พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : เงื่อนไขการกำหนดใจตนเองเพิ่มเติม กรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้

ก่อนอื่นขอแสดงความแปลกใจในเรื่องที่ว่ามีความพยายามปกป้องกลุ่มก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รู้จักกันดีว่า BRN ในลักษณะที่ว่า แม้จะมีการกล่าวออกมารับว่าเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายต่อพลเรือนอย่างทารุณเพื่อเร่งให้มีการประชุมร่วมโดยเร็ว ก็กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ออกมารับแทนเสียว่าไม่ได้ทำ ทั้งๆที่เมื่อมีเหตุก็ควรสืบสวนให้แน่ชัด เมื่อมีคำสารภาพแล้วหาก BRN เองไม่ออกมาปฏิเสธก็เท่ากับยอมรับโดยดุษฎีตามหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งสามารถเสนอให้สหประชาชาติขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายได้ ผลก็คือประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นไม่สามารถให้ที่พักพิงกับสมาชิกของกลุ่มนี้ได้อีกต่อไป การพูดคุยสันติภาพจากฝ่ายรัฐก็จะได้เปรียบมากยิ่งขึ้น เงื่อนไขการแทรกแซงจากต่างประเทศและสหประชาชาติในอันที่จะรับรองการประกาศอิสรภาพตามแนวทางการกำหนดใจตนเองตามหลักการขัดกันด้วยอาวุธระหว่างรัฐ หรือการขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศด้วยการแบ่งแยกดินแดน เพราะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายไปเสียแล้ว ไม่อาจขอให้สหประชาชาติเข้าแทรกแซงได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามก็คงต้องเคารพการตัดสินใจของภาครัฐที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย

ในเรื่องการกำหนดใจตนเองนั้น เป็นเรื่องที่ว่ามีประเทศหนึ่งโดนประเทศหนึ่งรุกรานแล้วยึดครอง หรือ ชนชาติหนึ่งมีความแตกต่างทางสีผิว หรือปัจจุบันขยายความเป็นเรื่องชาติพันธุ์ ยึดครองชนส่วนน้อยที่มีสีผิวหรือชาติพันธุ์อื่น จึงเข้าหลักการขัดกันด้วยอาวุธระหว่างประเทศ ที่ได้เคยนำมาเสนอไปแล้ว ในครั้งนี้จะลงรายละเอียดว่า หลักการไหนในการกำหนดใจตนเองที่สามารถจะประกาศอิสรภาพได้โดยได้รับการรับรองจากสหประชาชาติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

สามารถศึกษาได้จากลิงค์ของสหประชาชาติได้ดังต่อไปนี้

www.un.org/en/decolonization/declaration.shtml

www.unpo.org/article/4957

www.un.org/en/decolonization/nonselfgov.shtml

https://en.m.wikipedia.org/wik/List_of_active_separalist_movements_recognized_by_intergovernmental_organization

ในเรื่องแรกจนถึงเรื่องที่สาม เป็นแนวทางการปลดปล่อยประเทศอาณานิคมให้เป็นอิสระ โดยเรื่องที่สามเป็นรายชื่อประเทศเจ้าอาณานิคมและพื้นที่หรือประเทศที่เป็นอาณานิคมทั้งหมด ซึ่งไม่มีชื่อของประเทศไทยและพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เลย จึงไม่มีสิทธิที่จะต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองได้โดยที่มีสหประชาชาติรับรอง และเพื่อให้ชัดเจนลงไปอีกในเรื่องที่ ๔ เป็นการพูดถึงรายชื่อประเทศและองค์กรต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นอิสระที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติแล้วว่าสามารถต่อสู้ได้และอาจมีการแทรกแซงจากนานาชาติเพื่อให้เกิดการแยกตัวเป็นอิสระเช่นกรณีติมอร์ตะวันออก หรือติมอร์เลสเต้ในปัจจุบันที่แยกตัวจากอินโดนีเซียเพราะความแตกต่างทางศาสนา ทั้งนี้ติมอร์ตะวันออกเคยเป็นอาณานิคมของตะวันตกมาก่อนและถูกบุกเข้ายึดเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย เท่ากับถูกรุกรานตามเงื่อนไขการขัดกันด้วยอาวุธระหว่างประเทศชัดเจน การต่อสู้หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และต่อเนื่องมาจนได้รับเอกราชนั้น เข้าหลักนี้ทั้งสิ้นทั้งจากที่เป็นอาณานิคมและมีความแตกต่างจากสีผิว ชาติพันธุ์ นอกนั้นยังเข้าเงื่อนไขการแบ่งแยกดินแดนที่มีการควบคุมพื้นที่ได้และสมัยนั้นมีประชาชนติดอาวุธเข้าทำร้ายชาวติมอร์ตะวันออก สหประชาชาติและนานาชาติจะถือว่าเป็นการใช้ทหารสองฝ่ายสู้กันเข้าเงื่อนไขการขอแยกตัวเป็นอิสระได้ ต่างจากประเทศไทยที่ไม่ใช่ทั้งเรื่องอาณานิคมที่ถูกยึดครองในยุคล่าเมืองขึ้นโดยประเทศตะวันตกและเรื่องการขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศซึ่งมีทหารสองฝ่ายสู้กันและยึดพื้นที่ได้มากพอใช้กำลังทหารได้ หรือความขัดแย้งยืดเยื้อจนต้องใช้กำลังทหารแทนตำรวจ หรือมีประชาชนติดอาวุธเข้าทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง

การไม่มีรายชื่อที่จะเป็นผู้ถูกรุกรานเป็นอาณานิคมและไม่มีชื่อเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของสหประชาชาติ ก็ทำให้โอกาสที่จะแยกตัวด้วยการประกาศอิสรภาพหรือแยกดินแดนอาจด้วยการขอลงประชามติหรือการใช้กำลังทหารต่อสู้กับทหาร ก็เป็นอันหมดไปพร้อมกันด้วย และหากพลาดพลั้งโจมตีต่อพลเรือนและรัฐบาลสมัยใดก็ตามฉลาดพอที่จะนำเสนอชื่อให้สหประชาชาติประกาศเป็นกลุ่มก่อการร้ายแล้วการจะแยกตัวเป็นอิสระหรือแบ่งแยกดินแดนจะเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ปัญหาความกลัวของภาครัฐจึงน่าจะอยู่ที่คำว่าต่างชาติแทรกแซง ซึ่งแน่นอนว่านานาชาติและสหประชาชาติสามารถแทรกแซงได้หากผิดเงื่อนไขกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าจนทำท่าจะไปไม่ไหว แต่การแทรกแซงนั้นก็ยังคงจำกัดอยู่ที่ ๒ เงื่อนไขที่นำเสนอไปแล้วอยู่ดี

การกลัวต่างชาติจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในนั้นควรจะเกิดขึ้นก็แต่เฉพาะเงื่อนไขการขัดกันด้วยอาวุธทั้งสองเรื่องเท่านั้น และหากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทั่วถึง เป็นธรรม ไม่จับคนเข้าคุกง่ายเกินไปเพราะไม่รู้ภาษาไทย ก็จะไม่มีการแทรกแซงกิจการภายในของสหประชาชาติ

การกลัวต่างชาติแทรกแซงจึงควรจำกัดอยู่ที่เงื่อนไขการประกาศอิสรภาพและการแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น โดยที่เงื่อนไขแรกการประกาศอิสรภาพจากเหตุเป็นอาณานิคมนั้นตัดไปได้เลย เหลือเพียงการแบ่งแยกดินแดนเพราะความคับแค้นใจเพราะเจ้าหน้าที่ไปกดขี่ ขูดรีด เมื่อขัดขืนก็ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ในทุกกรณี

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ความเป็นธรรมและดูแลประชาชนเหมือนญาติของตนเอง เปิดให้ต่างชาติเข้ามาตรวจสอบสักแค่ไหนก็จะไม่พบเงื่อนไขใดๆ

ทั้งหลายเหล่านี้ก็เพื่อความมั่นใจในการค้า การลงทุน จากต่างประเทศโดยทั่วไปจากมุมมองของนานาชาติและสหประชาชาติเป็นสำคัญ ดังนั้นการแทรกแซงจากต่างชาติจึงไม่ควรมีน้ำหนักสำคัญหากการปฏิบัติการรู้จักระมัดระวังเงื่อนไขต่างๆนี้ รวมถึงหากทำให้กลายเป็นการก่อการร้ายไปเสียเองด้วยฝ่ายก่อเหตุรุนแรงก็น่าจะหมดที่พักพิงและจำเป็นต้องเข้ามาพูดคุยหาข้อสรุปกันง่ายขึ้น

สำหรับเรื่องการกำหนดใจตนเองเพื่อนำไปสู่การประกาศอิสรภาพนั้น ในสังคมยุคใหม่จะยอมรับการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างกันทั้งเรื่องอุดมการณ์ ความเชื่อ ศาสนาและชาติพันธุ์กันมากกว่าในยุคสงครามเย็นหรือยุคมืดในสมัยกลาง เพราะจะทำให้เกิดความมั่นคงจากความหลากหลายและการอดทนยอมรับความเห็นต่างกันมากขึ้นกว่าการล่าแม่มด

ในสังคมที่เจริญมากๆจึงจะส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิกำหนดใจตนเองด้วยการกระจายอำนาจในการปกครองกันเองโดยประชาชนมากกว่าการรวมศูนย์อำนาจ เช่นกรณีประเทศญี่ปุ่นกว่าร้อยละ ๖๐ นั้นเป็นงบประมาณสำหรับท้องถิ่น ในขณะที่รัฐบาลกลางจะทำหน้าที่เฉพาะการต่างประเทศและการทหารเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น การมีงบประมาณกระจายตัวก็จะทำให้ความเจริญกระจายตัวด้วย ทำให้ทุกพื้นที่มีโอกาสในการสร้างความเจริญได้ใกล้เคียงกัน ประชาชนมีความสุข ความขัดแย้งต่างๆก็จะลดน้อยลงเมื่อทุกคนอิ่มท้อง และไม่มีการกดขี่ด้วยความไม่เป็นธรรมเพราะประชาชนที่แตกต่างกันทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตสามารถออกกฎหมายและปกครองกันเองได้ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดระบบการปกครองที่ประชาชนส่วนใหญ่ตกลงร่วมกัน

การกำหนดใจตนเองจึงเป็นอะไรที่มากกว่าการใช้อาวุธและการประกาศอิสรภาพ เพราะมีตั้งแต่การยอมรับการเลือกตั้งให้มีผู้แทนจากประชาชน ไปจนถึงการปกครองตนเองแบบค่อนข้างอิสระมากๆ เช่นระบบสหรัฐหรือสมาพันธรัฐก็ตาม หรือที่เห็นตัวอย่างก็จะเป็นเขตปกครองพิเศษในประเทศจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในระดับมณฑล ดังนั้นการยอมรับความแตกต่างและให้โอกาสประชาชนได้มีสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ไม่ต้องให้คุณพ่อรู้ดีจากส่วนกลางเป็นผู้คอยหยิบยื่นให้ในทำนองสงเคราะห์ แต่เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนในทุกระดับโดยเฉพาะใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเรื่องศาสนาแบบเข้มงวดสูงและมีความแตกต่างจากสังคมไทยส่วนใหญ่

และการยอมรับความแตกต่างแบบนี้เอง จะนำมาซึ่งความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงความมั่นคงของรัฐนั้นๆด้วยในที่สุด