มองไทยใหม่ : สระโอะลดรูป VS สระออ

สระโอะลดรูป กับ สระออ ในภาษาไทยเมื่อแทนด้วยอักษรไทยแล้วอาจจะสร้างความสับสนในการอ่านได้

สระออ ใช้พยัญชนะ อ อ่าง เป็นตัวแทนของเสียงออ เช่น กอ ขอ คอ ส่วน สระโอะลดรูป ไม่มีรูปสระกำกับ มีเพียงพยัญชนะ ๒ ตัว เรียงต่อกันก็ออกเป็นเสียงโอะได้แล้ว เช่น กก กด กบ กง กน กม ยกเว้น กว กับ กย ที่ไม่อาจจะอ่านเป็นสระโอะลดรูปในภาษาไทยมาตรฐานได้

ขอให้สังเกตว่า เราสามารถเขียนรูปที่แสดงเสียงสั้นยาวคู่กันได้ ยกเว้นเสียงสั้นของคำที่ลงท้ายด้วย ว กับ ย เช่น

เสียงโอ เสียงโอะ

โกก    กก

โกด     กด

โกบ    กบ

โกง     กง

โกน     กน

โกม     กม

โกย    *กย

โกว    *กว

หมายเหตุ เครื่องหมาย * ที่กำกับไว้ข้างหน้าแสดงว่าไม่ปรากฏรูปเขียนดังกล่าว

ปัญหาการอ่านเกิดขึ้นเมื่อสระออมีตัวสะกด เพราะอาจจะเกิดการสับสนว่าคำนั้นจะออกเป็นสระออ หรือเป็นสระโอะลดรูป

ตัวอย่างคำที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เช่น

กอบ ขอบ คอบ งอบ จอบ ชอบ ตอบ นอบ (ระ)บอบ ปอบ ผอบ มอบ ยอบ รอบ ลอบ ว็อบ(แว็บ) สอบ หอบ

ในตัวอย่างข้างต้นนี้ มีเพียง ผอบ คำเดียวที่เป็นคำ ๒ พยางค์ และพยางค์หลังอ่านแบบสระโอะลดรูป นั่นคือ

ผอบ [ผะ-] น. ภาชนะสำหรับใส่ของ มีเชิง ฝาครอบมียอด มักทำด้วยโลหะหรือไม้กลึง เป็นต้น.

ในปัจจุบัน ภาชนะชนิดนี้คงไม่เป็นที่นิยมใช้กันแล้ว ถึงแม้จะมีปรากฏในวรรณกรรมบางเรื่อง เช่น จันทโครบ/จันทโครพ ก็ตาม จึงมีผู้ไม่รู้จักคำนี้และอ่านคำนี้ในทำนองเดียวกับคำว่า ปอบ คืออ่านเป็นสระออมีตัวสะกด

เรื่องนี้สันนิษฐานได้เป็น ๒ อย่าง คือ

๑. อ่านตามหลักแนวเทียบ เพราะพลั้งเผลอ

๒. อ่านตามหลักแนวเทียบ เพราะขาดความรู้

ผู้อ่านคำนี้ในทำนองเดียวกับคำว่า ปอบ เท่านั้นที่จะตอบได้ว่าผิดพลาดข้อใด