ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 มีนาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เงาตะวันออก |
เผยแพร่ |
เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล
จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (10)
หลังยุคกุบไลข่าน
จนถึงการล่มสลาย (ต่อ)
แม้เตมูร์ข่านจะทรงอ่อนแอและไร้ความสามารถในการปกครองก็ตาม แต่ราชวงศ์ก็ยังคงยืนอยู่ได้ด้วยความสามารถของผู้เป็นมเหสีของพระองค์ที่มีพระนามว่า บูลูคาน (Bulukhan)
ซึ่งไม่เพียงทรงรักษาสายใยในหมู่ญาติวงศ์เอาไว้ได้เท่านั้น หากยังทรงเข้ามาดูแลงานในราชสำนักให้เป็นไปโดยเรียบร้อยอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่เตมูร์ข่านป่วยด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง พระนางได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมเหสีหลังการสิ้นพระชนม์ของมเหสีองค์แรกเมื่อ ค.ศ.1299
ครั้นในปีถัดมาราชชนนีของเตมูร์ข่านสิ้นพระชนม์อีก บทบาทของพระนางจึงปรากฏชัดขึ้น
บูลูคานทรงเป็นจักรพรรดินีที่ปรีชาสามารถยิ่ง ตอนที่มีการกวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยขุนนางใหญ่สองคน (ดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น) ก็มาจากการเข้ามาจัดการด้วยตนเองของพระนาง
ด้วยอิทธิพลของพระนางเช่นกันที่ทำให้การจัดการเรื่องรัชทายาทสามารถดำเนินไปได้ รัชทายาทได้รับการแต่งตั้งใน ค.ศ.1305 แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็คือว่า องค์รัชทายาทกลับสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.1306
ครั้นเตมูร์ข่านสิ้นพระชนม์ในปีถัดมาด้วยพระชนมพรรษา 41 พรรษาแล้วนั้น หยวนจึงไร้รัชทายาทที่จะก้าวขึ้นมาเป็นข่านหรือจักรพรรดิ สัญญาณความเสื่อมถอยก็ยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก
รัฐประหารที่หนันพอ
หากนับจากเตมูร์ข่านในฐานะรัชกาลที่สองของราชวงศ์หยวนแล้ว หลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ไปแล้ว แม้หยวนยังมีจักรพรรดิหรือข่านสืบทอดอำนาจต่อไปอีกเก้าองค์ แต่ในเก้าองค์นี้ใช่จะครองราชย์ด้วยความราบรื่นไปเสียทั้งหมด
หากไม่นับองค์สุดท้ายที่ครองราชย์ได้ถึง 35 ปีแล้ว ที่เหลือนอกนั้นจะครองราชย์ได้สั้นที่สุดไม่ถึงหนึ่งปี ยาวสุดไม่เกินเก้าปี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเกิดการแย่งชิงอำนาจในระหว่างกัน ความขัดแย้งเช่นนี้มีให้เห็นแทบจะโดยตลอดหลังสิ้นยุคเตมูร์ข่านไปแล้ว
และความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดก็คือ กรณีรัฐประหารที่หนันพอ เมื่อมีการรุมปลงพระชนม์ซีเดบาลาข่าน
ซีเดบาลาข่าน (ค.ศ.1302-1323) เป็นจักรพรรดิองค์ที่ห้าของราชวงศ์หยวน โดยทรงขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ.1320 พระองค์ทรงได้รับการศึกษาจากสำนักขงจื่อตั้งแต่ยังเยาว์วัย ครั้นก้าวขึ้นเป็นข่านก็ทรงมีราชดำริที่จะปฏิรูปการเมืองของหยวน
ด้วยเห็นว่า เวลานั้นสถานการณ์กำลังตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งทางชนชั้นและชนชาติ แต่เพียงสามวันหลังก้าวขึ้นมาเป็นข่านก็ทรงถูกแทรกแซงทางการเมืองโดยมเหสีของพระองค์
โดยมเหสีทรงนำเอาขุนนางฉ้อฉลคนหนึ่งมาเป็นมหาอำมาตย์ เมื่อมีตำแหน่งสูงแล้วขุนนางผู้นี้ก็ใช้อำนาจของตนทำการปลด จับกุม และสังหารเหล่าขุนนางที่อยู่ข้างเดียวกับจักรพรรดิ จากนั้นก็แต่งตั้งคนของตนเป็นขุนนางแทน
การปฏิรูปของซีเดบาลาข่านจึงไม่ราบรื่นตั้งแต่เริ่มต้น
ครั้นถึง ค.ศ.1322 ก็ให้ปรากฏว่า ทั้งขุนนางผู้นั้นและมเหสีก็เสียชีวิตและสิ้นพระชนม์ตามลำดับ สถานการณ์นี้ทำให้การปฏิรูปของซีเดบาลาข่านเริ่มมีความหวัง พระองค์ทรงแต่งตั้งขุนนางที่ไว้ใจได้ให้เป็นมหาอำมาตย์แทน
จากนั้นก็เริ่มทำการปฏิรูปด้วยการกวาดล้างขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง คืนตำแหน่งขุนนางชาวจีนที่ถูกปลดไปก่อนหน้านี้ ปลดข้าราชการที่มีมากเกินความจำเป็นออกไป ลดความเข้มงวดในการเกณฑ์แรงงานและการเก็บภาษีที่นา
และจำกัดอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูงชาวมองโกลและต่างชาติ
แต่การปฏิรูปดังกล่าวกลับมิได้ดำเนินไปด้วยความราบรื่นมากนัก เพราะแม้จะกำจัดและให้ยึดทรัพย์ขุนนางที่ฉ้อฉลไปแล้ว แต่ขุนนางผู้นั้นก็ยังมีสมัครพรรคพวกหลงเหลืออยู่ ซึ่งต่างก็รู้สึกอยู่ไม่เป็นสุขหากซีเดบาลาข่านยังเป็นจักรพรรดิต่อไป
ขุนนางพวกนี้จึงวางแผนรัฐประหารขึ้นมา
แผนรัฐประหารเป็นไปโดยยึดเอาช่วงที่จักรพรรดิเดินทางจากเมืองซั่งตูกลับมายังต้าตู แต่ก่อนที่จะถึงเมืองหลวงต้าตูประมาณ 15 กิโลเมตรก็ถึงเวลามืดค่ำ จักรพรรดิจึงทรงค้างแรมอยู่ที่เมืองหนันพอ
ค่ำคืนนั้นเองที่ขุนนางพวกนี้ใช้เป็นฤกษ์ยามในการรัฐประหาร โดยเมื่อจักรพรรดิเข้าบรรทมแล้ว พวกเขาก็นำทหารกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปในกระโจมที่ประทับของจักรพรรดิ จากนั้นก็ลงมือรุมปลงพระชนม์จักรพรรดิเป็นที่สำเร็จ
เมื่อปลงพระชนม์จักรพรรดิแล้ว ขุนนางพวกนี้ซึ่งมีอยู่ 16 คนก็เชิญราชนัดดาองค์โตของกุบไลข่านที่มีพระนามว่า เยซุน เตมูร์ (Yas?n Tem?r) ขึ้นมาเป็นข่าน ราชนัดดาองค์นี้เคยไปมาหาสู่กับขุนนางพวกนี้อย่างลับๆ มาก่อนหน้านี้
ในขณะที่ขุนนางที่ทำการรัฐประหารพวกนี้ต่างก็จัดอยู่ในกลุ่มวงศานุวงศ์เช่นกัน เหตุดังนั้น เมื่อเยซุน เตมูร์ ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งขุนนางพวกนี้ให้มีบรรดาศักดิ์อย่างถึงขนาด
แต่การปูนบำเหน็จนี้กลับเป็นเพียงหน้าฉากทางการเมืองเท่านั้น ด้วยหลังจากนั้นราวหนึ่งเดือนต่อมา เยซุน เตมูร์ข่าน ก็ทรงให้สังหารขุนนางพวกนี้จนสิ้น การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้เห็นในเวลาต่อมาว่า แท้จริงแล้วคือความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจสองกลุ่ม
คือกลุ่มที่สนับสนุนจีนานุวัตรและขุนนางจีนในการปกครอง กับกลุ่มที่คัดค้านแนวทางการปกครองของกลุ่มแรก เหตุฉะนั้น ความขัดแย้งดังกล่าวจึงส่งสัญญาณไปถึงความล่มสลายของหยวนอย่างช้าๆ
สัญญาณการล่มสลาย
เยซุน เตมูร์ข่าน (ครองราชย์ ค.ศ.1323-1328) เป็นจักรพรรดิได้ห้าปีก็สิ้นพระชนม์
หลังสิ้นพระองค์ไปแล้วการช่วงชิงการนำในราชสำนักก็ทวีความรุนแรงขึ้นมา
ในช่วงห้าปีหลังจากนั้นมีการเปลี่ยนจักรพรรดิถึงห้าองค์
โดยบางช่วงในระหว่างนี้การแย่งชิงอำนาจไปถึงขั้นที่มีผู้ตั้งตนเป็นข่านพร้อมกันสององค์
องค์หนึ่งตั้งมั่นที่ซั่งตู อีกองค์หนึ่งตั้งมั่นที่ต้าตู
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022