เศรษฐกิจ / บาทแข็งกระทบส่งออก-ท่องเที่ยว เจ็บจริง…หรือแค่ทฤษฎี?

เศรษฐกิจ

บาทแข็งกระทบส่งออก-ท่องเที่ยว เจ็บจริง…หรือแค่ทฤษฎี?

ปีนี้น่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยสดใดมากขึ้น ประมาณการของสำนักเศรษฐกิจต่างๆ คาดว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวได้ถึง 4%

หลังจากหยุดยาวในช่วงคริสมาสต์และปีใหม่กลับมาเปิดต้นปี ตลาดการเงินไทยร้อนแรง จากแรงซื้อในประเทศหลังขายทำกำไรไปก่อนปีใหม่

และยังมีกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติมาลงทุนทั้งในตลาดหุ้น ที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยขึ้นไปทำสถิติสูงสุดในรอบ 43 ปีนับตั้งแต่ที่มีการเปิดทำการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2518 โดยดัชนีสูงสุดอยู่ที่ 1,813.17 จุด

เช่นเดียวกับตลาดพันธบัตรมีแรงซื้อเข้ามาหนักหน่วง ดันค่าเงินบาทให้แข็งค่าสูงสุดในรอบ 40 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 แข็งค่าสุดถึงระดับ 32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สร้างความกังวลและเกิดการตั้งคำถามว่าจะมีผลกระทบกับภาคส่งออกหรือไม่ และรวมไปถึงภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญที่ขับดันเศรษฐกิจ เพราะหากทอนกลับเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ

นักท่องเที่ยวอาจคิดหนักที่จะมาเที่ยวไทยต้องจ่ายแพงขึ้น

กรณีนี้ มีหลากหลายความเห็น อย่าง ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นในบทความ เงินบาทกับเศรษฐกิจไทย ว่า หากพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปของดอลลาร์สหรัฐคู่ไปกับค่าเฉลี่ยของค่าเงินบาทในแต่ละปี จะพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กันแต่ประการใด

ไม่ใช่เพราะค่าเงินบาทไม่มีผลต่อการส่งออกสินค้าของไทย แต่เป็นเพราะการส่งออกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

สำคัญที่สุดคือภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก จากผลศึกษาของ ธปท. พบว่าผลของการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าต่อปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยมีมากกว่าผลของค่าเงินบาทเกือบสิบเท่า

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐกับการขยายตัวของการส่งออกไม่ไปด้วยกัน เพราะการส่งออกในภาพรวมจะดีไม่ดี ไม่สามารถดูได้จากค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว แต่ต้องดูค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าและคู่แข่งอื่นๆ ด้วย

ซึ่งเงินบาทไม่ใช่เงินสกุลเดียวที่แข็งค่า ไทยจึงไม่เสียเปรียบประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมีผลโดยตรงต่ออัตรากำไรของผู้ส่งออก เนื่องจากหนึ่งดอลลาร์ที่ผู้ส่งออกขายได้ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทแล้วได้เงินน้อยลง

สอดคล้องกับความเห็นของ อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่มองว่ากระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาทำให้บาทแข็งค่า หรือหุ้นที่ขึ้นมาในระยะสั้น เป็นผลจากปัจจัยของดอลลาร์สหรัฐมากกว่าปัจจัยในประเทศ

ทั้งนี้ มองว่าค่าเงินมีผลต่อการส่งออกแต่ไม่มากนัก ประเด็นที่จะกำหนดส่งออกเป็นบวกหรือลบส่วนใหญ่ คือการเติบโตเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป หรือจีน หากยังต้องการสินค้าก็ส่งออกได้ ทั้งนี้ แม้ค่าเงินบาทแข็งแต่เป็นการเคลื่อนไหวตามประเทศในภูมิภาค ก็ทำให้ไม่เสียความสามารถในการแข่งขัน

ที่สำคัญปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตพร้อมกัน ไทยจะใช้โอกาสการเติบโตเศรษฐกิจโลกอย่างไร จะแข่งขันกับเพื่อนบ้านอย่างไร ซึ่งเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นทำให้มีความต้องการสินค้ามากขึ้น แต่หากสินค้าไทยไม่สู้เพื่อนบ้าน ก็ขายไม่ได้ จึงต้องสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มของสินค้า

จังหวะนี้ผู้ประกอบการและนักลงทุนควรใช้โอกาสจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในการลงทุนและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ เพราะเป็นช่วงที่ได้ของถูก ขณะที่ดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำ ต้นทุนการเงินต่ำ ซึ่งการลงทุนจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า ซึ่งการขายของถูกขายยากกว่าของแพงเพราะการแข่งกันรุนแรง มีคนขายมากกว่าคนซื้อ

ทั้งนี้ สิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศไทยระยะต่อไป คือการใช้เครื่องจักร (ออโตเมชั่น) ที่จะแก้ปัญหาเรื่องคนงานและค่าจ้างที่สูงขึ้น

ขณะที่ พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า กรอบค่าเงินบาทปีนี้จะอยู่ที่ 32.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจจะกระทบกับรายได้ในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก

แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวและมีการทำประกันความเสี่ยงรองรับได้

ที่น่ากังวล คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ายาวนาน จะกดดันรายได้เกษตรกรเมื่อขายของได้และมาแปลงมาเป็นค่าเงินบาท โดยเฉพาะเมื่อประเทศที่มีสินค้าเกษตรส่งออกใกล้เคียงกันไม่ได้มีค่าเงินแข็งค่าเท่ากับค่าบาทที่แข็งค่า 10% เทียบดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา อาทิ เวียดนาม จีน เป็นต้น ต้องติดตามสินค้าเกษตรชนิดที่คล้ายกัน รวมทั้งปีนี้คาดว่าผลผลิตที่ออกมามากจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

ด้านการท่องเที่ยวนั้น พชรพจน์มองว่า หากค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงไม่มาก หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน ค่าเงินจะไม่มีผลต่อการท่องเที่ยว

หากจะกระทบค่าเงินต้องเปลี่ยนแปลงไปราว 20-30% ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

อย่างกรณี ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียที่อ่อนค่าไปกว่า 50% ในปีก่อนๆ ผนวกกับเศรษฐกิจรัสเซียแย่ ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียหายไปจากตลาดไทย แต่ค่าเงินแข็งขึ้น 10% ไม่ถือว่ากระทบต่อการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศบราซิล อินเดีย รัสเซีย และจีน จะมีแนวโน้มดีขึ้น จะส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศนี้เข้ามาในไทยมากขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีความหลากหลายและกระจายตัว คาดว่านักท่องเที่ยวปีนี้จะมีจำนวนกว่า 38 ล้านคน จากปีที่ผ่านมาที่ทะลุ 35 ล้านคน

ส่วนนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย มองว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะกระทบในแง่ที่หากแข่งสวนทางกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มเอเชียและอาเซียน อย่างกรณีที่ค่าเงินบาทไทยแข็งค่ากว่ามาเลเซีย 7% ในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำ พบว่าการท่องเที่ยวในภาคใต้ชะลอไป

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากหน่วยงานดูแลการท่องเที่ยว อย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดย ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ให้มุมมองว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้กระทบต่อการท่องเที่ยวไทยมากนัก เพราะคนที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวไม่ได้ใช้ต้นทุนท่องเที่ยวพิจารณาเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นประกอบ

ในแง่จำนวนคนมองว่าจะไม่กระทบ เพราะไทยมีกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เป็นนักท่องเที่ยวเส้นทางระยะไกลที่เดินทางมาท่องเที่ยวระยะยาว กลุ่มนี้จะมีระยะการท่องเที่ยวชัดเจน เช่น 2-3 สัปดาห์ ขณะที่นักท่องเที่ยวระยะสั้น อาจจะเปลี่ยนแปลงจุดหมายไปบ้าง เพราะประเทศอื่นๆ ก็เปิดการท่องเที่ยวมากขึ้น ขณะที่สิ่งที่กังวลคือนักท่องเที่ยวไทยจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเฉพาะตลาดบนที่มีกำลังซื้อ

ดังนั้น ททท. จึงจะขยายฐานนักท่องเที่ยวคนไทยให้เที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยโฟกัสกลุ่มนักท่องเที่ยวตามช่วงอายุ และตอบโจทย์การท่องเที่ยวที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ เป็นธีมหลักการท่องเที่ยวปีนี้จะส่งเสริมในแคมเปญ “เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต” สอดคล้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดที่สามารถนำค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวมาหักลดหย่อนภาษีได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปียังมีโอกาสผันผวนได้ทั้งแข็งค่าและอ่อนค่า ท่ามกลางมุมมองต่อการส่งออกและท่องเที่ยวปีนี้ ทุกสำนักเศรษฐกิจมองว่าจะยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ยังต้องติดตามใกล้ชิดว่าผลที่เกิดขึ้นจริงจะเป็นอย่างไร จะตรงตามทฤษฎีหรือหักปากกาเซียนหรือไม่!