กรองกระแส / การต่อสู้ 2 แนว ‘เอา’ ทหาร ‘ไม่เอา’ ทหาร ก่อน พ.ย.2561

กรองกระแส

การต่อสู้ 2 แนว
‘เอา’ ทหาร ‘ไม่เอา’ ทหาร
ก่อน พ.ย.2561

ยิ่งใกล้ถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 ทิศทางของการเลือกตั้งเริ่มมีความแจ่มชัด ว่ามีแนวในการต่อสู้ดำเนินไปอย่างไร
พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตัวเป็น “นักการเมือง”
เป็นการประกาศตัวภายหลังการลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 เป็นการประกาศตัวพร้อมกับชูนโยบาย “ประชารัฐ” เพื่อขยายฐาน “กองหนุน” สร้างความนิยมในหมู่ประชาชนตาม ส.ค.ส. อันส่งมาจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ยิ่งก่อให้เกิดการไหวตัวครั้งใหญ่ภายในแวดวงพรรคการเมืองและนักการเมือง
การเดินสายไปพบปะนักการเมืองไม่ว่าจะที่จังหวัดสุพรรณบุรี ไม่ว่าจะที่จังหวัดนครราชสีมา ไม่ว่าจะที่จังหวัดนครปฐม ไม่ว่าจะที่จังหวัดสุโขทัย
พร้อมกับการเทงบประมาณจำนวนหลายพัน หลายหมื่น หลายแสนล้านบาทลงไป
ไม่เพียงแต่จะก่อรูปของ “พรรคทหาร” ในทางเป็นจริง หากแต่ยังนำไปสู่การสลายขั้วจากเดิมเคยเป็นการต่อสู้ระหว่างเหลือง แดง เป็นไปตามบทสรุปจากปัญญาชนนักวิชาการระดับ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ว่า
เป็นเรื่อง “เอาทหาร” กับ “ไม่เอาทหาร”

บทเรียนรัฐประหาร
จาก 2549 ถึง 2557

ต้องยอมรับว่าในห้วง 1 ทศวรรษก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นการเมืองในลักษณะสงครามสี
นิยามสั้นๆ ว่าเป็นระหว่าง “เหลือง” กับ “แดง”
โดยในเบื้องต้นเป็นการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยมีพรรคประชาธิปัตย์หนุนช่วยอย่างเงียบๆ
เป้าหมายพุ่งไปยังรัฐบาลพรรคไทยรักไทย
ต่อมาภายหลังการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 การต่อสู้ทางการเมืองโดย กปปส. ได้พัฒนาไปอีกขั้น เพราะว่าแกนนำด้านหลักมาจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป้าหมายยังเป็นเช่นเดิม นั่นก็คือ พรรคเพื่อไทย อันเป็นอวตารของพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย
กระนั้น เมื่อเกิดรัฐประหารที่นำโดย คสช. รูปแบบและกระบวนการมีความแตกต่างไปจากรัฐประหารของ คมช. เมื่อปี 2549 เพราะว่าหัวหน้า คสช. เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองเพราะไม่ต้องการให้เป็นรัฐประหาร “เสียของ” เหมือนเมื่อ 8 ปีก่อน
นี่คือจุดสำคัญอันก่อให้เกิดการสลายขั้วและก่อเกิดขั้วใหม่ในทางการเมือง

ยุทธศาสตร์ คสช.
สืบทอด “อำนาจ”

คมช. ต้องการเพียงการวางรากฐานและโครงสร้างทางการเมืองใหม่เพื่อขจัดอิทธิพลและทำลายโอกาสของพรรคไทยรักไทย โดยมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของพรรคการเมือง
แต่การเลือกตั้ง 2 ครั้งยืนยันว่าแนวทางนี้ล้มเหลว ไม่เป็นผล
เพราะการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนยังได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยก็ยังได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเช่นเดียวกับพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย
จึงต้องมีรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 อันนำไปสู่การลงมือวางโครงสร้างแห่งอำนาจโดย คสช. ผ่านกระบวนการ “แม่น้ำ 5 สาย” ผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
เด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่า คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจต่อไปอีกระยะหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่ายาวนานเพียงใด
ความเป็นจริงนี้พรรคเพื่อไทยมองเห็นตั้งแต่ต้น ขณะที่พรรคการเมืองอื่นแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์แม้จะมองเห็น แต่ก็ยังมีความหวังว่าจะสามารถร่วมกับ คสช. ต่อสายผ่าน กปปส. เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจใหม่ได้
แต่ยิ่งใกล้เดือนพฤศจิกายน 2561 ยิ่งเด่นชัดว่า คสช. ไม่ได้ต้องการพันธมิตรที่ทัดเทียมกันในแบบพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่ต้องการ “หางเครื่อง” ในแบบ กปปส. มากกว่า ตรงนี้เองที่นำไปสู่การแยกและสลายขั้วในทางการเมือง
นำไปสู่กระบวนการ “เอา คสช.” กับกระบวนการ “ไม่เอา คสช.” เด่นชัดมากยิ่งขึ้น

กระแสการเมือง
เลือกตั้งปี 2561

ไม่ว่าจะมีใครต้องการหรือไม่ต้องการ แต่ทิศทางการเมืองเริ่มแสดงออกอย่างเด่นชัดยิ่งว่า กระบวนการในการต่อสู้ กระบวนการในการหาเสียงจะดำเนินไปในทิศทาง
1 ต้องการให้ คสช. สืบทอดอำนาจหรือไม่
1 ไม่ต้องการให้ คสช. สืบทอดอำนาจและต้านการสืบทอดอำนาจหรือไม่
การเคลื่อนไหวและต่อสู้ 2 แนวทางนี้จะสัมพันธ์กับกระบวนการรัฐประหารและกระบวนการต่อต้านรัฐประหารอย่างแนบแน่น
ไม่ว่าจะรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557
การยืนยันประโยชน์และความจำเป็นของรัฐประหารจะได้รับการกระพือ การยืนยันโทษและความสูญเปล่าจากรัฐประหารจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์
ที่สุดจะนำไปสู่กระแส “เอาทหาร” และกระแส “ไม่เอาทหาร”