ยุทธการ 22 สิงหา : กลไก ‘ลับ’ ใน รัฐ ‘พันลึก’ ยุทธการ ครอง ทำเนียบ

(Photo by TANG CHHIN SOTHY / AFP)

ไม่ว่าจะมองในมุมของการเมือง ไม่ว่าจะมองในมุมของการเมืองกึ่งการเคลื่อนไหว ต้องยอมรับว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นฝ่ายรุก ขณะที่รัฐบาลและพรรคพลังประชาชนอยู่ในฐานะรับ

การตัดสินใจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการเดินทางออกนอกประเทศจึงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ยิ่งมองลักษณะแห่งการเคลื่อนไหวบนท้องถนน ยิ่งน่าหวั่นไหว

การเคลื่อนเข้าไปยึด “ทำเนียบรัฐบาล” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นการยกระดับการต่อสู้ขึ้นอีกขั้นหนึ่ง

เป็นพัฒนาการที่มากกว่าก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

หากมองจากองค์ประกอบของแกนนำพันธมิตรฯ อันได้แก่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และ นายสุริยะใส กตะศิลา

น่าจะเป็นการประสานในทางกลยุทธ์ระหว่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อย่างเป็นด้านหลัก

ในฐานะ “นักรบ” ในฐานะ “เลขาธิการนายกรัฐมนตรี” พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ไม่เพียงแต่อ่านเส้นสนกลในภายในทำเนียบรัฐบาลได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เคยผ่านยุทธการในลาวมาอย่างแจ่มแจ้งย่อมมีความเข้าใจ

ยิ่งกว่านั้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ยังมาจาก จปร.7 อุดมด้วยเครือข่ายความสัมพันธ์โยงยาวไปยังบรรดา “ลูกป๋า” ทั้งหลายในยุทธจักรการเมือง ยุทธจักร ความมั่นคง

จากนี้การต่อสู้ก็เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของ “นิติสงคราม”

 

เช้าวันที่ 27 สิงหาคม 2551 สน.สุทธิสารได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอออกหมายจับในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ

พุ่งเป้าเข้าใส่ 6 แกนนำพันธมิตรฯ 3 แนวร่วม

1 นายสนธิ ลิ้มทองกุล 1 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 นายพิภพ ธงไชย 1 นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 1 นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

รวมถึง 1 นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน

รวมถึง 1 นายอมร อมรรัตนานนท์ 1 นายไชยวัฒน์ สินธุวงศ์ และ 1 นายเทิดภูมิ ใจดี

ศาลอาญาออกหมายจับตามคำขอ

ขณะเดียวกัน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ยื่นฟ้อง 1 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 นายสนธิ ลิ้มทองกุล 1 นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 1 นายพิภพ ธงไชย 1 นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และ 1 นายสุริยะใส กตะศิลา

ต่อศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งให้ออกจากทำเนียบรัฐบาล รื้อถอนเวทีปราศรัย ขนย้ายสิ่งกีดขวาง เปิดถนนพิษณุโลก เปิดถนนราชดำเนิน

ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบรัฐบาล

แล้วพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทำอย่างไร

 

แม้จะเคยประสบกับการต้านยันเมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมและพยายามรุกเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาลในเดือนกรกฎาคม 2551

แต่เมื่อถึงเดือนสิงหาคมทุกอย่างดำเนินไปเหมือนหยิบส้มในลัง

คำตอบอาจมาจากการเลือกรุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 สิงหาคม อันตรงกับวันสำคัญของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ

ย่อมได้รับ “พลังแฝง” จาก “บารมี” อันอยู่นอก “รัฐธรรมนูญ”

เป็นพลังแฝงอันได้รับการหนุนเสริมจากกลไกแห่งอำนาจรัฐในหลายส่วนประกอบเป็น “องคาพยพ” ใหญ่

ในนั้นมาจาก “ปม” แห่งความขัดแย้งที่ “รัฐบาล” ก่อขึ้น

นั่นก็คือ การย้าย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อเปิดทางสะดวกให้กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

เมื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เข้าไปนั่งอยู่ใน “ทำเนียบรัฐบาล”

เมื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ยังมี “บารมี” ต่อแวดวงตำรวจอยู่ในระดับแน่นอนหนึ่ง

เมื่อประสานเข้ากับกลไกอื่นในทางการเมือง ความมั่นคง

เส้นทางของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ไปยังทำเนียบรัฐบาลจึงราบรื่น

นี่คือจังหวะในทาง “ยุทธวิธี” ที่มีผลสะเทือนสูงในทาง “ยุทธศาสตร์”

 

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงปักหลักยึดครองทำเนียบรัฐบาลอยู่อย่างมั่นคง

ดำเนินกลยุทธ์ทั้ง “ต่อสู้” และ “ขยายตัว”

ขณะที่ 6 แกนนำที่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ตกเป็นเป้าแห่งการฟ้องร้องเพื่อจำกัดกรอบและขอบเขต

มีการตระเตรียมแกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2

ประกอบด้วย 1 นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 1 นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

1 นายสำราญ รอดเพชร อดีตสื่อมวลชนและอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

ขณะเดียวกัน เมื่อได้หมายจับจากศาลอาญา เมื่อได้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลแพ่ง พร้อมกับได้มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ตำรวจได้นำคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปติดที่ประตูทางเข้า-ออกทำเนียบรัฐบาล

พร้อมจัดกำลังตำรวจปราบจลาจลประมาณ 7,000 นาย เคลื่อนกำลังเข้าประชิดรอบทำเนียบรัฐบาล

นำไปสู่การปะทะหลายจุด มีผู้บาดเจ็บหลายสิบราย

 

สภาพการณ์ทางการเมืองก็คือ ได้มีการระดมกำลังทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าหนุนเสริมเพื่อกดดันรัฐบาล

พร้อมกันนั้นก็เพิ่มระดับการต่อสู้ผ่านศาล

ทนายความพันธมิตรฯ ได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีโดยฉุกเฉินอย่างยิ่งต่อศาลแพ่ง และศาลแพ่งเห็นควรให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน ยินยอมให้ชุมนุมกันต่อในทำเนียบรัฐบาลจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา

ต่อมา ในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลแพ่งที่อนุญาตตามคำร้องขอของโจทก์

นี่เป็นผลจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร

ส่วนคดีอาญาที่ออกหมายจับ 9 แกนนำพันธมิตรฯ ทนายความพันธมิตรฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอาญามีคำพิพากษายกคำสั่งอนุมัติออกหมายจับ แม้ศาลอาญาจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ แต่พันธมิตรฯ ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลรับคำอุทธรณ์เพิกถอนหมายจับอีก

เด่นชัดว่ารัฐบาลพยายามสกัดขัดขวาง ดำเนินหลายมาตรการเพื่อให้พันธมิตรฯ ถอนออกจากทำเนียบรัฐบาล

แต่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังดำเนินต่อไป