รู้ชีวิต…ด้วยดวงดาว ศ. ดุสิต อ่านอนาคตของคุณไม่ยากหรอก…แค่รู้จักดาว 10 ดวงเท่านั้น! เรื่องลึกในโหราศาสตร์ไทยชุด “คลังโหร” แรงเอื้อมของดาว (ต่อ)

รู้ชีวิต…ด้วยดวงดาว/ศ. ดุสิต

อ่านอนาคตของคุณไม่ยากหรอก…แค่รู้จักดาว 10 ดวงเท่านั้น!

เรื่องลึกในโหราศาสตร์ไทยชุด “คลังโหร”

แรงเอื้อมของดาว (ต่อ)

ในตอนที่แล้วผมว่ามาถึงคุณสมบัติของดาวพุธ ตอนนี้ก็เชิญติดตามคุณสมบัติของดาวที่เหลือกันต่อไป

๕. พฤหัสฯ

– ด้านเด่น ใฝ่รู้, มีคุณธรรมจริยธรรม, รักความถูกต้อง, เมตตากรุณา, เห็นใจผู้ที่ด้อยกว่าเสมอ, สติปัญญาดี ฯลฯ

– ด้านด้อย มักด้อยด้านจริยธรรม, ชอบพลิกแพลงกฎระเบียบ, ใช้สติปัญญาในทางที่ไม่ถูกต้องนัก, มักจะถือประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ ฯลฯ

๖. ศุกร์

– ด้านเด่น รักสวยรักงาม, รักศิลปและธรรมชาติ, สนุกสนานเฮฮา, ทำอะไรมักมีความสวยงามอยู่ในตัว, ชอบหรูหราฟุ้งเฟ้อ, มีรสนิยมสูง, รักจริง

– ด้านด้อย ขาดการควบคุมตัวเอง (มักปล่อยตัวตามอารมณ์), ชีวิตมักพบกับความอาภัพหรือผิดหวัง, ไม่ค่อยรักสวยรักงามนัก (บางครั้งทำตัวสกปรกด้วยซ้ำ), ขาดความรอบคอบในชีวิต, มีรักมากกว่าหนึ่ง, ชอบใช้ชีวิตตามโลกียวิสัย ฯลฯ

๗. เสาร์

– ด้านเด่น สุขุมรอบคอบ, รักสันโดษ, มีความสงบเย็น, มัธยัสถ์ (ไม่สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย), ยั่งยืน, อดทนสูง ฯลฯ

– ด้านด้อย ตระหนี่ถี่เหนียว, วิตกจริตเก่ง. เชื่อตัวเองสูง (ดื้อ), ชอบหาทุกข์ใส่ตัว, ปล่อยตัวตามกิเลส, ความรู้สึกรุนแรง ฯลฯ

๘. ราหู

– ด้านเด่น ใจกว้าง, สมาคมเก่ง, ตรงต่อเวลา, คบคนง่าย, ชอบความจริงจัง (ทำอะไรทำจริง), มีไหวพริบในการปรับตัวได้ดี ฯลฯ

– ด้านด้อย ชอบทำสิ่งเหลวไหล, หลงอบายมุขง่าย, ใจอ่อนเกินไป, ลุ่มหลงสิ่งใดง่าย, เปลี่ยนใจเก่ง, ไม่ตรงต่อเวลา, ปากกับใจไม่ค่อยตรงกัน, รักเร็วเกลียดเร็ว, มีไหวพริบในการเอาตัวรอดได้ทุกรูปแบบ ฯลฯ

ก็ว่ามาทั้งหมด 8 ดาว (รวมราหูด้วย) โดยไม่มีพระเกตุและดาวมฤตยู เพราะทั้งคู่นี้ไม่มีเรือนอาศัยและไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของภพใดๆ เลย อีกประการหนึ่งสมัยโบราณนั้นก็ยังไม่มีพระเกตุกับมฤตยูแต่อย่างใด (สมัยต้นรัชกาลที่สี่)

มีแต่ราหูที่ก็เพิ่งคิดคำนวณขึ้นมาในยุคนั้น จึงถูกนำมาร่วมด้วยเพื่อให้ลงตัวกับการจับคู่ดาว

ทำไมต้องมีการจับคู่ดาว

จับคู่กันทำไม

จับกันอย่างไร?

ที่ต้องจับคู่กันก็เพราะสูตรนี้มีกฎอยู่ว่า ดาวที่ระบุไว้ในสูตรนี้นั้นจะใช้เฉพาะการ “เล็งลัคนา” เท่านั้น ถ้าดาวต่อดาวเล็งกันจะใช้สูตรนี้ไม่ได้ เพราะดาวต่อดาวเล็งกันในราศีปกตินั้นจะส่งกำลังหรือแรงของตัวเองออกไปทั้งหมด ไม่ใช่ส่งแต่ด้านด้อยเหมือนกับเล็งลัคนา

แม้แต่การเล็งลัคนาก็ยังมีกรณีพิเศษที่สามารถ “คุ้ม” ลัคนาได้อีก

และจุดหนึ่งที่สามารถคุ้มลัคนาได้ก็คือ ถ้าลัคนามีดาวคู่เล็งของดาวนั้นสถิตร่วมอยู่ด้วย ก็จะสามารถสกัดด้านด้อยของดาวนั้นให้ลดปริมาณลงได้ ทำให้เกิดผลดีแก่ลัคนาหรือแก่ชาตาของดวงนั้นได้ทันทีเลย

ดาวคู่เล็งคือใคร?

เรื่องนี้ไม่ยาก มือใหม่ก็รู้อยู่แล้ว ก็คือดาวที่เป็นเกษตรในราศีที่ดาวเล็งกันนั่นเอง ซึ่งมีอยู่ 4 คู่คือ…

1. อาทิตย์กับราหู

2. จันทร์กับเสาร์

3. อังคารกับศุกร์

4. พุธกับพฤหัสฯ

ที่จริงเรื่องของดาวคู่เล็งนี้ยังมีใช้อยู่ในสูตรอื่นๆ อีกหลายสูตรเหมือนกัน ว่างๆ ถ้ามีเวลาผมจะนำมาขยายให้ฟังกันอีก แต่ในสูตรนี้ เช่น ถ้าดาวเสาร์เล็งลัคนาอยู่ แต่ดวงชาตานั้นมีดาวจันทร์กุมลัคน์อยู่ อย่างนี้เสาร์ก็ส่งด้านด้อยของตัวมาให้ลัคนาได้เพียงเล็กน้อย คือไม่เต็มที่นักเพราะมีดาวจันทร์คู่ราศีเล็งของตัวสกัดอยู่ ดาวอื่นก็ใช้หลักการนี้เช่นเดียวกัน

พูดง่ายๆ ก็คือ ดาวคู่เล็งเป็นตัวป้องกันให้แก่ลัคนานั่นแหละ นอกจากนี้แล้วยังอาจนำกฎนี้ไปใช้ในกรณีที่ดาวเล็งดาวในราศีปกติได้อีกด้วย คือถ้าดาวคู่เล็งเกิดไปเล็งกันเองในราศีคู่ใดคู่หนึ่ง จะเกิดการ “แลก” หน้าที่ของดาวนั้นขึ้นมากับภพที่ดาวเล็งกันอยู่ทันที

ตรงนี้เป็นกรณีที่นักศึกษามือใหม่อาจจะพยากรณ์ไม่ถูก ต้องมีพื้นฐานเรื่องดาวเรื่องภพจัดเจนหน่อยก็จะสามารถทำนายได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว เพราะกรณีอย่างนี้เป็นวิชาในระดับสูงหน่อย ต้องมีความเข้าใจเรื่องภพเรื่องดาวเป็นอย่างดีจึงจะพยากรณ์ได้ดีและถูกต้อง

อ้อ-ลืมบอกไปนิดนึงว่า คำว่า “ด้านเด่น” นั้นไม่ได้หมายความว่าเป็น ด้านดี เสมอไปนะครับ เป็นเพียงความเด่นของดาวดวงนั้นเท่านั้น ความเด่นบางอย่างอาจไม่ใช่ความดีก็ได้ เช่นเดียวกับ “ด้านด้อย” ก็ไม่ได้แปลว่าเป็น ด้านเสีย ทุกอย่าง ในด้านด้อยอาจเป็นสิ่งดีของดวงนั้นก็ได้เหมือนกัน ขอให้เข้าใจตามนี้นะครับ

แจกแจงมาละเอียดพอสมควรแล้ว เห็นจะต้องขอจบลงตรงนี้แหละ สงสัยตรงไหนก็ลองอ่านซ้ำดูอีกสักเที่ยวสองเที่ยวก็จะเข้าใจได้ดี ลองดูนะครับ

“เกร็ดพยากรณ์พระเคราะห์”

จากหนังสือประทีปโหราศาสตร์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ปี พ.ศ.๒๔๙๒ ราคาเล่มละ ๑๐ บาท โดยท่านอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว เขียนจากคัมภีร์โหราศาสตร์และหลักวิชาของพระอาจารย์ หลวงอนุสิทธิ์นนทิการ (เจิม โชติวิท) และท่านอาจารย์ พ.อ.หลวงวิภาครัฐกิจ (ศุข เมนะรุจิ) นักดาราศาสตร์จากประเทศอิตาลี

พระเคราะห์อยู่ด้วยกัน ๒ ตัว

๑ – ๒ เจ้าชู้ นัยน์ตาผิดกัน

๑ – ๓ มีทิษฐิมานะ มีศัตรูไม่สู้ผาสุก ใจร้อนมักเกิดเรื่องวุ่นวาย

๑ – ๔ เจ้าชู้ พูดมาก กระแสเสียงผิดปกติ มีโรคฟัน หรือฟันไม่สวย

๑ – ๕ เรียนรู้อะไรได้ดี วิชาการได้ผล

๑ – ๖ เจ้าชู้ ขี้เหนียว (ถ้าเกิดวันอาทิตย์) เว้นแต่มีตัวนักเลง ครอบ ดูต่อไป

๑ – ๗ ใจร้อน มักไหวตัว ถ้าลัคน์อยู่พิจิก ระแวงแน่นอน

๑ – ๘ มักเดินทาง ผู้ใหญ่ให้ร้าย

๒ – ๓ ใจเร็ววู่วาม มักยุ่งในเพศตรงข้าม มีชู้หรือคู่ของตัวมีชู้

๒ – ๔ เจ้าชู้ ชอบสมาคม วาจาดี

๒ – ๕ วิชาดี ถูกใส่ความแต่ไม่เป็นไร

๒ -๖ เจ้าชู้ มักมีแม่เลี้ยง

๒ – ๗ คู่มักมีชู้ อวัยวะหัวใจ นัยน์ตาไม่ใคร่จะดี

๒ – ๘ มักบอ ห่าม แปลกคน ทะลึ่งตึงตัง คนมักดูหมิ่น

๓ – ๔ พูดเร็ว ไม่น่าฟัง กล้าพูด

๓ – ๕ วิชาแน่น พากเพียรได้ผล

๓ – ๖ เจ้าชู้ มีคู่มาก เสน่ห์ดี

๓ – ๗ ประสาท ลำไส้ไม่สู้ดี มักถูกเขี้ยวงา หรือถูกอาฆาตมาดร้าย

๓ – ๘ มักเป็นโรคลม ทำอะไรเร็ว มักเดินทาง

๔ – ๕ เด่นทางวิชาช่าง เป็นนักประพันธ์ นักพูดอย่างดี

๔ – ๖ เจ้าชู้, มักมากในกาม

๔ – ๗ ฟันไม่ดี พูดเสียงห้าว

๔ – ๘ มีเรื่องจากการโต้เถียง เสียงห้าวใหญ่ พูดเก่ง

๕ – ๖ ดีทั้งทางโลกและทางธรรม คู่สวยงามแต่มักต้องช่วยญาติของคู่นั้น

๕ – ๗ มักมีความขึงขัง ดีทางไสยศาสตร์

๕ – ๘ ความคิดโลดโผน บางทีหลงไป ทำอะไรได้ครึ่งเสียครึ่ง

๖ – ๗ ครุ่นอยู่ในรสความใคร่ มักมีเหตุการณ์บังคับให้เสียความบริสุทธิ์

๖ – ๘ หลงราคะ รักจนหลง

๗ – ๘ เพื่อนมากแต่ล้วนเป็นนักเลง

“พระเคราะห์คู่เกี่ยวกับสามีภรรยา”

๒ – ๕ มักไม่มีพิธีวิวาหะในการมีคู่ครอง

๒ – ๓ อยู่เมถุน ธนู กล้าแข่งขันในความรักทุกวิถีทาง

๒ – ๘ หรือ ๓ – ๘ อยู่กรกฎ แย่งรักเขาโดยปราศจากศีลธรรม

๔ – ๖ มีโชคทางชู้สาว ถ้าอยู่เมถุน กันย์ พฤษภ ตุล เมษ หรือ พิจิก ได้แล้วเลิกกันไม่เป็นเนื้อเป็นตัว

๓ – ๖ มีคู่ผัวตัวเมียอยู่เรี่ยราย (มีได้เรื่อย)

๕ – ๗ – ๘ มุ่งเลือกคนหนึ่ง แต่กลับไปได้คนอื่น ซึ่งเป็นคนต่ำกว่า ท่านยกตัวอย่างว่า ได้กับแม่สื่อที่ใช้นั้นเอง ถ้าพระเคราะห์อยู่ราศีสิงห์ก็เป็นเรื่องอื้อฉาว ไม่ดี ไม่งาม น่าบัดสี

๓ – ๗ อยู่ด้วยกันและ ๒ เล็ง ท่านว่าได้คนใช้สอยนั้นเอง

๒ – ๖ หรือ ๖ – ๘ คู่มักผลาญทรัพย์ เช่น เล่นการพนัน เอาสิ่งของไปจำหน่ายขายเสีย

ตามที่ระบุไว้ ถ้าอยู่ในราศีปัตนิ ก็แน่นอนมาก และเป็นอยู่ตลอดชีวิต ถ้าอยู่ราศีสุหัชชะ กรรมมะ (พิมพ์ตามต้นฉบับ) ก็มีน้ำหนักเพลาลงมาเป็นลำดับ”

อย่าลืมนะครับว่าการพิจารณาผลของดาว ต้องคำนึงถึงกระแสสัมพันธ์กันกับลัคนา, พระเคราะห์, ธาตุ, ราศีต่างๆ ด้วย อย่าจับแต่เกร็ดไปพยากรณ์โต้งๆ อาจผิดพลาดได้ครับ ลองนำไปใช้ดูนะครับ