อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ปีแห่งความยากลำบาก

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ไม่รู้ว่าปี 2018 ไทยจะเป็นอย่างไร

แต่ดูภาพกว้างแล้วน่าเป็นห่วง จึงอยากให้ดูภาพกว้างของโลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และบ้านเราเอง

 

เสรีนิยมถดถอย

ในปี 2017 หนังสือพิมพ์ The Economist ประเมินให้เห็นว่า เสรีนิยม (Liberalism) ทั่วโลกอยู่ในความยากลำบาก

เสรีนิยมนี้หมายถึง เศรษฐกิจแบบเปิด สังคมแบบเปิดที่เปิดโอกาสให้การแลกเปลี่ยนสินค้า ทุน ประชาชน และความคิดเห็นต่างๆ ทำได้สะดวก อันยังผลเสรีภาพสากลซึ่งป้องกันการบิดเบือนของรัฐด้วย Rule of Law ทำได้ผลและมีประสิทธิภาพ

แต่หลายปีก่อนหน้านั้น เสรีนิยมถดถอยลง ไม่เพียงแต่การเกิดขึ้นของ Brexit และการชนะการเลือกตั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เราได้เห็นประชาธิปไตยไม่เสรี (illiberal democracy) เกิดขึ้นในฮังการี โปแลนด์ และที่อื่นๆ (1)

ส่วนในแง่มุมของโลกาภิวัตน์ โลกาภิวัตน์กลายสภาพเป็นความขมุกขมัว ลัทธิชาตินิยม (Nationalism) และแม้แต่อำนาจนิยม (Authoritarianism) ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลก

และสภาพนี้ก็ยังคงดำรงอยู่ทั่วโลกต่อไป

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
: เสรีนิยม อำนาจนิยมและรัฐประหาร

ความจริงแล้ว นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สัมผัสกับเสรีนิยมน้อยมาก ในทางตรงกันข้าม รากฐานทางสังคมการเมืองและประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ระบบอำนาจนิยมเป็นระบบการเมืองการปกครองหลักมาตั้งแต่ต้น

ในระยะแรกของหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โครงสร้างและระบบการเมืองเกิดขึ้นด้วยผู้นำชาตินิยม และการริเริ่มสร้างสถาบันทางการเมืองอันได้แก่ พรรคการเมือง รัฐสภา

แต่ภูมิภาคนี้ก็มีสถาบันทางการเมืองที่อ่อนแอ บางทีสลับด้วยการรัฐประหาร ในบางที่ผูกขาดอำนาจด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นผู้ปลดปล่อยประเทศออกจากประเทศล่าอาณานิคม

แต่ทิศทางการเมืองของภูมิภาคนี้ในแง่อำนาจนิยมก็ยังคงความต่อเนื่องยาวนานและมั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ

พรรค People Action Party ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุด หลังจากพรรคชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในเดือนกันยายน 2017

ในสหพันธรัฐมาเลเซีย พรรครัฐบาลที่นำโดยพรรค Barisan National Party ก็ยังคงมีบทบาทสูงอยู่ และระบบการเมืองของมาเลเซียแบบพรรคการเมืองเดียวก็ยังคงทดแทนกันได้จนอยู่รอดด้วยปัญหาการคอร์รัปชั่นในระดับสูงอย่างมโหฬาร พร้อมทั้งการกดดันต่อพรรคการเมืองฝ่ายค้านและต่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วย

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทรที่มีพรรคการเมืองเดียว เช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก็ยังคงเข้มแข็ง ใช้การควบคุมและกดดันฝ่ายต่อต้านทางการเมืองฝ่ายต่างๆ ทั้งสื่อมวลชนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ การไล่ที่ดินทำกินและปัญหาสิ่งแวดล้อม

ราชอาณาจักรกัมพูชา ผู้นำสูงสุดยังคงเป็นท่านฮุน เซน การสั่งปิดสื่อสำคัญ เช่น Cambodia Daily และภายหลังก็ประกาศยุบพรรคฝ่ายค้าน ย่อมทำให้เห็นระบบอำนาจนิยมในราชอาณาจักรกัมพูชาที่มั่นคงและต่อเนื่อง เดิมทีในกัมพูชาพอจะเห็นระบบพรรคการเมืองหลายพรรค ถึงแม้จะเข้มแข็งอยู่ไม่กี่พรรค แต่ระบบการเมืองก็กำลังเปลี่ยนไปเป็นระบบพรรคเดียว และอำนาจนิยมเต็มตัว

อำนาจนิยมไม่ได้เจือจางลงเลย บางทีในบางประเทศเป็นระบบทหาร (Militarism) ด้วยซ้ำไป

เพียงแต่เป็นระบบทหารที่เปลี่ยนเครื่องแบบทหารมาใส่สูท ตั้งพรรคการเมืองและมีเครือข่ายธุรกิจของตนเองเพื่อสานระบบอำนาจนิยมที่มีแกนกลางอยู่ที่กองทัพต่อไป

เช่น เมียนมา ทหารยังคงมีที่นั่งในรัฐสภาในสัดส่วน 25% กองทัพยังคงคุมเรื่องความมั่นคง เรื่องชายแดนและปัญหาชาติพันธุ์ ซึ่งจริงๆ ก็คือ กองทัพเมียนมายังคงคุมแกนกลางสำคัญของประเทศทั้งระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจอยู่ เพราะ 3 องค์ประกอบนั้นเชื่อมโยงสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อีกทั้งเป็นความสำคัญหลักของประเทศเมียนมาทั้งปัจจุบันและอนาคต

การแสดงตัวของผู้นำทหารในปัญหาโรฮิงญา การแก้ปัญหาชายแดน การเดินทางและแลกเปลี่ยนระหว่างกันของผู้นำกองทัพเมียนมากับสาธารณรัฐประชาชนจีนและไทย ย่อมแสดงให้เห็นความสำคัญของผู้นำกองทัพที่มั่นคงและต่อเนื่อง

ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งและชัยชนะเป็นของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งนำโดย นางออง ซาน ซูจี และพรรค NLD ก็ตาม

 

ระบบการเมืองไทยเป็นอย่างไรตอนนี้และอนาคต

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การรัฐประหาร 2006 และ 2014 ที่คนทำปฏิวัติเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เป็นกลุ่มที่มีปัญหาร่วมกันคือ เผชิญหน้าต่อการท้าทายของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ถึงแม้การเลือกตั้งและนโยบายของพวกเขาก่อนหน้านี้จะใช้ความฉ้อฉลก็ตามที

แน่นอน เรามองเห็นระบบอำนาจนิยมที่กลับมาอีก โดยดูจากรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจแก่นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือบรรดาข้าราชการที่เคยทำงานร่วมกันมาในนามของคณะกรรมการชุดต่างๆ การลดทอนความสำคัญขององค์กรที่ควรมีเอาไว้ถ่วงดุลอำนาจ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย (ที่เขาเรียกว่ายุทธศาสตร์) การลดทอนความสำคัญของพรรคการเมือง หรือแม้แต่การก่อตั้งพรรคการเมืองของตัวเองขึ้นมา

แต่ขอให้ระมัดระวัง สังคมการเมืองและเศรษฐกิจไทยเปิดกว้างมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว สังคมการเมืองที่เคยมีพรรคการเมือง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสูง การเข้าไปเกาะเกี่ยวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ซึ่งเศรษฐกิจไทยเป็นโรงงานผลิตบางอุตสาหกรรมของโลกไปแล้ว

รวมทั้งการเปิดกว้างของระบบตลาดทุน ซึ่งระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ความเปิดกว้าง (openness) ดังกล่าว ปิดลงไม่ได้ด้วยอำนาจจากปากกระบอกปืน

ในเวลาเดียวกัน ระบบการเมืองไทยก็ไม่มีระบบพรรคเดียวแบบพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ไม่มีระบบพรรคเดียวแบบสิงคโปร์และมาเลเซีย

ผมไม่ได้ห่วงปีแห่งการอยู่อย่างยากลำบาก แต่ผมกำลังห่วงความยากลำบากของผู้นำทางการเมืองที่พยายามเอามือปิดเสรีนิยมของประเทศไทย

———————————————————————————————–
(1) “The Year of living dangerously” The Economist 24th December – 6th January 2017