สงครามครั้งสุดท้าย ก้าวไกลติด ‘เทอร์โบ’ ก้าวพ้น ‘เทอร์โบ๋’

คดียุบพรรคยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่ก็กล่าวเปิดใจลาไปเรียบร้อย สำหรับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้นำพรรคก้าวไกลสร้างประวัติศาสตร์เอาชนะการเลือกตั้ง

นายพิธาเริ่มต้นการพูดความในใจในศึกอภิปรายตาม ม.152 เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ถูกวางตัวไว้เป็นผู้อภิปรายคนสุดท้ายว่า ตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา ไม่เคยเสียใจเลยที่ไม่ได้เป็นพวกที่ได้บริหาร ถึงแม้จะชนะเลือกตั้ง สามารถรวบรวมเสียงได้ 312 เสียง ก็ไม่ได้น้อยไปกว่า 314 เสียงที่รัฐบาลมี ไม่เคยเสียใจด้วยที่มาเป็นฝ่ายค้าน

นายพิธาระบุว่า การอภิปรายในครั้งนี้ อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมืองของตน ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องความลับอะไร ทุกคนทราบดีว่าชีวิตทางการเมืองตอนนี้แขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่พร้อมที่จะเดินจากไปอย่างผู้ชนะ ไม่ได้มีอะไรติดค้างใจต่อไป

การเปิดใจของนายพิธาในลักษณะรู้ตัวว่าจะเป็นการพูดอภิปรายครั้งสุดท้ายในสภา ไม่ใช่เรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิด

นั่นเพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการที่พรรคก้าวไกลพูดเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครอง ทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังรับคำร้องให้ยุบพรรคที่ กกต.ยื่นคำร้องสัปดาห์ก่อน

ทุกอย่างดำเนินตามไทม์ไลน์แบบเป๊ะๆ ตามที่คอการเมืองพูดกันแบบไม่มีพลิกโผ

 

หากย้อนไปช่วงนี้ของปีที่แล้ว คงไม่มีใครเชื่อว่าเรื่องนี้จะ “เกิดขึ้น” แต่วันนี้ กลับกัน น้อยคนที่จะไม่เชื่อว่าจะ “ไม่” เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงชีวิตการเมืองจะแขวนบนเส้นด้าย แต่นายพิธาก็ย้ำผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า การยุบพรรคการเมืองคือการทำร้าย “ระบบ” ยิ่งทำให้ประชาธิปไตยไร้ประสิทธิภาพ แม้จะเป็นพรรคการเมืองตรงข้ามกัน วันนี้ก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับการยุบพรรคแล้ว

นายพิธายังเรียกร้องให้รักษาระบบ รักษาพื้นที่ในการต่อสู้ต่อรองทางการเมืองไว้ พร้อมชวนให้คิดว่า การเดินหน้ายุบพรรคก้าวไกลที่ผู้มีอำนาจมองว่าเป็นการทำให้ฝ่าย “ก้าวหน้า” อ่อนแอ อาจจะได้ผลในระยะสั้นจริง

แต่ในระยะยาว หรือในการเลือกตั้งครั้งหน้า มันคือ “เทอร์โบ” ชั้นดีในการชนะเลือกตั้ง อย่าลืมว่ามันคือการติดเทอร์โบให้กับพวกเราเหมือนกัน

ในสถานการณ์ปกติ สิ่งที่นายพิธาพูดอาจจะดูเหมือนเป็นการให้กำลังใจตัวเอง แต่ในบริบทที่การยุบพรรค ตัดสิทธิประหารชีวิตทางการเมืองเคยเกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ ส่งผลในการเลือกตั้งปี 2566 ตอกย้ำว่า สิ่งที่นายพิธาพูด “อาจจะไม่เกินจริง”

 

ยิ่งย้อนไปในคราวยุบพรรคไทยรักไทย หรือคราวยุบพรรคพลังประชาชน หรือเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย หรือจะเป็นการทำรัฐประหารพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2557 ยิ่งตอกย้ำว่า ฝ่ายอำนาจเก่าใช้เครื่องมือทางลัดประหารชีวิตทางการเมืองต่อ “การเมือง” ในระบอบประชาธิปไตย ไม่เคยประสบความสำเร็จ

แน่นอนในระยะสั้นอาจได้ผล แต่ในระยะยาวส่งผลเสียทางการเมืองมหาศาลต่ออำนาจ “อนุรักษนิยม” การเลือกตั้งครั้งหลังๆ คือตัวอย่าง

3 ป. เข้าใจเรื่องนี้ดี จากการแพ้ไม่เป็นท่า ไม่ได้รับการยอมรับจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และ 2566 แต่โชคดีที่เป็นผู้ออกแบบกระบวนการและกติกาทางการเมืองไว้ จึงยังเข้าสู่ “อำนาจ” ได้บ้างแต่ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

จนวันนี้ขั้วอำนาจเก่าตัดสินใจยอมจับมือกับ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ผลักพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน นับเป็นการเริ่มต้นสนามแข่งขันทางการเมืองครั้งใหม่ ระหว่าง 3 ขั้วอำนาจใหม่ ฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายอนุรักษนิยมจารีต และเครือข่ายบ้านใหญ่ที่นำโดยตระกูลชินวัตร

ไม่ต้องแปลกใจถ้าทักษิณจะปรากฏจุดยืน ประกาศออกตัวในงานวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ของพรรคเพื่อไทย ว่าเพื่อไทยไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยมใหม่ แต่เป็นพรรคของการ “Reform” เป็นพรรคแห่งการเป็น “ผู้นำการปฏิรูป” พร้อมการันตีเศรษฐา ทวีสิน คือนายกฯ ตัวจริง จากผลงานการเป็นผู้บริหารมากประสบการณ์

ทั้งยังมั่นใจในสถานการณ์เป็นรองทางการเมือง แพทองธาร ชินวัตร จะเป็นตัวพลิกเกมทางการเมืองสำคัญของพรรคเพื่อไทย

 

ยุทธศาสตร์และการแสดงจุดยืนอย่างเร่งด่วนนี้ของทักษิณ ที่จริงคือส่วนหนึ่งของการเปิดเกมรุกทางการเมืองตามแบบฉบับเพื่อไทย

ในสถานการณ์ที่พรรคก้าวไกลและแกนนำพรรคคนรุ่นใหม่ แขวนอยู่บนเส้นด้าย จะมีอะไรดีกว่าการประกาศตัวเองเป็นความหวังใหม่ด้วยการแสดงทรัพยากรบุคคลที่เพียบพร้อม การันตีด้วยผลงานในอดีตแบบฉบับไทยรักไทย

การปล่อยภาพเล่นน้ำกับหลานๆ ของนายทักษิณในช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์เช่นนี้ ก็เพื่อตอกย้ำความ “เป็นปกติ” ของนายทักษิณได้กลับมาแล้ว พร้อมเปิดพื้นที่สู้ใหม่ในโลกโซเชียลที่ถูกมองว่า ก้าวไกลครองพื้นที่มายาวนาน

กระแสบวกต่อนายทักษิณเกิดขึ้นต่อเนื่อง นอกจากได้รับการพักโทษต่อเนื่องจากการรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ จนไม่ต้องเข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียว ล่าสุด อัยการเลื่อนฟ้องคดี ม.112 อีก ยิ่งสร้างความเชื่อมั่น ฮึกเหิม ให้กับกองทัพเพื่อไทย

การที่นายเศรษฐาประกาศในที่ประชุมใหญ่สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่จากนี้ไปจะใช้ผลงานเป็นตัวพิสูจน์ และจะต่อสู้นำเพื่อไทยให้ชนะเลือกตั้งครั้งหน้าให้ได้ นั่นก็คืออีกหนึ่งท่าที ตอบโต้ การประกาศชัยชนะของ “นายพิธา” ไม่กี่วันก่อนหน้า

ทั้งหมดคือการต่อสู้ช่วงชิงความหมายในทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

เข้มข้นแม้จะเป็นสัปดาห์แห่งช่วงเทศกาลวันหยุด เพียงแต่เป็นจังหวะเวลาแห่งความหวังของเพื่อไทยที่จะเร่งสร้างผลงาน กอบกู้ศรัทธากลับคืนมา

แต่เป็นจังหวะเวลาอันเลวร้ายของพรรคก้าวไกลและนายพิธา ที่วันนี้ทำได้เพียงนับถอยหลังการถูก “เขี่ย” ออกจากสมการอำนาจ

 

สภาวะทางการเมืองของพรรคก้าวไกลวันนี้เป็นสภาวะที่ไกลเกินกว่าจะเรียก “นิติสงคราม” แต่ก้าวเข้าสู่สนามแห่งการ “ล้อมปราบด้วยกฎหมาย” แล้ว

ไม่ใช่สภาวะแห่งการแข่งขันบนกติกาที่ “แฟร์” แต่เป็นกติกาที่กำหนดขี้นมาเพื่อรักษาประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง ทำลายคนอีกกลุ่มหนึ่ง

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ต้องยอมรับว่าการอภิปรายที่ผ่านมา ส.ส.พรรคก้าวไกลรักษามาตรฐานที่สร้างไว้ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ได้ดี

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เงินดิจิทัล เรื่องการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญ การทำประชามติ เรื่องสังคมอย่างการปฏิรูปตำรวจ การเกณฑ์ทหาร การจัดซื้ออาวุธกองทัพ การปฏิรูปการศึกษา

หลายคลิปการอภิปรายของพรรคก้าวไกล วนเวียนอยู่ในโซเชียล ด้วยข้อมูลและการตั้งคำถามที่แหลมคม

ผิดกับฝั่งรัฐบาลที่เหลือเพียงคลิปการประท้วง มีรัฐมนตรีไม่กี่คนที่ชี้แจงและได้รับการยอมรับว่าเตรียมข้อมูลมาตอบคำถามฝ่ายค้านได้ดี

“เราชกสุดหมัด…” คือคำกล่าวของนายพิธา ต่อแนวทางการทำงานการเมืองนับจากนี้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ “สงครามครั้งสุดท้าย”

 

ยังมีสนามทางการเมืองสำคัญอีก 2 สนามในระยะใกล้นี้

สนามแรกคือการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ ที่คณะก้าวหน้า เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล เดินเครื่องขับเคลื่อนทางความคิดอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งสนามประลองกำลังของขั้วอำนาจเก่า และขั้วอำนาจใหม่

อีกสนามคือการเลือกตั้งนายก อบจ. เวทีท้องถิ่นที่ถูกครอบงำด้วยบ้านใหญ่มายาวนาน ที่คณะก้าวหน้าแพ้เลือกตั้งไปครั้งก่อนจะเก็บบทเรียนมาแก้มือในครั้งนี้ได้หรือไม่

นั่นคือความท้าทายทางการเมืองที่รออยู่ แม้พรรคก้าวไกลถูกคาดการณ์ว่าจะถูกยุบเร็วๆ นี้ก็ตาม

พาให้นึกถึงคำพูดของพิธา ช่วงหาเสียงที่ว่า “ใหญ่กว่าคนคือพรรค ใหญ่กว่าพรรคคือประชาชน”

ในความหมายที่พิธาต้องการจะสื่อเวลานั้นคือ เขาและเพื่อนๆ กำลังสร้างให้พรรคก้าวไกลเป็นพรรคของประชาชน

แล้วพิธาก็ทำสำเร็จ พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

วันนี้ ไม่รู้ว่าพิธาทำสำเร็จหรือไม่ พรรคก้าวไกลเป็นพรรคของประชาชนหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ คือการจัดการกับพรรคก้าวไกลด้วยวิธีคิดแบบเดิมที่เคยใช้จัดการพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และอนาคตใหม่

สงครามครั้งสุดท้ายอาจเกิดขึ้นจริงกับพรรคก้าวไกล แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ “สิ่งใหม่”

“สิ่งใหม่” ที่จะคอยตั้งคำถาม ไปจนกระทั่งแสดงการต่อต้านต่อ “ขั้วอำนาจเก่า” นับจากวันนี้

ที่สำคัญคือ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นบทพิสูจน์คำพูดพิธาที่ว่า ก้าวไกลติดเทอร์โบเพราะยุบพรรคจริงไหม? หรือจะเป็นเทอร์โบ๋อย่างที่ฝ่ายอนุรักษนิยมทั้งใหม่และเก่าวาดหวังอยากจะให้เป็น!!