ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 มกราคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ดังได้สดับมา |
ผู้เขียน | วิเวกา นาคร |
เผยแพร่ |
การได้รับบรรจุเข้าเป็น “อาจารย์” ผู้บรรยายในสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย นับแต่ลาสิกขาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2494 ทรงความหมายเป็นอย่างสูง
วิชาที่รับผิดชอบคือ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และความรู้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
สะท้อนความสัมพันธ์ 4 สดมภ์หลักคือ 1 พระพุทธศาสนา 1 พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน 1 ประวัติศาสตร์ และ 1 ประวัติศาสตร์ทางด้านบูรพาคดี
แน่นอน ย่อมมิใช่ “อินเดีย” อย่างเดียว หากเป็นทางด้าน “จีน”
อย่าได้แปลกใจหากศึกษาจากความสนใจในวัยเยาว์ อย่าได้แปลกใจหากศึกษาผ่านบทความชิ้นแรกที่เผยแพร่ในนาม เสถียร กมลมาลย์ เมื่อปี 2488 ภายใต้คำแนะนำ
“ยุวชน เสถียร กมลมาลย์ อายุ 17 ปี”
เด่นชัดยิ่งว่าความโน้มเอียงของยุวชนผู้นี้แม้จะเป็นพุทธศาสนา แต่ก็แฝงกลิ่นอายแห่งมหายาน แฝงกลิ่นอายแห่งอิทธิพลจากย่านเยาวราช
แลเมื่อนำเสนอบทความ “พุทธอาณาจักรแห่งหิมวัต” ในปี 2490
หมายเหตุของ “ธรรมจักษุ” คือ ได้รวบรวมขึ้นจากตำราภาษาจีน บรรยายความเป็นไปแห่งพระพุทธศาสนาในทิเบตโดยละเอียด
ยิ่งเมื่อเขียน “เสียงแห่งเมตตากรุณา” ในห้วงปลายปี 2488 กับต้นปี 2489 ยิ่งทำให้ตระหนักในวิถีแห่งการพลิกผันแปรเปลี่ยนในทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าประวัติศาสตร์ทางการเมือง ไม่ว่าประวัติศาสตร์ในทางศาสนา
น่าสนใจก็ตรงที่เป็น “ธรรมจักษุ” ฉบับสันติภาพ
บรรณาธิการ “ธรรมจักษุ” ยังให้บทบาทและความหมายสำหรับ เสถียร กมลมาลย์ ไว้ค่อนข้างสูง เป็นความต่อเนื่องจาก “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม”
เริ่มต้นจาก สัพเพ สัตตา สุขี โหนตุ ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีสุขเถิด
เสียงอันไพเราะ เต็มไปด้วยความรักใคร่เอ็นดูในสรรพสัตว์ได้เปล่งออกจากโอษฐ์ของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ในฐานะที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งมหาเมตตา มหากรุณา
จากนั้นก็เข้าสู่ประเด็นสงคราม ภัยจากสงคราม แล้วก็มองเข้าไปในประวัติศาสตร์
ตรองดูว่า ดินแดน ทรัพย์สมบัติตลอดจนเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ชื่อเสียงอะไรเหล่านี้น่ะ เราเชื่ออย่างแน่นอนแล้วหรือว่าเป็นของเราตลอดไป ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้เลย
ทุกสิ่งในโลกเป็นอนิจจัง
วันนี้ชื่อเสียงเกียรติยศเป็นของเรา พรุ่งนี้อาจเป็นของเขา วันนี้เรามีอำนาจที่จะสั่งให้ตัดหัวคนได้ พรุ่งนี้เราอาจกลายเป็นคนที่จะถูกตัดหัวเอง
ประวัติศาสตร์เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องนี้
ประเทศต่างๆ ที่มีความเจริญในสมัยโบราณกาล ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร
ก็ดังที่ สุชีพ ปุญญานุภาพ เคยยืนยัน เสถียร โพธินันทะ มีความรอบรู้ในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง
เป็นการรอบรู้โดยมีธงแห่ง “พุทธธรรม” นำ
จึงนำกฎแห่งอนิจจัง ไม่เที่ยงไปจับกับสภาพความเป็นจริงและอาการไหลเลื่อนในทางประวัติศาสตร์
“มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เป็นบทเรียนที่ดีของพวกผู้นำแต่ละประเทศ เป็นบทเรียนที่ดีของพวกชอบสงคราม และเป็นบทเรียนที่ดีของมนุษย์ทั้งหมดด้วย เพียงแต่ความทะเยอทะยานของมนุษย์ไม่กี่คนได้พาให้โลกทั้งโลกต้องลุกเป็นไฟประลัยกัลป์ขึ้น ตามปกติมนุษย์เราก็ถูกไฟภายใน คือ ราคะ โทสะ โมหะ เผาอยู่ทุกวันแล้ว ยังจะถูกไฟภายนอกมาเผาทับอีก”
บทสรุปก็คือ สงครามทุกๆ ครั้งมีผลที่ได้อย่างแน่แท้ ทั้งฝ่ายผู้แพ้หรือผู้ชนะ เสียงคร่ำครวญของแม่ที่ร่ำร้องถึงบุตร ภรรยาคร่ำครวญถึงสามี บุตรคร่ำครวญถึงบิดา คร่ำครวญถึงญาติพี่น้อง ถึงทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่ได้เสียหายไป
พวกชนะก็ก่อเวร พวกแพ้ก็ทุกข์ตรอมใจ (ตามนัยพุทธภาษิต)
การนำเอากฎแห่งอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มาประสานเข้ากับสภาพความเป็นจริงของโลก ของชีวิต ไม่เพียงแต่มองเห็นลักษณะรอบด้านของประวัติศาสตร์
หากยังทำให้เข้าใจในวิถีแห่งการเปลี่ยนผ่านของแต่ละยุค
หากมองจากพื้นฐานของยุวชน เสถียร กมลมาลย์ ที่เรียบเรียงความเป็นจริงนี้ขณะอยู่ในวัยเพียง 17-18 ปี ย่อมน่าอัศจรรย์อย่างยิ่งยวด