“มาช่า” “เจ” ถึง “พี่เบิร์ด” การปรับตัวของศิลปินจาก “ยุคทองค่ายเทป” “ซุปตาร์ 90” ที่ฆ่าไม่ตายใน “ยุคดิจิตอล”

นักข่าว : เมื่อไหร่จะมีผลงานเพลงใหม่ๆ

มาช่า : พี่ช่าก็อยากจะกลับมาทำอะไรนะ แต่ดูสภาพปัจจุบันนี้ พูดถึงการทำเพลง เพลงหนึ่งมันก็ดูยากอยู่ โลกมันเร็วมาก ต้องดูจังหวะก่อน

นักข่าว : ใจเราอยากทำเพลงไหม?

มาช่า : เราก็เป็นนักร้องเนอะ ก็ต้องอยากร้องเพลง ก็อยากทำ แต่พี่ช่ารู้สึกว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว อะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป การใช้ชีวิตเปลี่ยน ทำให้เราต้องใช้เวลาในการดูว่าจะทำอะไรแบบไหนดี

นักข่าว : แฟนๆ ถามถึงเยอะไหม?

มาช่า : มีค่ะ เช่นว่าพี่ช่าไม่ร้องเพลงอีกหรอ ก็ต้องดูจังหวะ ไม่ใช่ร้องแล้วไปเลย แบบหายไปกับสุญญากาศ เราก็รู้สึกเสียดายเนอะ

นักข่าว : ไม่ดีไม่ปังไม่ออกดีกว่า?

มาช่า : ใช่ เราต้องดูจังหวะ ออกมาแล้วต้องทำยังไง มันต้องมีไทม์มิ่งของมัน ชีวิตทุกคนต้องมีจังหวะ พี่ก็ทำงานหลายรูปแบบ ทั้งเล่นละคร ร้องเพลง ถ่ายแบบ ก็ต้องดูจังหวะ ต้องทำอะไร ณ ปัจจุบันนี้ คนอยากเห็นความเป็น LIVE มากกว่า มีหลายคนคิดถึง ทั้งคนที่โตมาด้วยกันตั้งแต่เข้าวงการ หรือเด็กรุ่นใหม่ก็มีโอกาสได้ฟังเพลงของเราก็แปลกใจ

บางคนย้อนฟังไปถึงสมัยยุคอัลบั้มแรกถามดาว (พ.ศ.2534) เราก็รู้สึกดีใจ

นี่คือมุมมองต่อวงการเพลงของ “มาช่า วัฒนพานิช” นักร้องนักแสดงชื่อดัง ที่ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ของวงการเพลง กลางวงแถลงข่าวเตรียมขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่ “Amp-Sha CONCERT” ร่วมกับ “แอม เสาวลัษณ์ ลีละบุตร” ในวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2561

ทั้งสองคนล้วนเป็นศิลปินแม่เหล็กหญิงของแกรมมี่ ที่ยังอยู่ยงคงกระพัน แม้ไม่ต้องทำอัลบั้มใหม่หรือผลิตซิงเกิลใหม่ๆ ของตัวเองออกมาในระยะหลังๆ ก็ตาม

จากหลายๆ ปัจจัยในปัจจุบัน การพึ่งพาอาศัยยอดดาวน์โหลดซิงเกิลต่างๆ ก็ไม่น่าจะใช่ผลตอบแทนหลักของศิลปินที่เห็นได้ชัดดังสมัยก่อน ที่เมื่อซิงเกิลแรกในอัลบั้มชุดต่างๆ ของศิลปินรายใดรายหนึ่ง ถูกปล่อยออกมาแล้ว “ปัง ดัง โดน!” จะมีการผลิตมิวสิกวิดีโอ เปลี่ยนปกเทป หรือโปรโมตเพิ่มมากขึ้น

เช่น มีการนำเพลงอื่นๆ หรือซิงเกิลลำดับถัดๆ มา ในอัลบั้มมาโปรโมต เพื่อดันยอดขายและขยายความนิยมให้มากขึ้น ก่อนพัฒนาไปสู่งานโชว์ตัว งานร้องเพลง งานจ้างภายใน ที่ศิลปินแต่ละคนก็จะมีงานอยู่เกือบตลอด กระทั่งได้ฤกษ์เตรียมผลงานชุดต่อไป

ย้อนไปในอดีต เครือแกรมมี่มีคลื่นวิทยุของตัวเองจำนวนมาก และมักถูกใช้เป็นที่ “ปล่อยของ” ทั้งซิงเกิล และปล่อยเพลงเต็ม เพลงเด่นๆ ก่อนใคร แล้วยังมีรายการทีวีเกี่ยวกับเพลงในสถานีหลัก อาทิ ททบ.5 และช่อง7 แทรกอยู่ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน

การปล่อยมิวสิกวิดีโอ ทีเซอร์อัลบั้ม สนีคพรีวิว มักถูกนำมาปล่อยก่อน ณ ช่องทางเหล่านี้ ในช่วงที่วงการทีวี ไม่มีตัวเลือกมากนัก (และโลกออนไลน์ยังไม่ทรงอิทธิพลเหมือนทุกวันนี้) โอกาสที่ศิลปินยุคก่อนๆ จะประสบความสำเร็จและเข้าถึงคนฟังจึงเป็นไปได้มากกว่า

ก่อนที่จะเริ่มสู่ยุคดิจิตอล ค่ายเพลงมีกล่องดาวเทียม มีช่องทีวีของตัวเอง และยุคออนไลน์ คนมีทางเลือกมากขึ้น อยากจะดูอะไร (หรือไม่ดู) ที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ได้ ไม่ต้องเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ รอศิลปินคนโปรดมาออกทีวีสดๆ ในรายการช่วงเวลา 5 ทุ่ม-เที่ยงคืน (FIVE LIVE ในอดีต) กันอีกแล้ว

ในยุคเรืองอำนาจของโซเชียลมีเดียอย่าง “เฟซบุ๊ก-ยูทูบ” ถ้าเป็นผลงานของศิลปินท็อปๆ รุ่นเก๋า เพลงของพวกเขาจะได้ยอดวิวอยู่ที่หลักแสนหรือเกือบแตะล้าน ซึ่งไม่สูงนักหากเทียบกับศิลปินกลุ่มหน้าใหม่ที่มียอดวิวหลักสิบล้านร้อยล้านภายในไม่กี่สัปดาห์

แม้ศิลปินยุคเก่าจะไม่ได้สัมผัสโมเมนต์ยอดวิวมหาศาล (ส่วนหนึ่งเพราะฐานแฟนคนละกลุ่มกัน) แต่ศิลปินรุ่นใหม่ก็คงไม่ได้สัมผัสบรรยากาศการเปลี่ยนปกเทป รอลุ้นการนับยอดขายในหนึ่งเดือนว่าจะได้กี่แสนหรือกี่ล้านชุดเช่นกัน

ทว่า สมัยนี้เป็นยุคแห่งการพึ่งพาอีเวนต์ หรือเน้นออกรายการทีวีที่มีทางเลือกเต็มไปหมด เลือกดีก็เด่น ทวีดีกรีความดัง แต่ถ้าเลือกผิดก็แป้ก

ในยุคทองของค่ายเพลง ศิลปินเบอร์ใหญ่จะมีงานอัลบั้มเดี่ยวออกมาเป็นระยะๆ นั่นหมายถึง การทำเพลงใหม่ 10-12 เพลง รวมทั้งมีการคิดคอนเซ็ปต์ภาพรวมของงาน มีกลยุทธ์การโปรโมตเป็นขั้นเป็นตอน โดยวางแผนกระบวนการทำงานกันเป็นปี

แต่ ณ พ.ศ. นี้ หลายคนอาจจำไม่ได้แล้วว่า ศิลปินดังแห่งยุค 90 เจ้าของสถิติ “ล้านตลับ” อาทิ “ใหม่ เจริญปุระ” หรือ “คริสติน่า อากีล่าร์” ออกอัลบั้มเต็มครั้งสุดท้ายเมื่อใด (คำตอบ คือปี 2549 และ 2550 ตามลำดับ)

ที่สำคัญ จะเห็นว่าแทบไม่มีการนำเอาเพลงจากอัลบั้มเต็มชุดหลังๆ ของพวกเธอมาร้องตามคอนเสิร์ตและงานโชว์ต่างๆ

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าบรรดาเพลงฮิตของศิลปินยุคทองเหล่านี้มีมากมายอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 20-30 เพลง และเป็นความต้องการของคนดูที่ยังคงอยากฟังงานฮิตดั้งเดิมยุคแรกๆ ของศิลปิน ทำให้เพลงจากยุคหลังไม่สามารถเบียดแทรกแทนที่ความขลัง ความฮิต รวมถึง “ความต้องการของแฟนเพลง” ได้

ที่จะมีเดินหน้าผลิตผลงานใหม่ให้แฟนๆ และถือเป็นความเซอร์ไพรส์และท้าทายอย่างมาก ก็คือ “นันทิดา แก้วบัวสาย” ที่เพิ่งออกอัลบั้ม “นันทิดา 17” เมื่อกลางปี 2560

โดยครั้งนี้ดึงโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงยุคแรกๆ ของแกรมมี่มาร่วมงาน อาทิ นิติพงษ์ ห่อนาค และ สีฟ้า นันทิดาเองก็เคยบอกความรู้สึกกลางวงสัมภาษณ์ว่า รู้สึกแปลกๆ เหมือนกัน ที่ไม่ได้เข้าห้องอัดเพื่อทำอัลบั้มตัวเองนานเกือบ 15 ปีเต็ม ก่อนที่เธอจะจัดคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มในเวลาต่อมา

พูดถึงคอนเสิร์ตของศิลปินยุค 90 ปัจจุบันนี้ เหลือเพียง เบิร์ด ธงไชย, ใหม่ เจริญ ปุระ และ เจ เจตริน ที่มีฐานแฟนเพลงหนาแน่นพอจะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ระดับอิมแพ็คอารีน่า เมืองทองธานี ได้

ดังปรากฏการณ์ที่ขายบัตรได้หมดเกลี้ยงภายในไม่กี่นาทีของ “เจ เจตริน” ที่ไม่ได้ออกอัลบั้มหรือซิงเกิลใหม่มานานพอสมควรแล้ว แถมภายในปีเดียวมีการจัดคอนเสิร์ตของเจ้าตัวถึง 2 ครั้ง ในช่วงห่างกันไม่ถึง 5 เดือน

โดยครั้งแรก ตั๋วเข้าชม 20,000 ที่นั่ง ถูกจำหน่ายจนเว็บล่มหมดเกลี้ยงภายใน 20 นาที และครั้งหลัง ที่นั่งในโซนหลักๆ ก็ถูกจำหน่ายหมดภายใน 15 นาที

นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องจับตามอง และต้องไม่ลืมว่าศิลปินยุค 90 บางรายมีแฟนเพลงส่วนใหญ่ที่เติบโตมาพร้อมๆ กับพวกเขา และหลายคนขยับสถานภาพขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางผู้มีกำลังซื้อเรียบร้อยแล้ว (ถึงขนาดมีแฟนเพลงบางคนซื้อทองคำมามอบให้ศิลปินกลางคอนเสิร์ต)

ความสำเร็จของเจ ส่วนหนึ่งนอกจากความเป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์ของเจ้าตัวแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการใช้โซเชียลมีเดียของศิลปินเอง บวกกับทายาทของเจที่ต้องตาต้องใจแฟนคลับหลายยุค จึงทำให้ได้รับการตอบรับที่ดี

นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้ทางเครือแกรมมี่ก็พยายามจัดคอนเสิร์ตเอาใจ (อดีต) วัยรุ่นยุค 90 หลายครั้ง อาทิ “คอนเสิร์ตล้านตลับ” รวมศิลปินหญิงที่ทำยอดขายเทปได้ล้านตลับ หรือ “6-2-13” ที่รวมศิลปินเด่นๆ ในยุคนั้น เป็นต้น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดี โดยศิลปินผู้ขึ้นเวทีไม่จำเป็นต้องออกอัลบั้มหรือซิงเกิลใหม่

ในขณะเดียวกัน เราจะเห็นว่านักร้องที่มีความสามารถและเคยโด่งดังในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ระดับแม่เหล็กบิ๊กเนม ก็จะนิยมไปออกรายการเพลงทางทีวี (ซึ่งเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียอีกช่องทาง) หลากหลายรูปแบบ ทั้งการคัฟเวอร์เพลงคนอื่น หรือร่วมเล่นในเกมโชว์ที่ใช้การร้องเพลงและลูกเล่นต่างๆ (ใส่หน้ากาก) ดึงคนดู

จึงเกิดปรากฏการณ์ที่นักร้องหลายคนกลับมามีชื่อเสียง ยอดการค้นหาเพลงในโลกออนไลน์-ระบบดาวน์โหลดเพิ่มมากขึ้น และงานโชว์ตัวเริ่มมีเยอะขึ้น ตามกระแสความนิยมของรายการ

การต้อง “ปรับตัว” เกิดขึ้นแม้แต่กับ “ซูเปอร์สตาร์ เบอร์ 1” อย่าง “เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์”

แม้ว่าระยะหลัง การออกเพลงร่วมกับ Paradox และ 25 Hours อาจจะไม่ได้ยอดวิวระดับหลายล้าน หลายคนอาจไม่ทราบว่าเพลงใหม่ๆ ของพี่เบิร์ดมีชื่อว่าอะไร

แต่ล่าสุด เบิร์ดก็ใช้วิธีปรับสไตล์ตัวเองให้กลมกลืนกับคนรุ่นใหม่อีกหน ผ่านการร่วมงานกับศิลปินที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันอย่าง แสตมป์ และ UrboyTJ ฯลฯ ในโปรเจ็กต์พิเศษ Mini Marathon ที่ชวน 8 ศิลปินรุ่นใหม่มาร่วมทำเพลงด้วย

โดยมีโจทย์สำคัญตอนหนึ่งในบทสัมภาษณ์ของเบิร์ดว่า “อย่าคิดว่าทำเพลงให้เบิร์ด ต้องเป็นเบิร์ด ให้ทำเพลงออกมาในแบบที่ตัวเองถนัดตามสไตล์ของตัวเอง” เราจึงได้เห็น “ธงไชย” ปรับสไตล์การร้องในเพลงที่เขาร่วมงานกับ UrboyTJ จนได้รับคำชมล้นหลาม

มีท็อปคอมเมนต์หนึ่งในยูทูบเปรียบเทียบพี่เบิร์ดกับกิ้งก่า ดังมีเนื้อหาว่า

“ถ้าเป็นสีเดิมๆ มันก็ไม่น่าตื่นเต้นอะไร แต่ถ้าไปอยู่ในธรรมชาติที่แตกต่างและแปลกใหม่ แล้วสามารถพรางตัวเองเปลี่ยนสีสันตัวเองจนกลมกลืนกะธรรมชาตินั้นๆ จนคนดูไม่ออกว่ามีกิ้งก่าตัวนึงนอนนิ่งอยู่ตรงนั้น อันนี้สิครับ สุดยอดอย่างแท้จริง สุดยอดศิลปิน และนี่คือพี่เบิร์ดครับ ที่สุดของที่สุด ผู้ที่สามารถก้าวพ้นบินข้ามได้ทุกขีดจำกัดของตัวเอง”

กลยุทธ์ของเบิร์ดและทีมงาน จึงถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการในการปรับตัวให้เข้ากับภาวะเปลี่ยนผ่านจาก “เทป-ซีดี” มาสู่ยุคใหม่ภายใต้อิทธิพลของสื่อดิจิตอลได้อย่างกลมกลืน

แม้ว่าในปี 2561นี้ พี่เบิร์ดจะมีอายุครบ 60 ปี ได้ฉลองแซยิดแล้วก็ตาม! แต่เจ้าตัวยังเป็นศิลปินที่ฆ่าไม่ตาย ยังปรับตัวปรับสไตล์ได้เสมอ ยังเปี่ยมพลังในการร้องการเต้นในคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเกือบ 10 รอบ ต่อหนึ่งอีเวนต์

ถือเป็นโมเดลที่ศิลปินระดับรองๆ ต้องลองนำไปปรับใช้ แต่ใช่ว่าสูตรเดียวกันนี้จะใช้ได้ผลกับทุกคน