ในประเทศ : เมื่อ 2 พรรคใหญ่ ยี้นายกฯ คนนอก หลัง “บิ๊กตู่” ยืดอกรับเป็นนักการเมือง เตรียมศักราชใหม่มุ่งเลือกตั้ง

แม้ว่าข้อเสนอให้พรรคการเมือง โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ อย่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ จับมือกันเพื่อสู้กับทหารของนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกปฏิเสธแล้วปฏิเสธอีกจากสมาชิกบางปีกของทั้ง 2 พรรคใหญ่

แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงรอยต่อสำคัญเช่นนี้กลับเป็น “ตัวแปร” ที่ผลักให้ทั้ง 2 พรรคใหญ่กลายเป็นพันธมิตร กลายเป็นแนวร่วมในทางการเมืองไปโดยอัตโนมัติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์หลังคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยมาตรา 44 เพื่อคลายล็อกปม “เงื่อนเวลา” ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่บรรดาพรรคการเมืองต่างออกมาแสดงปฏิกิริยากันอย่างพร้อมเพรียง ทั้ง 2 พรรคใหญ่ หรือแม้กระทั่งพรรคชาติไทยพัฒนาที่ต่างมองเหมือนๆ กันว่า เป็นเนื้อหาที่มีเป้าหมายที่จะมุ่งเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิม

ซึ่งกรณีดังกล่าว 2 พรรคใหญ่ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะเดินไปในหนทางเดียวกัน โดยต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 มีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่นเดียวกัน

แม้จะต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างตี ต่างวิธีการ แต่ต้องยอมรับว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ในทางความคิดจนนำไปสู่การเคลื่อนไหวเดียวกันในทางการเมืองที่สอดรับกันมากขึ้น

และยิ่งมีความเคลื่อนไหวในหลายรูปแบบ จาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมา ยิ่งทำให้เห็นท่าทีอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ไม่ว่า วาทะรับปีใหม่ 2561 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เพิ่งรู้ตัวเอง ประกาศยอมรับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจว่า ตนเองเป็นนักการเมือง หลังปฏิเสธเสียงแข็งมาตลอดเกือบ 4 ปีที่ประจำการอยู่ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

“วันนี้ผมต้องเปลี่ยนแปลง เพราะผมไม่ใช่ทหาร แต่เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร”

ไม่ว่าจะเป็นวาทะในงานเลี้ยงปีใหม่กับผู้สื่อข่าวทำเนียบฯ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเปิดใจด้วยน้ำเสียงนิ่มๆ ตามที่ได้สัญญากับ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไว้ เมื่อถูกถามถึงโอกาสในการเข้ามาเป็น “นายกฯ คนนอก”

“สื่อย่อมรู้คำตอบดีว่า พูดไปก็จะเป็นการตัดทาง เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่การเป็นนายกฯ คนนอกก็ถือว่าตามระบบ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ หากพรรคการเมืองไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีกันเองได้ในสภา รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องทางให้เสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ เพื่อเป็นการตัดเรื่องการปฏิวัติ ต่อไปนี้จะไม่มีการปฏิวัติแล้ว เพราะนายกรัฐมนตรีคนนอกก็เลือกกันในรัฐสภา แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครเสนอตนเองให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก”

เพราะสองคำให้สัมภาษณ์ของ “บิ๊กตู่” รับศักราชใหม่ ได้กลายเป็นที่มาของการเมืองร้อนๆ รับปีใหม่ที่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเสียงของ 2 พรรคใหญ่สามัคคีชุมนุมออกมามองปรากฏการณ์ดังกล่าวว่ามีนัยยะเปิดตัวออกแขกลงสนามการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังการเลือกตั้งที่ชัดเจนเป็นอย่างมาก

เพราะถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ปิดโอกาสตัวเองที่จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

อีกทั้งสองวาทะรับปีใหม่ 2561 ของ พล.อ.ประยุทธ์ดังกล่าว ยังสอดรับกับการเคลื่อนไหวก่อนหน้าที่จะมีคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ออกมาด้วย

โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ เรียกว่าเป็น “ทฤษฎีสมคบคิด”

เพราะเป็นการคบคิดที่จ้องเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม จากการ “รับไม้เขี่ยลูก” กันของคนสองสามกลุ่มที่เคยร่วมกันออกมาชูธงต้านโกง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เป่านกหวีดล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

เริ่มตั้งแต่ “ลุงกำนันคนดัง” สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่มายื่นหนังสือถึงประธาน สนช. ก่อนที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว.กลุ่ม 40 ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปจะมายื่นหนังสือ 3 ข้อสมทบพร้อมวิธีการแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยที่นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. อดีต ส.ว.กลุ่ม 40 อีกคนออกมารับลูกชงข้อเสนอของทั้ง 2 เข้า กมธ.ศึกษา จนกระทั่งนำมาสู่คำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 โดยที่พรรคการเมืองไม่ได้ร้องขอ

อีกทั้งยังเป็นการเคลื่อนไหวคบคิดที่เชื่อมโยงเข้ากับกระแสข่าว “พรรคทหาร” ท่ามกลางการพบปะระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับบรรดา “มุ้งการเมือง” ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่า ผ่าน ครม.สัญจรที่จัดอย่างถี่ยิบ ทั้งที่ จ.สุพรรณบุรี ฐานเสียงพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ จ.นครราชสีมา ฐานเสียงของพรรคชาติพัฒนา ที่ จ.สุโขทัย ฐานเสียงของกลุ่มแกนนำมัชฌิมา หรือผ่านการออกรอบตีกอล์ฟกับคนใน “ตระกูลสะสมทรัพย์” นักการเมืองที่ครองพื้นที่ จ.นครปฐม มาอย่างยาวนาน

เสมือนออกไปหาเสียงในเส้นทาง “คนนอก” ที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญอ้าแขนรอไว้ล่วงหน้า

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณแสดงตน แนวทางขึ้นสู่อำนาจก็ปรากฏขึ้น ดั่งที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ที่อยู่ระหว่างการเตรียมการตั้งพรรคใหม่ออกมาสำทับแนวทางให้เสร็จสรรพ

โดยเฉพาะการมาในฐานะ “คนกลาง” ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 วรรคสอง หลังจากที่รัฐสภาไม่สามารถเลือกบุคคลอันเป็นรายชื่อตามบัญชีของพรรคการเมืองตามมาตรา 88 ที่เสนอไว้ก่อนการเลือกตั้ง

“พรรคประชาชนปฏิรูปจะอาสาเป็นแกนนำรวมเสียง ส.ส. 125 คนที่คิดเห็นตรงกันรอไว้เพื่อไปรวมกับเสียง ส.ว. 250 คน ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 375 คน ถ้าได้ตามนี้ก็ไม่สามารถเลือกนายกฯ รอบแรกตามบัญชีพรรคการเมืองได้ เพราะเสียงไม่พอจะเลือก เมื่อเลือกไม่ได้ก็ต้องเปิดทางให้คนนอกบัญชี เสียง 375 คนที่รออยู่แล้วก็จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นแนวทางที่มองว่า เป็นทางออกในช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีความราบรื่นสงบเรียบร้อย”

เป็นแนวทางคนนอกตามระบบภายใต้รัฐธรรมนูญที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกไว้ด้วยว่า เพื่อเป็นการตัดเรื่องการปฏิวัติ ต่อไปนี้จะไม่มีการปฏิวัติแล้ว เพราะนายกรัฐมนตรีคนนอกก็เลือกกันในรัฐสภาได้

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า การเมืองไทยนับแต่เข้าสู่ปี 2561 จึงเป็นการเมืองอันแบ่งขั้วขึ้นมาอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น อย่างที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ

เพราะ ไม่ใช่ “เหลือง” กับ “แดง” ไม่ใช่ “ประชาธิปัตย์” หรือ “เพื่อไทย” เหมือนในอดีต

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากท่าทีของนักการเมืองของ 2 พรรคใหญ่ ทั้งเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็เช่นเดียวกัน เพราะหลังจากการแสดงตัวที่มีนัยยะของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยิ่งทำให้เแนวร่วมของการ “ไม่เอานายกฯ คนนอก” ดำเนินไปอย่างอัตโนมัติด้วยความคึกคัก

และเป็นความคึกคักที่มีแนวโน้มที่นำไปสู่แคมเปญในการใช้หาเสียงเลือกตั้งด้วย

ส่วนจะหนักแน่นแค่ไหน และถึงขั้นจับมือกันได้ในทางการเมืองหรือไม่นั้น ปัจจัยอันเป็นสถานการณ์จาก “ภายใน” ของทั้ง 2 พรรคใหญ่จะเป็นคำตอบในอนาคต