใครให้คำตอบฟันธงได้อย่างแน่ชัดว่า การเดินทางรูปแบบไหน (ในสามสายนี้) ที่จะสร้างสัมฤทธิผลสูงสุดทางการเมือง?
หรือเอาเข้าจริง อาจต้องถามให้ลึกซึ้งอีกระดับว่า การเดินทางแบบไหนที่จะสร้างความสำเร็จหรือถักทอพลังทางการเมืองได้อย่างยั่งยืนมากกว่ากัน?
อีกประเด็นที่น่าคิด คือ มีอะไรที่น่าเสียดายไหม? เมื่อมองภาพรวมของ “การเดินทางทางการเมือง” สามสายข้างต้น
เรื่องแรกที่รู้สึกเสียดายแทน ก็คือ ในขณะที่ทั้งทักษิณ-เพื่อไทย และก้าวไกล ต่างโฟกัสการเดินทางของตัวเองไปยังภาคเหนือและภาคอีสาน
ทว่า กลับไม่มี “ผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมือง” คนไหนในปัจจุบัน ที่เดินทางลงภาคใต้เลย และปล่อยให้นักการเมืองเจ้าของพื้นที่อย่างประชาธิปัตย์-รวมไทยสร้างชาติ เดินสายพบปะประชาชนกันไป
น่าเสียดายเพราะใครๆ ต่างก็รู้ว่า “สนามเลือกตั้งภาคใต้” นั้นเปลี่ยนแปลงไปในการเลือกตั้งสองครั้งหลัง กล่าวคือ “ประชาธิปัตย์ในฐานะสถาบันการเมือง” หรือลัทธิบูชาบุคคล เช่น “นายหัวชวน” ไม่เข้มขลังเหมือนเดิม
โดยผู้มีบารมีรายใหม่ที่เข้ามากร่อนเซาะฐานที่มั่นเก่าแก่ดังกล่าว คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และพรรค “พลังประชารัฐ/รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็น “อนุรักษนิยมกว่า-ขวากว่า”
ในยุคสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ วางมือจากการเมือง หมายความว่า “สนามเลือกตั้งภาคใต้” ได้กลับมาเปิดกว้างอีกหน จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายว่า ยังไม่มี “นักการเมืองใหญ่ๆ” ที่เหลืออยู่ พยายามเข้าไปบุกเบิกพื้นที่ตรงนี้อย่างจริงจัง ในเทศกาลสงกรานต์ 2567
ที่น่าเสียดายมากขึ้น ก็คือ เมื่อนายกรัฐมนตรีอุตส่าห์ไปตั้งหลักที่หัวหินแล้ว ถ้าลองเดินทางลงใต้ไปอีกสักหน่อย ก็อาจเป็นการเพิ่มหรือสำรวจคะแนนนิยมใน “พื้นที่สุญญากาศ” บริเวณนี้ได้อย่างน่าสนใจ
เรื่องที่สองที่หลายคนตั้งข้อสังเกตตรงกัน คือ การหายไปของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย “แพทองธาร ชินวัตร” (ซึ่งเข้าใจว่าไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัวกับครอบครัว)
เดิมที โปรเจ็กต์ “เทศกาลสงกรานต์ 21 วัน” ในรอบนี้ ดูจะผูกติดกับ “แบรนด์ใหม่ทางการเมือง” ของแพทองธาร ในฐานะหัวขบวนของคณะทำงานเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ อย่างแนบแน่น
แต่ท่ามกลางความคึกคักสนุกสนานที่ดำเนินไปในเดือนเมษายน บทบาท-ตัวตนของ “อุ๊งอิ๊ง” กลับค่อยๆ จมหายลงอย่างน่าเสียดาย
นอกจากนั้น ถ้ามองไปทั่วพรรคเพื่อไทยแล้ว ผู้นำที่มีศักยภาพจะพานักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ออกตระเวน “เล่นน้ำ” กับประชาชนได้อย่างออกรสออกชาติแบบที่ก้าวไกลทำ ก็มีแค่ “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร”
อย่างไรก็ตาม พอหัวหน้าพรรค “เฟด” ตัวเองไป ศักยภาพด้านนี้ของเพื่อไทยก็พลอยสูญหายตามไปด้วย •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022