ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เหยี่ยวถลาลม |
เผยแพร่ |
ยังจำกันได้ไหม ตอนนั้น “ยางพารา” ราคากิโลกรัมละ 90 บาท “หัวโจก” ไม่พอใจชวนคนออกมาชุมนุมเรียกร้อง “ต้องได้ 120 บาท” ปิดถนน จุดไฟเผายางรถยนต์ ตัดเส้นทางคมนาคม ปิดล้อมกรุงเทพฯ บุกยึดหน่วยราชการ ท้ายที่สุดก็บรรลุถึงจุดหมาย
22 พฤษภาคม 2557 คือตำตอบ!
จากวันนั้นจนสิ้นสุดสมัยการสืบทอดอำนาจ ตลอดเวลา 9 ปี ราคายางพารารูดร่วงเหลือต่ำกว่า 30 บาท และเมื่อราคาข้าวกับพืชผลเกษตรต่างๆ ตกหนักเข้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้มาจากการรัฐประหาร ถึงกับว่า “ทำไมยังโง่ปลูกอย่างอื่นอยู่ ไปปลูกหมามุ่ยอินเดียสิ กิโลกรัมละ 800 บาท”
สําหรับ “ตำรวจ” ได้รับความเจ็บปวดอะไรบ้างยังจำกันได้หรือไม่
หลัง 22 พฤษภาคม 2557 “ระบบคุณธรรม” ที่เคยอาศัยทักษะความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และภาวะผู้นำเป็นตัวชี้วัดเพื่อการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจถูกเขวี้ยงทิ้งหมด
การแต่งตั้งโยกย้ายอยู่ที่ “ใจ” (ผู้มีอำนาจ)!
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ขยับจากตำแหน่ง “รองผู้บังคับการตำรวจภูธร” จังหวัดสงขลา ขึ้นติดยศ “นายพล” ที่ตำแหน่ง “ผู้บังคับการประจำ” ทำหน้าที่ประสานงานนายกรัฐมนตรี
เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วหน้าว่า “คนของนาย”
อีกอึดใจต่อมา ในเดือนตุลาคม 2558 ย้ายไปนั่งเก้าอี้ “ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว” คุมทั้งหน่วยเบ็ดเสร็จก่อนจะยกฐานะขึ้นเป็น “กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว”
ในยุคที่ “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” คุมตำรวจ ไม่มีใครทำได้ “โจ๊ก หวานเจี๊ยบ” ใช้เวลาเพียง 3 ปี ก็พรวดจากเก้าอี้ “ผู้บังคับการ” ขึ้นเป็น “ผู้บัญชาการ” ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
อายุ 48 ปีติดยศ “พลตำรวจโท”
คนซึ่งโตมาพร้อมๆ กันยังคงเป็น “รองผู้การ”
ปี 2564 โจ๊กขยับขึ้นเป็น “ผู้ช่วย ผบ.ตร.”
ถัดมาอีกปีเดียวตุลาคม 2565 ก็ขึ้นเป็น “รอง ผบ.ตร.” คราวนี้นั่งลำดับอาวุโสที่ 2 รองจาก พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ทั้งที่ “โจ๊ก” มีอายุราชการยาวถึงสิ้นกันยายน 2574
(อาวุโสลำดับ 1 พล.ต.อ.รอย ลำดับ 2 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ลำดับ 3 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ลำดับ 4 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล)
แม้ “โจ๊ก หวานเจี๊ยบ” จะเติบโตรวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ จาก นรต.รุ่น 47 ที่เริ่มบรรจุเป็น “รอง สว.” ปี 2537 ใช้เวลาแค่ 28 ปีขึ้นมานั่งเก้าอี้ “รอง ผบ.ตร.” แต่เหนือฟ้ายังมี “รอง ผบ.ตร.-อาวุโสลำดับที่ 4”
การประชุม ก.ตร.วันที่ 27 กันยายน 2566 “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่ง “อาวุโสลำดับที่ 4” ขึ้นเป็น “ผบ.ตร.” และ ก.ตร.ก็มีมติเห็นชอบ
อาวุโสลำดับ 4 แซงทุกคนพรวดขึ้นเป็น “ผบ.ตร.” ไม่ใช่เรื่องเพิ่งจะเกิด
ยุครัฐบาลสืบทอดจากการรัฐประหาร พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ก็พรวดจาก “รองอาวุโสอันดับ 5” ขึ้นเป็น “ผบ.ตร.” ต่อจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ด้วยปัจจัย “เตรียมทหารรุ่น 20” เพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ.
สำหรับ “ต่อศักดิ์” แม้จะไม่ได้มาจาก นรต. แต่ปัจจัยเกื้อกูลล้นถ้วย
เดิมทีเดียว “ต่อศักดิ์” ทำงานกับบริษัทน้ำมัน แต่เปลี่ยนเข็มชีวิตมาเป็นตำรวจ เริ่มเป็น “รอง สว.” ในปี 2541
พูดไปก็เหลือเชื่อ!
“ต่อศักดิ์” ใช้เวลาแค่ 25 ปีเท่านั้นก็ได้ขึ้นเป็น “ผบ.ตร.”
“ต่อศักดิ์” โตเร็วและแรงในยุค “คสช.” ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
ปี 2561 “ต่อศักดิ์” เพิ่งเป็น “ผู้บังคับการ”
(ตำรวจทั่วไปลองเทียบดูได้ว่า หากเป็นผู้บังคับการในปี 2561 ถึงวันนี้ท่านจะดำรงตำแหน่งใด)
ปี 2562 “ต่อศักดิ์” ขึ้นเป็น “รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง”
2563 “ต่อศักดิ์” ขึ้นเป็น “ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง”
2564 “ต่อศักดิ์” ขึ้นเป็น “ผู้ช่วย ผบ.ตร.”
2565 “ต่อศักดิ์” ขึ้นเป็น “รอง ผบ.ตร.” และ
1 ตุลาคม 2566 “ต่อศักดิ์” ขึ้นเป็น “ผบ.ตร.”
ไม่มีใครทำได้!!
การเดินทางที่เทียบชั้นไฮเปอร์ลูปเช่นนี้แม้แต่ “โจ๊ก หวานเจี๊ยบ” ยังต้องมึนงง
กระนั้นเพียง 5 เดือนหลังนั่งเก้าอี้ “ผบ.ตร” เส้นทางชีวิตตำรวจของ “ต่อศักดิ์” ก็มีอันต้อง “ยุติลง” เมื่อนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา” ลงนามย้าย “ต่อศักดิ์” กับ “โจ๊ก หวานเจี๊ยบ” ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ถึงแม้นายเศรษฐาจะโปรยคำหวานว่า ไม่ใช่การลงโทษ เป็นการโอนให้มาช่วยราชการชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้คณะกรรมการตรวจสอบความขัดแย้งในทุกเรื่องทุกคดีที่มีการกล่าวโทษกัน แต่ “กลิ่น” อันเกิดจาก “ความเคลื่อนไหว” ของทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่ “ต่อ-โจ๊ก” ยากที่จะลบเลือนให้จางหาย
มีข้อน่าสังเกตว่า ก่อนนายกรัฐมนตรีจะสั่งย้าย “ต่อ-โจ๊ก” ทั้งคู่เปิดแถลงเคลียร์ใจกันด้วยใบหน้าระรื่น
วันนั้น “โจ๊ก” บอกว่า จากนี้ไปไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในองค์กรอีก ตอนนี้ต้องเสียสละเรื่องราวในอดีต เซ็ตซีโร่ ส่วนที่ลูกน้องมีคดีก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย ไม่ปกป้อง ทุกคนต้องทำงานเต็มที่ ทุกอย่างจะต้องจบด้วยการให้อภัย จะถอนฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว และตำรวจกว่า 200 นายที่ทำคดี เช่นเดียวกับ พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีรโรจนะพงษ์ ที่เป็นลูกน้อง เมื่อ ผบ.ตร.เรียกพบก็ต้องยุติ
ท่วงท่าแถลงของสองผู้ยิ่งใหญ่แลดูอลังการ แต่สังคมงุนงง-สับสนกับคำว่า “ทุกอย่างจะต้องจบด้วยการให้อภัย”
“สี” ที่ต่างเคยสาดใส่กันทั้งทางตรง ทางอ้อม ทั้งตัวตรง ตัวย่อ ล้วนเป็น “สีดำ” ซึ่งหมายถึงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหากระทำผิดทางอาญาทั้งในฐานะบุคคลธรรมดาและฐานะเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษากฎหมาย
“ทุกอย่างจะต้องจบด้วยการให้อภัย” ได้อย่างไรกัน
สังคมต้องการให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ นายชาติชาย จีระพันธุ และ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง ทำความจริงให้ปรากฏ
ที่ประเทศพึงประสงค์ไม่ใช่การสยบรอยร้าว ลูบหน้าปะจมูก จับมือกอดเอวจูบปากกันระหว่างคู่ขัดแย้ง แต่ต้องการให้สืบสาวและกวาดล้าง “ขบวนการคอร์รัปชั่น” ที่ฝังรากลึกในวงการตำรวจอย่างจริงจัง
ไม่ว่า “การดำเนินคดีอาญา” จะอยู่ในมือของ “พนักงานสอบสวน” หรือ “ป.ป.ช.” ผู้มีหน้าที่จะต้องช่วยกันรื้อขยะใต้พรมออกมาสะสาง
“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” จะได้สูงขึ้นเกื้อกูลแก่การปฏิรูปตำรวจในอนาคต!?!!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022