จากทฤษฎีวิวัฒนาการ ของชาร์ลส์ ดาร์วิน สู่แนวคิดทางจริยศาสตร์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

จากทฤษฎีวิวัฒนาการ

ของชาร์ลส์ ดาร์วิน

สู่แนวคิดทางจริยศาสตร์

 

“ทฤษฎีวิวัฒนาการ” (Theory of Evolution) ของ “ชาร์ลส์ ดาร์วิน” (Charles Darwin) เป็นแนวคิดทางชีววิทยาที่ไม่ได้มีอิทธิพลต่อแนวคิดในแวดวงวิทยาศาสตร์เท่านั้น

แต่ยังส่งผลไปถึงทฤษฎีอื่นๆ ในสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์อีกหลายสาขาวิชาด้วย

ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ “จริยศาสตร์” (Ethics) อันเป็นสาขาย่อยของ “ปรัชญา” (philosophy) อีกที เนื่องจากแนวคิดทางจริยศาสตร์นั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่อง “ศีลธรรม” (morality) ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ และมีลักษณะเป็นอย่างไร เพื่อเป็นรากฐานให้กับการตัดสินคุณค่าของการกระทำ หรือการวินิจฉัยความถูกผิดดีชั่วในพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์นั่นเอง

โดยทั่วไปแล้วผู้คนในสังคมก็มักมีความเข้าใจไปโดยอัตโนมัติว่าศีลธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว หาได้มีใครไปกำหนดขึ้น ถึงแม้จะมีความคิดความเชื่อทางศีลธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล แต่ละสังคม และแต่ละยุคสมัยก็ตาม ทว่า มีน้อยคนมากที่จะคิดว่าศีลธรรมเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่แต่เดิมในธรรมชาติ

การที่ผู้คนเคยชินกับการมองศีลธรรมแบบนี้ทำให้คิดว่าศีลธรรมเป็นเรื่องสัจธรรมที่จริงแท้แน่นอนและไม่มีวันแปรเปลี่ยน

รวมทั้งจินตนาการไม่ออกว่าศีลธรรมไปเกี่ยวพันกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ อย่างเช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้อย่างไร

หารู้ไม่ว่าคำอธิบายโลกธรรมชาติของดาร์วินได้ส่งผลกระทบต่อความเข้าใจในเรื่องศีลธรรมของมนุษย์ด้วย

 

ตามแนวคิดเรื่อง “การคัดสรรตามธรรมชาติ” (Natural Selection) ของทฤษฎีวิวัฒนาการมองว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะเกิดกระบวนการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้อยู่รอดต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านการต่อสู้ดิ้นรนในการใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมต่างๆ ผู้ที่มีลักษณะเด่นอันสอดคล้องหรือเอื้อต่อการดำรงอยู่ในพื้นที่จะเป็นผู้ชนะและทำให้ผู้ที่มีลักษณะด้อยกว่าค่อยๆ ลดปริมาณจนกระทั่งกลุ่มของผู้ที่มีลักษณะด้อยนั้นหายไป และทำให้เกิดลักษณะของสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา

ยกตัวอย่างเช่น หากอาหารส่วนใหญ่ของยีราฟอยู่บนยอดไม้ที่สูงกว่าสิบเมตร ยีราฟที่คอยาวเกินกว่าสิบเมตรก็มีโอกาสเอื้อมไปถึงอาหารได้มากกว่ายีราฟที่มีคอสั้นกว่าสิบเมตร ทำให้ยีราฟที่คอยาวกว่ามีโอกาสรอดชีวิตมากกว่ายีราฟที่คอสั้น เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าจึงเหลือแต่ยีราฟที่คอยาวเกินกว่าสิบเมตร

นอกจากนั้น เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ ยีราฟตัวผู้ที่มีคอยาวกว่าก็มีโอกาสได้ผสมพันธุ์กับยีราฟตัวเมียมากกว่าด้วย เพราะลักษณะที่เอื้อต่อการรอดชีวิตนี้ดึงดูดใจให้ตัวเมียเลือกตัวผู้ที่มีแนวโน้มในการหาอาหารได้มากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ยีราฟที่มีคอยาวสามารถขยายเผ่าพันธุ์ได้มาก

ส่วนยีราฟคอสั้นขยายพันธุ์ได้น้อย ปริมาณของยีราฟคอสั้นก็ลดลง ส่วนยีราฟคอยาวก็เพิ่มขึ้น จนกระทั่งในที่สุดก็เหลือแต่ยีราฟคอยาว

 

คําอธิบายธรรมชาติแบบการคัดสรรตามธรรมชาตินี้เป็นจุดให้มีคนโต้แย้งอยู่เหมือนกันว่าหากแนวคิดนี้ถูกต้อง สิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็คงเอาแต่แก่งแย่งแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด

แล้วเหตุใดสิ่งมีชีวิตจำนวนมากถึงได้มีพฤติกรรมที่เสียสละ อุทิศตนให้ผู้อื่น หรือกระทั่งบางครั้งยอมพลีชีพเพื่อช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย

เพราะการเสียสละตัวเองเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับความพยายามดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด

แต่ผู้ที่เชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการก็สามารถโต้แย้งได้ว่าเพราะลักษณะของการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือตัวอื่นเป็นการสร้างหลักประกันว่าสิ่งมีชีวิตจะมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้นเนื่องจากมีการเกาะกลุ่มพึ่งพาอาศัยกันนั่นเอง

ความอยู่รอดที่ว่านี้จึงไม่ใช่รอดเพียงแค่ตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น แต่คือปริมาณโดยภาพรวมที่ทำให้สิ่งมีชีวิตมีโอกาสรอดได้เป็นจำนวนมาก

คราวนี้เมื่อพิจารณาลงมาที่สังคมมนุษย์ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเช่นกัน ก็เห็นได้ว่าคนที่มีความเสียสละจะได้รับการยกย่องชื่นชมจากสังคมมากกว่าคนเห็นแก่ตัวเอง

และกลายเป็นทั้งสำนึกในใจของแต่ละคน ตลอดจนค่านิยมของสังคมที่ส่งเสริมให้ผู้คนคำนึงถึงคนอื่นอยู่เสมอ

ซึ่งถ้าหากมองเรื่องนี้ผ่านแว่นของทฤษฎีวิวัฒนาการก็จะเห็นว่าศีลธรรมไม่ใช่เรื่องดีงามที่มีอยู่ก่อนสิ่งมีชีวิต

หากแต่เป็นกลไกอย่างหนึ่งในจิตใจของสิ่งมีชีวิต ตลอดจนเป็นกลไกส่วนหนึ่งของการอยู่ร่วมกันทางสังคม เพื่อเพิ่มหลักประกันว่ามนุษย์มีโอกาสดำรงเผ่าพันธุ์สืบต่อไปได้

และเมื่ออาศัยคำอธิบายเช่นนี้ก็จะเห็นว่านอกจากลักษณะของความเสียสละเป็นแนวโน้มที่อยู่ในตัวมนุษย์เองแล้ว การเป็นคนเสียสละยังเป็นลักษณะเด่นที่เอื้อต่อการจับคู่อีกด้วย เพราะแม้การอุทิศตนเพื่อผู้อื่นจะดูเหมือนเสี่ยงต่อชีวิต ต่อการได้รับอันตราย หรือต่อการเสียผลประโยชน์มากกว่าผู้ที่คิดถึงแต่ตัวเอง

ทว่า ก็มีแนวโน้มที่จะได้จับคู่และสืบต่อเชื้อสายไปได้มากกว่าคนเห็นแก่ตัว

 

คําถามต่อมาก็คือ แล้วตกลงหลักการทางศีลธรรมต่างๆ รวมทั้งกฎเกณฑ์ทางสังคมทั้งหลาย เป็นเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง หรือว่ามีอยู่แต่เดิมแล้วในธรรมชาติก่อนการเกิดขึ้นของมนุษย์

แน่นอนว่าหากคิดแบบทฤษฎีวิวัฒนาการ เรื่องศีลธรรมเป็นเรื่องที่สังคมมนุษย์กำหนดขึ้นร่วมกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์และแพร่ขยายต่อไปนั่นเอง

แต่ว่าการกำหนดขึ้นนี้เป็นไปเองโดยธรรมชาติแบบแนบเนียนและไม่รู้ตัว ท้ายที่สุดแนวโน้มที่สิ่งมีชีวิตเล็งเห็นคล้ายๆ กันนี้จะพัฒนาต่อไปกลายเป็นข้อตกลงและกฎหมายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

สำหรับคำอธิบายว่าแล้วเหตุใดผู้คนจึงมักมีอารมณ์ขุ่นเคืองหรือไม่พอใจที่เห็นคนอื่นละเมิดข้อตกลงของสังคมหรือไปก่ออาชญากรรมทำร้ายคนอื่น นั่นก็เป็นเพราะว่าพฤติกรรมเช่นนั้นเป็นการคุกคามความปลอดภัยของคนอื่นๆ ที่เหลือด้วย มิใช่แต่เพียงเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเท่านั้น

ซึ่งหากปล่อยให้มีผู้ที่มีพฤติการณ์เช่นนี้ต่อไปในที่สุดภัยก็ตกมาถึงคนอื่นๆ และเป็นอุปสรรคต่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์โดยรวม

ในขณะเดียวกันก็ทำให้มองได้ว่าหลักการทางศีลธรรมและค่านิยมทางศีลธรรมใดที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ก็มักได้รับการยอมรับในสังคม อันส่งผลให้หลักศีลธรรมนั้นคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ต่างกับหลักศีลธรรมและค่านิยมทางศีลธรรมใดที่ไม่เอื้อต่อการขยายเผ่าพันธุ์ก็จะเสื่อมถอยจนกระทั่งหายไปในที่สุด

จะเห็นได้ว่าคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ซึ่งดูผิวเผินแล้วไม่น่าเกี่ยวพันกับแนวคิดทฤษฎีทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้เลย

แต่กลับส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการมองโลกมองชีวิตเป็นอย่างยิ่ง

ทำให้เกิดมุมมองใหม่ในแบบที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติความรู้ความเข้าใจในทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะยิ่งในแนวคิดพื้นฐานทางปรัชญา จริยศาสตร์ ตลอดจนองค์ความรู้ในแขนงอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก