“คะแนนนิยมทางการเมือง” | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” หรือ “สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” เผยผลสำรวจประชาชนล็อตล่าสุด ว่าด้วยเรื่อง “คะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาสครั้งที่ 1/2567” ทำการสำรวจสดๆ ร้อนๆ ระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม

“บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้” ปรากฏว่า “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลอยลำเข้าป้ายอันดับ 1 ร้อยละ 42.75 อันดับ 2 ร้อยละ 20.05 ระบุว่า “ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้” อันดับ 3 ร้อยละ 17.75 ระบุว่า “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี อันดับ 4 ร้อยละ 6.00 ระบุว่า “น.ส.แพทองธาร หรืออุ๊งอิ๊ง ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อันดับ 5 เป็น “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 3.55

ขณะที่กับคำถาม “พรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้” ท็อปไฟว์ เรียงตามลำดับไหล่ อันดับ 1 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 48.45 อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 22.10 อันดับ 3 ยังหาพรรคที่เหมาะสมไม่ได้ ร้อยละ 2.75 อันดับ 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ และอันดับ 5 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 3.50

เมื่อแยกย่อยซอยตัวอย่างคำถาม ประชาชนจากภาคสนาม พบว่า ร้อยละ 8.60 ภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 18.55 จากภาคกลาง ร้อยละ 17.95 ภาคเหนือ ร้อยละ 33.45 ภูมิลำเนาอยู่ภาคอีสาน ร้อยละ 13.75 ภาคใต้ ร้อยละ 7.70 ภาคตะวันออก

นำผลคะแนนนิยมของ “เศรษฐา” มารวมข้าวต้มมัดกับ “อุ๊งอิ๊ง” สัดส่วนเปอร์เซ็นต์ด้านตัวบุคคลยังแพ้ป่าราบให้กับ “นายพิธา” ขณะที่ระบบพรรค “ก้าวไกล” ก็ทิ้งห่าง “เพื่อไทย” หลายช่วงตัว

ทั้งๆ ที่ว่าก่อนศึกเลือกตั้งใหญ่ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2566 ไม่ช้าไม่นานมานี่เอง “นิด้าโพล” ทำการสำรวจกระแสนิยม ระหว่าง “พิธา “กับ “อุ๊งอิ๊ง” และ “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” พลิกไปพลิกมา ผลัดกันแพ้-ชนะ ช่องไฟหายใจรดต้นคอ เสมอไหน เสมอกันมาตลอด แต่ห่างกันคนละโยชน์ กับผลสำรวจรายไตรมาสครั้งที่ 1/2567

 

ยิ่งย้อนรอย ตามไปดูผลการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา ตัดฉากจากปี 2554 ที่ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้รับมอบหมายจาก “พี่ใหญ่” ให้นำทัพพรรคเพื่อไทย สามารถกำชัยได้อย่างสวยสดงดงามยิ่ง ได้รับเลือกตั้งมากถึง 264 ที่นั่งทั่วประเทศ โดยได้ที่นั่งจาก ส.ส.เขตเลือกตั้งมืดฟ้ามัวดินถึง 204 ที่นั่ง กับบัญชีรายชื่อ จากคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต ทำสถิติสูงลิ่ว ไว้ที่ 15,752,470 เสียง ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนบนเวทีการเมืองไทย

ขณะที่ศึกเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ที่นั่ง ส.ส.เขตมากที่สุด แต่บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ แพ้ทั้งก้าวไกล และพลังประชารัฐ ได้ป๊อปปูลาร์โหวตมาเพียง 7,881,006 เสียง ลดลงจากปี 2554 ถึง 22.16 เปอร์เซ็นต์ คะแนนเสียงหดหายไปถึง 26 เปอร์เซ็นต์

ประชาธิปไตยทางตรงจากประชาชนพลเมือง กับศึกเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 จากการแบ่งเขต บวก-ลบ-คูณ-หารจากประชากรใหม่ เปลี่ยนสูตรจาก “ระบบบจัดสรรปันส่วนผสม” เมื่อปี 2562 จากจำนวน ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน บัญชีรายชื่อ 150 คน ปรับระดับใหม่ เพิ่ม ส.ส.เขต 50 คน เป็น 400 คน ลดสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เหลือ 100 ที่นั่ง

โดยคำนวณจากจำนวนประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จากภาคกลาง 22 จังหวัด จำนวน 122 ที่นั่ง ภาคเหนือ 9 จังหวัด จำนวน 39 ที่นั่ง ภาคอีสาน 20 จังหวัด จำนวน 132 ที่นั่ง ภาคตะวันออก 7 จังหวัด จำนวน 29 ที่นั่ง ภาคตะวันตก 5 จังหวัด จำนวน 20 ที่นั่ง และภาคใต้ 14 จังหวัด จำนวน 58 ที่นั่ง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ครั้งที่ 27 ปรากฏว่าพลิกล็อกมากพอสมควร “พรรคเพื่อไทย” ตั้งเป้าไว้สูงมาก เนื่องจากการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากสูตรจัดสรรปันส่วนผสม ตัวเองน่าจะได้เปรียบ วางตัวเลขไว้ที่ 220 ขึ้น บวก-ลบ 20 ที่นั่ง แต่กลับได้ที่นั่งเพียง 141 ที่นั่ง จากเขตเลือกตั้ง 112 ที่นั่ง เท่ากับพรรคก้าวไกล แต่บัญชีรายชื่อพ่ายหมดรูป เพราะป๊อปปูลาร์โหวต ได้เพียง 10,962,522 เสียง ขณะที่ก้าวไกลได้ 14,438,851 เสียง ส่งผลให้เข้าป้ายเป็นชนะที่ 1 ที่ 151 เสียง

ด้วยเงื่อนไขที่กระแสนิยมเพื่อไทย ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง เป็นการส่งสัญญาณอันตรายในอนาคตดังกล่าว นี่กระมังจึงเป็นต้นเหตุให้ “นายใหญ่” ที่พลัดที่นาคาที่อยู่ จากบ้านเกิดเมืองนอนไปถึง 17 ปี ต้องลงมือเร่งคีย์ ตีจังหวะ อยากจะกู้วิกฤตศรัทธากลับคืน ชิงออกตัวแรง ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ หยั่งทิศทางลมดูอยู่ถ้ำจันทร์ส่องหล้าได้ไม่กี่อีดใจ เดินทางปิ๊กบ้านที่เชียงใหม่ ไหว้บรรพบุรุษ ช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม หยั่งกระแสกดดันแล้ว ไม่มีอะไรมาก ออกจากถ้ำ เดินทางกลับไปเยือนรังเก่าคือ “พรรคเพื่อไทย” หรือที่ทำการ “พรรคไทยรักไทย” เก่า กลับเข้าดู ไหว้พระที่ห้องทำงานเดิม ที่ตัวเองเคยนั่งทำงาน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ระลึก 17 ปีแห่งความหลัง

ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นของกองทัพคนเสื้อแดง และแกนนำ ส.ส.เพื่อไทย หลายค่าย มากด้วยความอบอุ่น ทำงานใหญ่ ต้องอดทนและรอโอกาสให้ได้ ตอนนี้โอกาสเปิดแล้ว “นายใหญ่” ได้จังหวะจู่โจมโดยไม่ลังเล ไม่มีความกังวลอะไรอีกต่อไปแล้ว มีข่าวว่า หลังสงกรานต์ อดีตนายกฯ คนที่ 23 จะเดินสายทัวร์อีสาน หมายมั่นจะทวงบัลลังก์จ่าฝูง ยึดพื้นที่ที่ราบสูงกลับคืนให้ได้

เสือคืนถิ่น กลับถ้ำ 17 ปีแห่งความบอบช้ำ ได้ทำอะไรต่อมิอะไรตามที่ตั้งใจ ตอนนี้ถือว่า สถานการณ์มันจำเป็น มีข้ออ้างในการขับเคลื่อนกอบกู้กระแสนิยมพรรคเพื่อไทยให้กลับคืนมา

ทว่า ผลดีก็มีเยอะ ผลเสียก็มีแหละ สามารถช่วยพรรคเพื่อไทยให้กลับมาเป็นเบอร์หนึ่งได้มากก็จริง แต่ต้องเดินเกมอย่างระมัดระวัง ต้องไม่ให้มีข้อครหา ถูกมองว่า เป็นการแบ่งปันอำนาจ การปกครองบ้านเมืองแชร์กันไม่ได้ แบ่งปันกันไม่ลงตัวเมื่อใด สถานการณ์ก็ลุกเป็นไฟในทันทีเช่นเดียวกัน