กรรมสิทธิ์ที่ดิน กับพัฒนาการระบบทุนนิยมในไทย | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ประเด็นที่ผมจะอภิปรายเป็นเรื่องสุดท้ายคือเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศนี้ ซึ่งคราวที่แล้วผมพูดถึงเรื่องที่ดินกับความมั่นคง

คราวนี้จะจบการแนะนำและอภิปรายหนังสือ Getting Land Right: ระบบกำกับดูแลที่ดินไทยต้องปฏิรูป (2566) ในประเด็นสุดท้าย

แต่ผมว่าเป็นปัญหาใหญ่สุดของเศรษฐกิจการเมืองไทย นั่นคือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชน

ดังได้เกริ่นมาแต่แรกแล้วว่า ที่ดินเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่เป็นเสาหลักของระบบการผลิตทุนนิยม อันเป็นระบบการผลิตสมัยใหม่ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและคงทน

มิหนำซ้ำยังได้เปรียบระบบการผลิตเก่าก่อนหน้านี้ทุกระบบ ไม่ว่าระบบทาส ระบบฟิวดัลหรือศักดินา

เพราะว่ามันสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับระบบย่อยและระบบสังคมการเมืองแบบใดก็ได้ทั้งนั้น

พูดอย่างง่ายๆ ก็คือระบบทุนนิยมเข้ากันได้กับทุกระบบผลิตและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นขุนศึกศักดินา หรือเผด็จการทุกรูปแบบ แม้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็รับใช้ได้หมด ไม่จำเป็นต้องเป็นชนชั้นนายทุนแบบตะวันตกและเป็นเสรีนิยมก็ได้

ระบบทุนนิยมสามารถจำแลงแปลงกายให้ดำเนินการสร้างมูลค่าส่วนเกินให้เกิดขึ้นมาได้ในระบบการผลิตและการวิภาครายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน

เพียงแต่ผลของการพัฒนาในระยะยาว ระบบการผลิตและโครงสร้างชนชั้นที่เป็นแบบนายทุนของแท้มากเท่าไร โอกาสในการยกระดับและปฏิวัติเครื่องมือการผลิตให้ล้ำหน้าและก้าวกระโดด จะทำได้ดีกว่าและต่อยอดฐานการผลิตเดิมให้มั่นคงสถาพรกว่าระบบเศรษฐกิจที่เป็นกึ่งทุนนิยมกึ่งศักดินาและไม่เสรีนิยม

พูดง่ายๆ คือ หากจะก้าวกระโดดออกจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ไปสู่รายได้ระดับสูงอย่างสิงคโปร์ และญี่ปุ่น ไต้หวันนั้น หากระบบเศรษฐกิจการเมืองยังเป็นแบบ “กึ่ง” หรือ “จำแลง” แบบไทยนั้น ยากอย่างยิ่งที่จะไปให้ถึงได้

ข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งในประเด็นนี้มาจากบทวิจัยที่ดีเยี่ยมของดวงมณี เลาวกุล “การใช้ที่ดินรัฐและการใช้ที่ดินแบบไม่เป็นทางการ : นัยต่อความเหลื่อมล้ำในสังคม”

โดยให้ภาพรวมของที่ดินคือทั้งประเทศมีที่ดินจำนวนรวม 320.7 ล้านไร่

เป็นของเอกชนร้อยละ 39.39

เป็นของรัฐ ร้อยละ 60.61 พื้นที่เป็นป่ามากที่สุด ร้อยละ 40.74 ของที่ดินทั้งประเทศ

ที่ดินของเอกชนทีมีเอกสารสิทธิมีร้อยละ 39.39 แยกเป็นของที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร้อยละ 12.36 และท้ายสุดเป็นของที่ราชพัสดุร้อยละ 3.91

สรุปสั้นๆ ดังได้กล่าวในบทความก่อนหน้านี้คือ ที่ดินส่วนใหญ่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐและหน่วยราชการ ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน (มีเอกสารสิทธิ) มีเพียงร้อยละ 39.39

ลักษณะต่อมาของเกษตรกรผู้ผลิตปฐมภูมิของไทยยังเป็นผู้ผลิตขนาดเล็ก ทำการผลิตบนที่ดินประมาณ 10-19 ไร่เป็นส่วนใหญ่

คนที่ถือครองที่ดินในการผลิตมากได้แก่บริษัทซึ่งถือมากกว่า 140 ไร่ขึ้นไป

ในส่วนของเกษตรกรนั้นเป็นชาวนามากที่สุด รองลงไปคือทำไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชไร่ สวนผักและสวนไม้ดอก

นอกจากนั้น ผู้ผลิตน้อยเหล่านี้ยังทำกินในที่ดินของตนเองร้อยละ 47.96 เป็นเกษตรกรเช่าที่ดินร้อยละ 19.58

เมื่อดูตัวเลขต่อไปพบว่าอีสานเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองมากกว่าภาคอื่นๆ คือมีที่ดินทำกินของตนเองเป็น 1.37 เท่าของทั้งประเทศซึ่งมีเพียง 0.92 เท่า

นัยอันนี้คือผู้ใช้แรงงานอีสานจะไม่ค่อยชอบการเข้าไปทำงานในโรงงานในเมืองใหญ่ เพราะพวกเขายังไม่ได้ถูกถอนรากถอนโคน ด้วยการแยกการดำรงชีวิตออกจากการมีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต

คือไม่ได้ถูกทำให้เป็นชนกรรมาชีพที่ไร้ปัจจัยการผลิต จนเหลืออย่างเดียวคือแรงงานเสรีที่จะขายให้แก่นายทุนอะไรก็ได้โดยไม่มีทางเลือก

 

ความหมายนัยของลักษณะการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวบอกอะไรแก่เราบ้าง

บอกหลายอย่าง แต่ที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมคือผู้ทำการผลิตโดยตรงและอ้อม เช่น เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมงและอาชีพที่พัฒนาต่อยอดออกไปจากการทำเกษตรกรรมนั้น มีปัจจัยสำคัญที่พวกเขาใช้ในการทำการผลิตและในการขยายปรับปรุงซ่อมแซมการผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

นั่นคือการหาทุนมาเสริมและค้ำจุน หลักๆ คือการกู้เงินจากสถาบันการเงินในระบบคือธนาคารและสหกรณ์และการกู้ในและนอกระบบไม่ค่อยได้

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ต้องอาศัยหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งโดยทั่วไปคือที่ดิน

แต่เมื่อกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของเกษตรกรส่วนน้อย ในขณะที่ส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์ดังกล่าว คำตอบก็คือพวกเขาจะไม่มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการรองรับการผลิตให้อยู่รอดและเติบใหญ่ไปได้ด้วยดี

อนาคตอันนี้แทบไม่เคยมีในชีวิตของผู้ผลิตโดยตรงหรือปฐมภูมิ ตรงกันข้ามทุนโดยเฉพาะธนาคารถูกนำไปใช้ในการสร้างรายได้ (ดอกเบี้ย) แก่สถาบันการเงินเองและเจ้าของหุ้นในสถาบันนั้น ทั้งหมดนั้นเป็นผู้ผลิตรองหรือทางอ้อม

นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศสสมัยการปฏิวัติใหญ่แห่งสำนักฟิสิโอแครต (กฎธรรมชาติ) ยกย่องที่ดินว่าสำคัญที่สุด ชนชั้นเกษตรกรรมก็สำคัญที่สุดเพราะสร้างประโยชน์เป็นผลได้สุทธิ ส่วนเจ้าที่ดินเป็นชนชั้นไม่สร้างประโยชน์เพราะไม่ได้ผลิตอะไรออกมา

ดังนั้น เราจึงกล่าวได้ว่า ทุนการเงินในเมืองไทยนั้น สนับสนุนและส่งเสริมแก่ผู้ผลิตรองและอ้อมมากกว่าผู้ผลิตปฐมภูมิ นี้เป็นลักษณะเด่นของทุนการค้าหรือพาณิชย์ (merchant capital) ซึ่งได้รับสมญาว่าทุนกาฝากนั่นเอง

 

จากตัวเลขดังกล่าวเราจึงสรุปลักษณะของผู้ผลิตในระบบเศรษฐกิจประเทศว่าเป็นผู้ผลิตน้อย (small producer) ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบสังคมมาแต่โบราณกาล

ข้อน่าสนใจของลักษณะดังกล่าวในทางเศรษฐศาสตร์การเมือง คือพลังการผลิตดังกล่าวผลักดันและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้น้อย

การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายรวมถึงเทคนิควิทยา ความรู้ในการผลิต การประดิษฐ์และนวัตกรรมต่างๆ ล้วนหยิบยืมรับและเลียนจากภายนอกเสียเป็นส่วนใหญ่

นี่เองที่ทำให้มาร์กซ์อธิบายลักษณะเด่นของสังคมเอเชียหรือเตะวันออกว่า มีความพอเพียงในตัวเอง เพราะทำการผลิตเพี่อเลี้ยงตัวเองเป็นหลัก การอยู่รอดและต่อเนื่องของระบบการผลิตน้อยจึงมาพร้อมกับระบบผู้กุมเผด็จอำนาจ (despotic orientalism) ผู้ปกครองที่ทำหน้าที่รักษารูปการผลิตนี้จากภยันตรายภายนอก

ดังนั้น บรรดาที่ดินในประเทศจึงยังคงเป็น “ที่หลวง” เสียเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่าที่ราชพัสดุ ซึ่งผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์รวม 20 กระทรวง นำโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มากที่สุดร้อยละ 57 จำนวน 104,196 แปลง รองลงมาคือกระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 61 จำนวน 38,697 แปลง

หากพิจารณาตามขนาดพื้นที่ใช้ประโยชน์ กระทรวงกลาโหมใช้มากที่สุด ร้อยละ 44 ถัดมาคือกระทรวงการคลัง ร้อยละ 16 กระทรวงที่ใช้ประโยชน์และครองที่ดินน้อยที่สุดคือต่างประเทศ ร้อยละ 0.01 เท่ากับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

“ความเรียบง่ายธรรมดาของการจัดการองค์กรสำหรับการผลิตในบรรดาชุมชนที่เลี้ยงตัวเองอย่างพอเพียงเหล่านี้ที่ทำการผลิตซ้ำตัวเองในรูปแบบเดิมอย่างคงที่สม่ำเสมอในรูปแบบเดียวกัน และเมื่อถูกทำลายโดยอุบัติเหตุ ฟื้นขึ้นมาอีกบนจุดเดียวกันพร้อมกับในชื่อเดียวกัน—ความเรียบง่ายนี้ให้กุญแจแก่ความลับของความไม่เปลี่ยนแปลงได้ (unchangeableness) ของบรรดาสังคมรัฐในเอเชียทั้งหลาย ความไม่เปลี่ยนแปลงได้ในความที่ตรงกันข้ามอย่างชัดแจ้งน่าพิศวงกับการสลายตัวและก่อตั้งสถาปนาใหม่อย่างคงที่ไม่หยุดยั้งของบรรดารัฐเอเชีย และการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์อย่างที่ไม่สิ้นสุดของราชวงศ์ โครงสร้างของปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ของในสังคมยังคงไม่ถูกกระทบกระเทือนโดยเมฆหมอกและพายุทั้งหลายของท้องฟ้าการเมือง” (มาร์กซ์ ทุน เล่ม 1 บทที่ 14 ว่าด้วยการแบ่งงานกันทำกับการอุตสาหกรรม)

วรรคนี้อธิบายประวัติศาสตร์ไทยโบราณถึงสมัยใหม่ได้อย่างน่าคิด ว่าทำไมระบบการผลิตเศรษฐกิจสยามถึงไม่เปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐาน แม้การเมืองเบื้องบนเปลี่ยน แต่โครงสร้างการผลิตก็ไม่เปลี่ยนมากนัก

นี่คือนัยของสังคมเอเชียที่การเลี้ยงตัวเองสำคัญกว่าการค้ากับภายนอก ตรงที่ไม่พัฒนาไปสู่การค้าและการผลิตที่กระเทือนโครงสร้างอำนาจปกครองเดิม ที่ผมเรียกว่า การเกิดระบบ “ทุนนิยมราชูปถัมภ์” หรือ “ทุนอย่างจำกัด” หรือผูกขาด

อะไรที่เป็นระบบ องค์กร สถาบันแบบใหม่ที่จะทำให้ระบบการผลิตมีพลานุภาพในตัวมันเอง เช่นสถาบันเศรษฐกิจเสรี สถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนอย่างคอร์แนล สถาบันศิลปะและงานสร้างสรรค์เอกชน ล้วนขาดเงื่อนไขในการเกิดและพัฒนา จึงไม่อาจก่อเกิดขึ้นมาได้

ถ้ามีก็มาจากการได้รับการส่งเสริม และถูกตัดทอนให้มีประสิทธิผลอย่างจำกัด โดยไม่ต้องระบุจุดหมายระยะยาวของรัฐไทยคือไม่ต้องการทำให้ราษฎรทั้งหลายแข่งขันกันเองเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ที่ง่ายสุดคือทำให้เป็นหรืออยู่ภายใต้ระบบราชการให้หมด

ท่านคิดว่าอีกเมื่อไรที่ห่านหรือเสือตัวนี้จะถลาบินขึ้นสู่ท้องฟ้าหรือโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลด้วยตัวมันเองได้