เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ความไม่เข้าใจในหัวใจศาสนา

“ท่านหัจญี ประยูร วทานยกุล อิสลามิกชน ปราชญ์ผู้เคร่งครัดในศาสนาตนอย่างยิ่ง เวลานี้ท่านได้ล่วงลับแล้ว ท่านเป็นสหายธรรมกับท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ กล่าวไว้ในหนังสือ “ร้อยคน ร้อยธรรม 100 ปีพุทธทาส”

ซึ่งจะขอคัดข้อความบางตอนมาดังนี้

“พวกมุสลิม เขาชอบกล่อมเด็กด้วยเนื้อสั้นๆ ว่า ลาอิลาห อิลลอล ลอห ซึ่งเป็นคำประกาศสัจธรรมเวลานับลูกประคำในการสวด เขาจะเน้นซ้ำๆ ว่า ลาอิลาห อิลลอล ลอห ลาอิลาห อิลลอล ลอห จนเกิดสมาธิทางใจ เสียดายที่คนส่วนมากมิได้เข้าใจความหมายถึงแก่น มักจะแปลกันว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์

“คำว่า อัลลอฮ์ หรือ อัลลอห มีพยัญชนะหลัก 3 ตัว คือ อ. ล. ห. ส่วนพยัญชนะของอรหัต ได้แก่ อ. ร. ห. ล.ลิง ทางซีกโลกตะวันตก จะมาเป็น ร.เรือ ทางซีกโลกตะวันออก เช่น ELEPHANT ซึ่งแปลว่า ช้าง มาเป็น เอราวัณ อาลี แปลว่า สูงส่ง ก็ตรงกับ อริย ในอริยสัจ

“เรื่องทางภาษานี้ ข้าพเจ้าเคยชี้แจงมาแล้ว ที่นำมาพูดอีก ก็เพื่อท่านที่ยังไม่เคยได้ยิน ด้วยหลักดังกล่าว อัลลอฮ์ ก็คือ อรหัต นั่นเอง เป็นแต่อัลลอฮ์ ใช้ในความหมายกว้างกว่า คำ อิลาห ใน ลาอิลาห แปลว่า สิ่งเคารพ ลา แปลว่า ไม่ให้ หรือห้าม มุสลิมส่วนมากเข้าใจว่า อิลาห หมายถึงสรรพสิ่งรอบข้าง เช่น รูปนั้น ต้นไม้ และอื่นๆ ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรจะหมายถึงความยึดถือในสิ่งนั้นๆ ซึ่งอยู่ในใจคนมากกว่า อะไรที่เป็นวัตถุภายนอก เช่น อนุสาวรีย์ ต้นไม้ มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น มิได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างใด

“เมื่อคนไปยึดถือสิ่งเหล่านั้น ก็จะกลายเป็นสิ่งเคารพขึ้นมาทันที ถ้าคนไม่ไปเกาะติดยึดถือมันก็ไม่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้ พอคนไปยึดถือมันเข้าก็กลายเป็นของมีอำนาจในความรู้สึกของคน มิใช่ตัวมันมีอำนาจเอง แต่คนหยิบอำนาจให้แก่มัน อิลาห จึงมิได้หมายถึงสิ่งที่ยึดถือภายนอก แต่หมายถึงความยึดถือในใจของคนต่างหาก ลาอิลาห จึงควรตีความว่า ไม่ให้มีความยึดถือ เมื่อแปลความหมายของประโยคจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ ลาอิลาห อิลลอล ลอห ก็คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นภาวะแห่งอัลลอฮ์ หรืออรหัต ช่างตรงกับหัวใจของพระพุทธศาสนาที่ห้ามการยึดถือเสียจริงๆ

ดังนี้ จะมิให้ข้าพเจ้ากล่าวว่า หัวใจของพุทธศาสนาก็ตรงกับหัวใจของอิสลามได้อย่างไร”

ข้อความที่คัดมานี้ งดงามนัก

งดงามด้วยความคิด ความเข้าใจ “ระหว่าง ‘ศาสนา’ อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะระหว่าง พุทธะ กับ อิสลาม”

งดงามด้วยทัศนะและท่าทีที่ต้องการแสวงหาหัวใจทั้งของศาสนาตนและหัวใจของศาสนาอื่นอันนำไปสู่หลักคิดที่เป็นหัวใจร่วมกันระหว่างศาสนาอย่างน่าตื่นใจยิ่ง

โดยเฉพาะวาทะสูงสุดของทั้งพุทธะและอิสลาม คือคำว่า อัลลอฮ์ ก็คือ อรหัต หรือ อรหันต์ นั่นเอง

ดังบทสวด นโมตัสสะ ที่ว่า นโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธทัสสะ

อะระหะโต ก็คือ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระวิสุทธิคุณคือพระอรหันต์นั่นเอง อันตรงกับภาวะแห่งอัลลอห หรืออัลเลาะห์ เช่นกันด้วย

เมื่อครั้งเสนอเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สปช. นั้น คณะกรรมการปฏิรูปค่านิยมศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา นั้น คณะอนุกรรมการด้านการศาสนา เคยเสนอประเด็นสำคัญเรื่อง “หัวใจศาสนา” โดยประยุกต์มาจาก “มรดกธรรม” ของท่านอาจารย์พุทธทาสสามข้อ โดยสังเขป คือ

1. ศาสนิกชน พึงทำความเข้าใจและเข้าถึงหัวใจของศาสนาตน

2. ศาสนิกชน พึงทำความเข้าใจหัวใจของศาสนาอื่นด้วย

3. ศาสนิกชน ไม่พึงตกเป็นเหยื่อของวัตถุ ความข้อนี้คือหลักธรรมข้อสันโดษ ที่หมายถึงการแสวงหาความสุขโดยพึ่งวัตถุให้น้อยที่สุดนั่นเอง

แต่แล้วเมื่อยกร่างกลายเป็นความตามมาตรา 79 ดังนี้

“มาตรา 79 รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน และศาสนาอื่น ส่งเสริมให้ศาสนิกชนเข้าใจและเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ เพื่อเสริมสร้างศีลธรรม พัฒนาจิตใจและปัญญา”

แม้จะไม่ครบถ้วนกระบวนความก็ยังพอตีความให้ครอบคลุมเนื้อหาหลักได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ สปช. ตกไป กลายเป็นฉบับประชามติ มาตราเกี่ยวกับศาสนาคือ ม.67 ดังนี้

“มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”

เนื้อหาอย่างนี้แหละที่ คสช. สมควรใช้ ม.44 เข้ามาแก้ไขด้วยการออกคำสั่งที่ 49/2559 ให้รัฐต้องอุปถัมภ์ และคุ้มครองศาสนาอื่นอย่างเท่าเทียมกันทุกศาสนาด้วย

มาตรา 67 นั้นกล่าวเฉพาะเรื่องพุทธศาสนาเดียวเป็นส่วนใหญ่ มีคำว่า “ศาสนาอื่น” แต่ไม่ลงรายละเอียดเท่าเรื่องพุทธศาสนา

ยิ่งละเอียดมากยิ่งดูจะสะท้อนนัยแห่งอคติอยู่มากจริงๆ ด้วย

เพื่อนมุสลิมพูดให้ฟังว่า เขาไม่รังเกียจเลยที่จะกำหนดให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ สนับสนุนเป็นอย่างยิ่งด้วยจริงใจ แต่ขอตั้งคำถามว่า ถ้าบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติจริงแล้ว ชาวพุทธจะปฏิบัติตามหลักธรรมที่แท้ได้จริงหรือไม่

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องการขาดความเข้าใจและเข้าถึงในหัวใจของศาสนาตน และเข้าใจหัวใจของศาสนาอื่นทั้งสิ้น

หัจญี ประยูร วทานยกุล กล่าวถึงอาจารย์พุทธทาส ว่า อยากจะพูดว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นว่าท่านเป็นพุทธ และท่านก็ไม่ได้เห็นว่าข้าพเจ้าเป็นอิสลาม ท่านมักพูดว่าข้าพเจ้าเป็นคนกลาง และเป็นผู้รู้ใจท่าน

มันกลายเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ศาสนธรรม

ศาสนาทุกศาสนา
มีสองส่วนที่สำคัญ
คือภาคอันสัมพันธ์
เป็นเอกภาพที่ธำรง

ส่วนหนึ่งคือ “ความเชื่อ”
อันเชื่อมั่นอยู่มั่นคง
ความเชื่อย่อมขึ้นตรง
กับสังคมวัฒนธรรม

ส่วนหนึ่งคือ “ความคิด”
เป็นหลักคิดนิมิตนำ
เที่ยงตรงอยู่คงคำ
คือความจริงเป็นสัจจริง

หลักเชื่อแหละคือศาสน์
คือศาสนาดั่งอ้างอิง
มากมวลกระบวนยิ่ง
จนยืนหยัดเป็น “ศรัทธา”

หลักคิด คือ หลักธรรม
เป็นหัวใจของศาสนา
โดดเด่นเป็น “ปัญญา”
ให้รู้โลกรู้ชีวิต

ศรัทธากับปัญญา
ต้องเท่าเทียมแลเที่ยงทิศ
รู้แก่นและรู้กิจ
คือรู้ศาสนธรรมฯ