หลาก “ร่าง” หลาย “รูป” : ในประเทศ

เนื่องในโอกาสวันเด็ก 13 มกราคม

ทำเนียบรัฐบาล จัดหุ่น (สแตนดี้) ภาพเหมือนนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 17 แอ๊กชั่น วางตามจุดต่างๆ เพื่อเตรียมต้อนรับเด็กและผู้ปกครองที่จะมางาน

โดยก่อนจะถึงวันงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เล่นมุขกับสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาล

ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ยกสแตนดี้รูป พล.อ.ประยุทธ์ ขนาดเท่าตัวจริง มาตั้งที่หน้าไมโครโฟน

พร้อมกล่าวว่า “ถ้าใครจะถ่ายรูป ใครจะสอบถามปัญหาการเมือง ความขัดแย้ง ถามกับไอ้คนนี้นะ”

สร้างรอยยิ้มให้กับผู้สื่อข่าวและข้าราชการประจำทำเนียบ

อย่างไรก็ตาม ภาวะ “หลากร่าง หลายรูป” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ใช่จะเรียกเพียงรอยยิ้มเท่านั้น

บางทีก็แฝงเรื่อง “เครียด” เอาไว้เช่นกัน

เป็นที่ทราบกัน ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีอยู่ 3 ร่าง ใน 1 รูป

นั่นคือ 1) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

2) นายกรัฐมนตรี

และที่ประกาศล่าสุด

3) นักการเมือง

ทั้งนี้ ในร่างหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ ได้สร้างความเครียดในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ว่า

“สิ่งที่ผมคาดหวัง

1. ลดความยากจน ลดความเดือดร้อน

2. เดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่ไม่มีความขัดแย้งอีกต่อไป

ทุกอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้ ผมประกาศไว้เลย สถานการณ์ถ้ายังมีความขัดแย้งสูง

การเลือกตั้งได้หรือเปล่า ผมไม่รู้ ฉะนั้น อย่าทำให้มันเกิดขึ้น ผมไม่ได้เป็นคนทำ

ถ้าอยากให้มีการเลือกตั้ง ขอให้มีความสงบสุขเรียบร้อย ถ้าไม่สงบ เลือกแล้วถ้าเลือกตั้งไปแล้วยังตีกันอยู่ ผมก็รับผิดชอบไม่ได้

แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพียงแต่พูดปรามไว้สำหรับคนที่จะสร้างความวุ่นวาย”

ในร่างหัวหน้า คสช. “การเลือกตั้ง” ดูจะเป็นสิ่งที่ยังไม่แน่นอนนัก

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวย้ำว่า ยังเดินหน้าตามโรดแม็ป

คือมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่ทั้งนี้ต้องให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเสียก่อน

ซึ่งแม้ดูว่าชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังมีความกำกวมอยู่

โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ หวนกลับไปอยู่ในร่างหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

อ้างว่า เพื่อปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินงานธุรการได้ก่อนจะมีการปลดล็อกทั้งหมด

แต่ปรากฏว่าถูกรุมโจมตีจากพรรคการเมือง โดยเฉพาะประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ว่าเป็นกลเกมที่จะรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองเดิม และอำนวยความสะดวกให้กับพรรคการเมืองใหม่

เป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุน หรือเป็นพรรคทหาร ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคการเมืองได้เคลื่อนไหวต่อต้านอย่างรุนแรง นอกจากขู่จะยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

ยังเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงจุดยืนที่ชัดเจน อย่าฉกฉวยหาประโยชน์จากแง่มุมกฎหมาย

ประกอบกับมีเสียงเตือนจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้ “กองหนุน” จนแทบจะหมดแล้ว จำเป็นจะต้องสร้างศรัทธากับประชาชนและกลุ่มต่างๆ เพื่อดึง “กองหนุน” กลับมา

ทําให้หลังปีใหม่ 3 มกราคม 2561

พล.อ.ประยุทธ์ ในร่างนายกรัฐมนตรี ได้สร้างความฮือฮาขึ้นอีก

เมื่อให้สัมภาษณ์ว่า

“วันนี้ผมต้องเปลี่ยนแปลงเพราะผมไม่ใช่ทหาร เข้าใจไหม”

“เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร มันก็ติดนิสัยทหารอยู่บ้าง”

“แต่ท้ายที่สุดคือประชาชน และไม่ใช่ประชาชนของผม ประชาชนของประเทศไทย และไม่ใช่ของพรรคไหน”

“ทุกคนเป็นพลเมืองไทยก็ต้องหนุนการเมืองที่ถูกต้อง มีธรรมาภิบาล มีการเลือกตั้งในระบบยุติธรรม”

“มีพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ มีพรรคการเมือที่ใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าและประหยัด ตรวจสอบได้ และการตรวจสอบเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม อย่ามาตัดสินกันเองเลยทุกเรื่อง”

คำสัมภาษณ์ กลายเป็นข่าวครึกโครมทันที

เพราะเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นนักการเมือง

โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะเป็นนักการเมืองยาวๆ ไปเลยหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่เคยอยากเป็นสักวัน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ยังไม่ได้อยากเป็น

“แต่มันด้วยหน้าที่ความจำเป็น ชีวิตรับผิดชอบ ผมรับผิดชอบด้วยชีวิตของผม”

คำว่า “นักการเมือง” จึงไม่ใช่กลอนพาไป หากแต่เป็นจุดยืนที่จงใจจะประกาศให้สาธารณชนรับรู้

“นักการเมือง” จึงถือเป็นร่างที่ 3 ของ พล.อ.ประยุทธ์

ร่างที่จงใจเปิดเผยให้ชาวบ้านรับรู้

รับรู้ว่า การจะก้าวสู่การเมืองของตนเองนั้น ไม่ได้มาในฐานะทหาร ที่มีพรรคทหารเป็นฐานสนับสนุน

แต่จะมาตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด

นั่นคือ นายกรัฐมนตรีคนนอก

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ยอมรับตรงๆ หากแต่ก็ยืนยันว่าจะไม่ปิดโอกาสตนเองที่จะเข้ามาด้วยช่องนายกรัฐมนตรีคนนอก

ซึ่งหากทำสำเร็จ ก็จะกลายเป็นร่างที่ 4 ของ พล.อ.ประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม การประกาศจุดยืนเป็นนักการเมือง แม้จะมีเสียงตอบรับในเชิงบวกจากทุกฝ่าย คือ ทำให้ทุกอย่างชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการอะไร

แต่ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามนั้น

เส้นทางของนายกรัฐมนตรีคนนอกยังอยู่อีกไกล

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้น นั่นคือ การที่ประชาชนยอมรับความเป็นนักการเมืองของตน

และแน่นอน ย่อมไม่ใช่นักการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ก่นด่ามาตลอดว่า ชั่ว สามานย์ เป็นผู้สร้างปัญหาให้สังคมมาตลอด จนตนเองต้องเข้ามายึดอำนาจ

พล.อ.ประยุทธ์ได้โชว์ความเป็นนักการเมือง ด้วยการแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มกราคม ว่า

“วันนี้ต้องเป็นคนของประชาชนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม หรือจะเป็นอะไรที่ทุกคนอยากตั้งให้ ผมเป็นได้หมด

วันนี้ผมทำหน้าที่เพื่อประชาชน และอยากจะบอกว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่มายืนอยู่ตรงนี้ จะมาด้วยวิธีใดก็ตาม ขอให้ดูเจตนารมณ์ความมุ่งมั่น

ผมพยายามที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง หากใครที่คิดมุ่งมั่นอย่างนั้นก็เหมาะสมที่จะมาบริหารงานในอนาคตต่อไป”

ฟังดูดี

แต่ก็นั่นแหละ ยังเป็นเพียงคำพูดที่จับต้องไม่ได้

หาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการจะเป็นร่างที่ 4 คือ นายกรัฐมนตรีคนนอก ยังจะต้องทำอะไรอีกมาก

โดยอย่างน้อยที่สุด ก็ต้องพิสูจน์และยืนยันว่า การจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก จะต้องไม่มีบทบาทของร่าง 2 ร่างคือ หัว คสช. และนายกฯ จากการรัฐประหาร เข้ามาเกี่ยวข้อง

ซึ่งดูเหมือนจะขาดความไว้วางใจอยู่มาก

ด้วยหลายฝ่ายไม่เชื่อว่า การต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง จะปลอดซึ่งอำนาจสีเขียวที่ได้จัดตั้งไว้แล้วทั้งในรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก รวมถึงคำสั่งต่างๆ

ขณะเดียวกัน พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ แม้จะไม่ใช่พรรคที่จัดตั้งโดยทหารหรือกองทัพ แต่หลายคนก็เชื่อไปแล้วว่า พรรคที่ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะมีแต้มต่อทางการเมืองอันสูงลิ่ว

และเมื่อผสานไปกับพรรควุฒิสมาชิก ก็ยากยิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนนอกจะไม่มีเสื้อคลุมสีเขียวห่อหุ้มอีก

รวมทั้งเมื่อถึงที่สุดแห่งที่สุด คือหากพรรคการเมืองจับมือต่อต้าน หรือ “กองหนุน” เปลี่ยนจุดยืน ไปเป็นอื่น ดังคำเตือนของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

การเลือกตั้งก็อาจถูกลากยาวออกไป หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้

ทั้งนี้ก็ด้วย “ฤทธานุภาพ” ของร่างที่อยู่ในคนหลายร่างนั่นเอง