ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในปี 2020 และตามมาด้วยสถานการณ์สงครามยูเครนในปี 2022 แล้ว ดูเหมือนว่า การก่อการร้ายที่เคยเป็นประเด็นใหญ่ในเวทีโลกมาก่อนหน้านั้น ดูจะลดความสำคัญลงมาก โดยวัดได้จากสถิติการก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนเสมือนหนึ่งการก่อการร้ายกำลังถอยออกไป และเปิดทางให้กับการมาของสงครามตามแบบเช่นที่เกิดในยูเครน
แม้ในปลายปี 2023 เราจะเห็นการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส แต่ก็มีลักษณะของการโจมตีด้วยการใช้กำลังอย่างไม่ปกปิด ไม่ใช่เป็นการก่อการร้ายในแบบการวางระเบิด หรือการใช้ระเบิดฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นการก่อเหตุอย่างเปิดเผย ไม่ใช่เป็น “ปฏิบัติการลับ” ดังเช่นที่บรรดาผู้ก่อการร้ายตามปกติกระทำกัน
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบันนั้น การก่อการร้ายจะเป็น “วาระความมั่นคง” ที่ดูจะมีความสำคัญน้อยลง เพราะเวทีโลกกำลังเผชิญกับสภาวะของสงครามโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในยูเครน กาซา หรือในทะเลแดงก็ตาม
ในความเป็นจริงของโลก เราอาจตอบได้ดีว่า การก่อการร้ายไม่เคยหายไปจากเวทีโลกอย่างแน่นอน ตราบเท่าที่สถานการณ์ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ในการเมืองโลกแล้ว ตราบนั้นการก่อการร้ายยังคงเป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นได้เสมอ หรือบางทีเราอาจต้องยอมรับความจริงประการสำคัญว่า การใช้ความรุนแรงทางการเมืองยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญของ “ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ” ที่จะใช้ก่อเหตุกับ “ตัวแสดงที่เป็นรัฐ” เสมอ
ฉะนั้น ในภาวะเช่นนี้จึงทำให้หลายฝ่ายดูจะกังวลกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัฐ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวัน ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง จนทำให้เราไม่ทันคิดถึงการก่อการร้ายเท่าใดนัก ประกอบกับกิจกรรมของบรรดาขบวนการก่อการร้ายได้ถูกปราบปรามอย่างหน้ก
แต่แล้วสิ่งที่คาดไม่ถึงในทางความมั่นคงก็เกิดขึ้น เมื่อรัสเซียถูกการก่อการร้าย ซึ่งในขณะนี้อาจจะยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า “ใครเป็นผู้กระทำ?” แม้ในเบื้องต้น “กลุ่มรัฐอิสลาม” หรือ “กลุ่มไอเอส” (IS- The Islamic State) จะออกมาแถลงในวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยอ้างถึงความรับผิดชอบในฐานะผู้กระทำก็ตาม แต่ผู้นำรัสเซียกลับพยายามสร้างข้อมูลที่มีนัยว่า การก่อการร้ายมีความเกี่ยวโยงกับทางยูเครน ซึ่งผู้นำรัฐบาลยูเครนได้ออกข่าวปฎิเสธแล้ว แต่ทางการรัสเซีย และสื่อของรัฐดูจะแถลงไปในทิศทางเดียวกัน ที่ไม่กล่าวถึงการแถลงยอมรับของกลุ่มไอเอสในฐานะผู้ก่อเหตุ
การเปิดประเด็นเช่นนี้ไม่มีความชัดเจนถึงแหล่งข้อมูล และหลักฐานของฝ่ายรัสเซียแต่อย่างใด ซึ่งทำให้เกิดการตีความได้ว่า ผู้นำรัสเซียพยายามโยนความรับผิดชอบให้กับทางรัฐบาลยูเครนเท่านั้นเอง เพราะการกระทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้าง “กระแสชาตินิยมรัสเซีย” ในการต่อต้านรัฐบาลยูเครนเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้าง “กระแสต่อต้านยูเครน” ในสังคม อีกทั้งยังเป็นการแสวงหาความสนับสนุนจากสาธารณชนรัสเซียให้ช่วยสนับสนุน “สงครามของประธานาธิบดีปูติน” ในยูเครนอีกด้วย อีกทั้ง ความรุนแรงที่เกิดนั้น ยังช่วยสร้างกระแสความเห็นใจต่อรัฐบาลรัสเซียในยามที่ประเทศต้องเผชิญกับการถูกโจมตีจากการก่อการร้าย และสนับสนุนต่อนโยบายระดมพลของผู้นำรัสเซียอีกด้วย
อย่างไรก็ตามในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าทางฝ่ายประเทศตะวันตกได้แจ้งเตือนประชาชนของประเทศตนที่อยู่ในรัสเซียจากข้อมูลข่าวกรองว่า ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่มีการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ยังมีการแจ้งเตือนหน่วยงานความมั่นคงรัสเซียในเรื่องนี้ด้วย ดังที่สำนักข่าวทัส (Tass) ของรัสเซียยอมรับว่า เป็นความจริงที่หน่วยงานความมั่นคงรัสเซียได้รับการแจ้งเตือนจากฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ถึงการโจมตีดังกล่าว
จากรายงานที่ปรากฏในสื่อตะวันตก ล้วนพุ่งเป้าของผู้ก่อเหตุไปยัง “กลุ่ม ISKP” หรือ “กลุ่มรัฐอิสลามแห่งจังหวัดโคราซาน” (Islamic State Khorasan Province- ISKP) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของกลุ่มรัฐอิสลามจากอัฟกานิสถาน กลุ่มนี้ก่อตั้งในปี 2015 และพยายามที่จะเปิดปฏิบัติการในรัสเซียมาก่อนแล้ว และการแถลงความรับผิดชอบของกลุ่มนี้ ก็ไม่แตกต่างจากการแถลงของกลุ่มนี้ในครั้งก่อนๆ เช่น การโจมตีกองกำลังของฝ่ายตะวันตกในอัฟกานิสถาน หรือการโจมตีสนามบินคาบูลในปี 2021 ที่มีทหารอเมริกันเสียชีวิตถึง 13 นาย และพลเรือนอีกกว่า 150 คน หรือการโจมตีสถานทูตรัสเซียในคาบูลในปี 2022 นอกจากนี้ กลุ่มรัฐอิสลามโคราซานเองได้เคยนำเสนอวาทกรรมต่อต้านรัสเซียมาเป็นระยะแล้ว
การที่รัสเซียตกเป็นเป้าหมายการก่อการร้ายจากกลุ่มรัฐอิสลามนั้น อาจอธิบายได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นบทบาททางทหารของรัสเซียในการปราบปรามกลุ่มกบฏในซีเรียในปี 2015 หรือการมีปฏิบัติการทางทหารในแอฟริกา เช่น ในมาลี บูร์กินาฟาโซ ตลอดรวมถึงการปราบปรามชาวมุสลิมในสังคมรัสเซียเอง และก่อนเกิดเหตุก็เพิ่งมีการจับกุมชาวมุสลิมที่ต้องการก่อเหตุกับโบสถ์ชาวยิว เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่ง การก่อการร้ายครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ระบบงานความมั่นคงของรัสเซียมุ่งไปสู่ปัญหาสงครามในยูเครนเป็นหลัก จนอาจจะละเลยต่อปัญหาการป้องกันการก่อการร้ายในบ้าน แม้สังคมรัสเซียในอดีตได้เคยเผชิญกับความรุนแรงขนาดใหญ่ในบริบทของ “การก่อการร้ายในเมือง” มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบุกยึดโรงละครใจกลางกรุงมอสโคว์ในปี 2002 และการบุกยึดโรงเรียนเด็กที่เมืองเบสแลนในปี 2004 แต่การเตรียมรับการก่อการร้ายในเมืองของรัสเซียปัจจุบัน ดูจะอ่อนลงอย่างมาก
การกลับมาของภัยคุกคามของการก่อการร้ายครั้งจึงเป็นความท้าทายต่อ “ระบอบปูติน” อย่างมาก เป็นเสมือนการ “รับน้องใหม่” หลังชัยชนะในการเลือกตั้งของประธานาธิบดีปูตินที่เพิ่งผ่านมา !