วงค์ ตาวัน : อีก 11 เดือน

วงค์ ตาวัน

แม้จะไม่มีใครมั่นใจว่าประเทศไทยเราจะกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยปกติ ในช่วงปลายปีนี้อย่างแน่นอนหรือไม่ ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แถลงเอาไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้

กระนั้นก็ตาม เมื่อถือเป็นคำสัญญา ก็ต้องยึดตามโรดแม็ปดังกล่าวอย่างไม่เป็นอื่น

“ประมาณว่าอีก 11 เดือนจากนี้ เราน่าจะมีการเลือกตั้งเสียที หลังจากที่ชาติบ้านเมืองเราตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลทหารมายาวนาน 4 ปีแล้ว”

ตลอด 3-4 ปีมานี้ สำหรับคนที่เชียร์การล้มรัฐบาลประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งย่อมรู้สึกมีความสุข ที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความสงบ ไม่เห็นนักการเมืองที่ตนเองเกลียดชังมีบทบาทใดๆ ได้

แต่กองเชียร์ล้มประชาธิปไตยอีกส่วนเริ่มมีปัญหา เพราะแนวนโยบายหลายประการของรัฐบาล คสช. ไม่ได้เป็นไปตามที่พวกตนเองคาดหวัง ที่พูดจาปราศรัยกันเอาไว้บนเวทีนกหวีด ว่ารัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เลวทราม ชั่วช้าต่างๆ นานา ปรากฏว่าหลายแนวทางเหล่านั้น กลับดำเนินต่อไป โดยรัฐบาลทหารที่พวกตนเองร่วมเป่านกหวีดเชื้อเชิญเข้ามา

อีกทั้งธุรกิจการค้าของคนที่ไปร่วมเป่านกหวีดอย่างเอาเป็นเอาตาย กลับได้รับผลกระทบ ตกอยู่ในสภาพฝืดเคือง

เป็นไปตามธรรมชาติของช่วงรัฐบาลจากรัฐประหาร ย่อมต้องถูกนานาชาติรังเกียจ ส่งผลให้การค้าการลงทุนชะงักงัน บานปลายไปถึงปากท้องของชาวบ้าน

“คณะรัฐประหารรุ่นพี่ๆ เขาจึงยึดอำนาจอยู่แค่ปีเดียวแล้วรีบถอยออกไป เพราะรู้ดีว่าไม่สามารถแบกรับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้!”

แต่ชุดนี้ ไปคิดเอาเองว่า ต้องไม่เสียของ เลยตั้งอยู่ยาวถึง 4-5 ปี ทีนี้ความอดอยากเลยแผ่กว้าง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมไม่ลื่นไหล ตัวเลขเงินคงคลังก็เริ่มแกว่ง

ทั้งปัญหาแนวทางการดำเนินนโยบายของระดับรัฐ และทั้งผลลบทางธุรกิจ ทำให้แนวร่วมร่วมโค่นทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เริ่มขัดแย้งกันเองมากขึ้นๆ

ซึ่งประเมินกันว่า สภาพการณ์ที่เริ่มขัดแข้งขัดขาในหมู่คนกันเอง น่าจะสอดคล้องกับโอวาทของป๋าเปรม ที่กล่าวกับ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐบาล คสช. ในช่วงปีใหม่ที่ว่า กองหนุนใกล้หมดแล้ว

เริ่มหมดกองหนุน ก็ยิ่งทำให้รัฐบาล คสช. ขาดความมั่นใจในศึกเลือกตั้งข้างหน้า

กล่าวสำหรับคนที่มีจุดยืนชัดเจน ต่อต้านการล้มประชาธิปไตย ไม่ยอมรับการยึดอำนาจของทหาร ย่อมมองช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ว่าเป็นช่วงแห่งการเสียเวลาของบ้านเมือง ทุกอย่างชะงักงันกระทั่งถอยหลังเข้าถ้ำ

คนที่ยึดมั่นในระบบ มากกว่ายึดถือตัวบุคคล ย่อมเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองระบบเดียว ที่เปิดให้ประชาชนมีอำนาจและมีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากที่สุด

แน่นอนว่าประชาธิปไตยย่อมมีปัญหาข้อขัดแย้ง คิดแตกต่าง เพราะเปิดกว้างสำหรับกลุ่มความคิดอุดมการณ์หลากหลาย

ประชาธิปไตยไม่ใช่ความสงบเรียบร้อย แต่เปี่ยมด้วยเสรีภาพ และความเสมอภาค

“ไม่ว่าจะยากดีมีจน วันที่เดินเข้าคูหาเพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง มี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน”

ประชาธิปไตยอาจเละเทะ เพราะนักการเมืองที่หิวโหย คอร์รัปชั่น แต่ประชาธิปไตยทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ย่อมสร้างประชาชนให้เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ร่วมพัฒนาการเมืองให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ อย่างมั่นคงยั่งยืน

“คนที่เชื่อในประชาธิปไตย ก็คือคนที่เชื่อในประชาชนคนส่วนใหญ่!”

ในทางตรงข้าม คนที่ไปร่วมออกบัตรเชิญทหารให้เข้ามายึดอำนาจ เพื่อล้มระบบนักการเมืองโกงกินนั้น

คือคนที่เชื่อในอัศวินม้าขาวเพียงไม่กี่คน ปลาบปลื้มกับฮีโร่ยุคโบราณ ไม่เคยเชื่อมั่นประชาชนคนส่วนใหญ่ แถมพวกนี้ก็แสดงออกตอนร่วมเป่านกหวีด กล่าวหาประชาชนชนบทไม่มีความรู้ เลยถูกนักการเมืองซื้อเสียงได้

พวกนี้ไม่เชื่อประชาชน รวมทั้งไม่เชื่อมั่นในตัวเองด้วยซ้ำ เพราะต้องการการเปลี่ยนแปลงด้วยการสยบยอมให้คนกลุ่มเดียวเข้ามายึดอำนาจ และเอาอำนาจทั้งหมดไปดำเนินการกันเอง โดยคนส่วนใหญ่ รวมทั้งตัวเองก็ไม่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องได้เลย

คนรุ่นก่อนเก่า อุตส่าห์ล้มเผด็จการเพื่อได้ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ กลับไม่เอา บอกว่าระบบนี้ทำให้นักการเมืองโกงกินได้ พวกเรารังเกียจการเมืองชั่ว พวกเราเลยไม่ขอร่วมมีอำนาจดีกว่า

“พวกเราเกลียดพวกไร้คุณธรรม ดังนั้นพวกเราขอยกอำนาจไปให้คนดีหยิบมือเดียวไปจัดการบริหารทั้งหมด พวกเราพร้อมก้มหัว นั่งรอรัฐบาลของคนหยิบมือเดียวสั่งให้ซ้ายหันขวาหันไปเรื่อยๆ ก็ได้!?!”

ดังนั้น ข้ออ้างที่ดูหรูหรา ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ยังไม่ต้องมีเลือกตั้งก็ได้ จึงทำให้ประเทศเราว่างเว้นจากระบบที่ประชาชนสามารถมีอำนาจการเมืองได้มานานถึง 3-4 ปีแล้ว

และสำหรับคนที่ต่อต้านเผด็จการ ก็มองเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า เพียงแค่ข้ออ้างให้รัฐบาลที่เข้ามายึดอำนาจอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

ส่วนพวกที่เชื่อในวันเป่านกหวีดว่า ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

ถ้าไม่ใช่คนโกหกตัวเอง ย้อนมองดูตลอด 3 ปีที่ผ่านมาและกำลังจะครบ 4 ปี อย่างถี่ถ้วน

แล้วถามตัวเองว่า มีอะไรบ้างที่ปฏิรูปและก้าวหน้าขึ้นมาบ้าง!??

อีก 11 เดือนจากนี้ ควรจะถึงเวลาคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้เสียที หลังจากที่คนกลุ่มเดียวเอาอำนาจทั้งหมดไปไว้กับกลุ่มตนเองมา 3-4 ปี อย่างน้อยก็จะทำให้ความเป็นประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพตามปกติได้กลับมาอีกครั้ง

บรรยากาศจะเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจการค้าจะฟื้นฟู

เพียงแต่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเขียนทุกอย่างเพื่อให้การเมืองถูกกดทับเอาไว้ จะทำให้หลังจากได้ประชาธิปไตยกลับมาก็ไม่สดใสเหมือนเดิม หากแต่จะเดินหน้าไปอย่างทุลักทุเลอีก โดยเปรียบกันว่าคือระเบิดเวลาลูกใหญ่

“ไปถึงอีกจุดหนึ่ง อาจมีการระเบิดอย่างรุนแรงขึ้นมาอีกรอบ!”

ไม่เพียงรัฐธรรมนูญที่จะสร้างปัญหาอีกต่อไปในอนาคต แต่ยังมีการจัดวางทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งหน้า มีนายกฯ ที่มาจากคนนอก

ด้วยข้ออ้างที่ว่า ภารกิจปฏิรูปก่อนเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องมีคนนอกมาคุมการเมืองเพื่อให้ภารกิจปฏิรูปสานต่อได้

“แต่นับวันเริ่มมีข้อสงสัยกันมากขึ้นว่า ตั้งแต่เริ่มก่อม็อบเป่านกหวีด ก็คือแผนการชิงอำนาจการเมือง ของกลุ่มอำนาจดั้งเดิมที่สูญเสียอำนาจให้กับนักการเมืองมายาวนานแล้ว”

พอผ่านไป 3-4 ปี ก็ยังตั้งใจจะสืบทอดอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหารนั้นให้ยาวนานต่อไป ผ่านการมีนายกฯ คนนอก

การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เริ่มมีข้อสงสัยว่า อาจเป็นแค่วาทกรรม เพื่อปูทางให้กลุ่มอำนาจฝ่ายเก่า ฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง เข้ามาช่วงชิงอำนาจจากฝ่ายเลือกตั้งเท่านั้นเอง

“ทั้งนี้ เพราะกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มขุนศึกขุนนาง ไม่สามารถเข้าสู่อำนาจภายใต้ระบบประชาธิปไตยปกติได้ ต้องอาศัยการยึดอำนาจ และการสืบต่อด้วยนายกฯ ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง”

แต่วันนี้ที่เริ่มลังเลกันในคนกลุ่มนี้ก็คือ แม้จะวางอะไรต่อมิอะไรไว้ยุ่บยั่บแล้ว ยังไม่อาจมั่นใจในผลการเลือกตั้งได้ว่า พรรคการเมืองในเครือข่ายตนเองจะสามารถเอาชนะพรรคการเมืองเก่า โดยเฉพาะพรรคเครือข่ายทักษิณได้หรือไม่

นี่จึงทำให้วันเวลาเลือกตั้งเริ่มคลุมเครือ

ยิ่งเมื่อยิ่งลักษณ์ ที่หายตัวไปตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เริ่มเปิดตัวในอังกฤษในช่วงใหม่ ทำให้เริ่มประเมินกันว่า เป็นการเริ่มจังหวะก้าวเพื่อรับการเลือกตั้งในปีนี้ก็เป็นได้

“ชักหวั่นกันว่า เมื่อเข้าช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หากทักษิณและยิ่งลักษณ์ร่วมเคลื่อนไหวปลุกคะแนนของพรรคตรงข้ามอำนาจทหาร อะไรจะเกิดขึ้น!?”

นี่ยิ่งทำให้ฝ่ายกุมอำนาจปัจจุบัน ต้องคิดหนักกับวันเลือกตั้ง

แต่ไม่ว่าใครจะเล่นเกมชิงอำนาจกับใครก็ตาม

ประชาธิปไตยต้องกลับคืนมา เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจและร่วมพัฒนาการเมืองด้วยมือคนส่วนใหญ่