แพทย์ พิจิตร : ประวัติการยุบสภาในประเพณีการปกครองไทย (26)

ถ้าพิจารณาสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2475-2556 รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง จะพบว่า มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่มีสาเหตุของการยุบสภาแตกต่างไปจากสาเหตุของการยุบสภาครั้งอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดในประเทศไทย

การยุบสภาผู้แทนราษฎรสองครั้งที่ว่านี้คือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

และการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ในสมัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้มิพักต้องกล่าวว่า เหตุผลในการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองครั้งนี้ผิดแผกแตกต่างไปจากกรอบเหตุผลในการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดของอังกฤษ

รวมทั้งเหตุผลของการยุบสภาในระดับทั่วไปที่ Markesinis ได้ทำการศึกษาไว้ และรวมทั้งหลักการและเหตุผลของการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่นำเสนอล่าสุดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2559 โดยสถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้ง (IDEA, International Institute for Democracy and Electoral Assistance) ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปแล้วข้างต้น

โดยผู้เขียนจะขอวิเคราะห์กรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ก่อน

 

กล่าวคือ จากที่ผู้เขียนได้ประมวลสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 13 ครั้ง จะพบว่า มีสาเหตุหลักในการยุบสภาดังนี้คือ

1. ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา

2. ความขัดแย้งภายในรัฐบาล

3. สภาครบวาระ

4. สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา

5. มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

6. เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลหลังจากเกิดวิกฤตทางการเมือง

แต่ในการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 สาเหตุของการยุบสภาที่ประกาศไว้ในพระราชกฤษฎีการคือ

“โดยที่นายกรัฐมนตรีได้นําความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นําความกราบบังคมทูลฯ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2548 ขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติเห็นชอบข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ลงคะแนนโดยเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร และได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารราชการแผ่นดินแล้วนั้น ต่อมาได้เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองขึ้น ซึ่งแม้ระยะแรกจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่เมื่อนานวันเข้า การชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจุดชนวนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ครั้นใช้อํานาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดหรือแม้แต่รัฐบาลได้พยายามดําเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาและความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล และระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วย และประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจเกิดการปะทะกันได้ สภาพเช่นว่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา และความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะในขณะนี้ ซึ่งควรจะสร้างความสามัคคีปรองดอง การดูแลรักษาสภาพของบ้านเมืองที่สงบร่มเย็นน่าอยู่อาศัยน่าลงทุน และการเผยแพร่ความวิจิตรอลังการ ตลอดจนความดีงามตามแบบฉบับของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลาย และยังคงแตกต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ ครั้นจะดําเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้จริงของประชาชนโดยประการอื่น”

“เพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบ แล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยก็ทําได้ยาก ทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศ และแม้แต่ในประเทศไทย คือการคืนอํานาจการตัดสินใจทางการเมือง กลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป”

 

ดังที่ได้กล่าวเกริ่นไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ข้อความที่ว่า “แม้แต่รัฐบาลได้พยายามดําเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหา…” ไม่เป็นความจริง

เพราะในความเป็นจริง จะพบว่ามิได้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาเกิดขึ้นแต่อย่างใด

และการขอเปิดอภิปรายในลักษณะดังกล่าวนี้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 212 และ 213 ความว่า (212) “ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดําเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ตามมาตรา 211 และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี”

และ (213) “ในกรณีที่มีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้”

นั่นคือ การขอเปิดอภิปรายในลักษณะดังกล่าวเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าทักษิณต้องการให้มีการเปิดอภิปรายดังกล่าวจริง การอภิปรายดังกล่าวก็ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับตัดสินใจยุบสภาทั้งๆ ที่ยังมีกลไกตามระบบรัฐสภาที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งฝ่ายค้านก็มีเสียงไม่พอที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 185 และ 186 ที่ระบุให้ใช้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 1 ใน 5 (คือ 100 คน) หากจะอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และจะต้องใช้เสียงไม่ต่ำกว่า 2 ใน 5 (200 คน) หากจะอภิปรายนายกรัฐมนตรี

ซึ่งฝ่ายค้านได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องขอเสียงในสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แต่ไม่สำเร็จ

 

ดังนั้น การยุบสภาครั้งนี้จึงไม่เข้าข่ายรัฐบาลขัดแย้งกับสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด เพราะในขณะนั้นยังมิได้มีการเปิดประชุมสมัยสามัญสภาผู้แทนราษฎร

อีกทั้งรัฐบาลมิได้มีความขัดแย้งภายในรัฐบาลแต่อย่างใดด้วย เพราะรัฐบาลมาจากพรรคไทยรักไทยที่ได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภา อีกทั้งยังได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งทั่วไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของประเทศไทยด้วย สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบวาระ เพราะขณะนั้นเพิ่งมีอายุเพียงหนึ่งปีกว่า เพราะสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 ขณะเดียวกันก็มิได้มีการแก้ไขรัฐธรรมเกิดขึ้นแต่อย่างใด

แต่สาเหตุที่ “เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองขึ้น” ที่ขยายตัวรุนแรงและอาจจะบานปลายได้นั้น มีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวของตัวนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของครอบครัวโดยไม่เสียภาษี

มิได้เป็นสาเหตุที่เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องนโยบายสาธารณะแต่อย่างใด

แม้ว่าในกรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษในปี ค.ศ.1974 ในสมัยนาย Edward Heath เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีความสับสนวุ่นวายที่เกิดจากการประท้วงและการชุมนุมของกรรมกรเหมืองแร่ จนทำให้นาย Heath ต้องยุบสภา

แต่สาเหตุก็มิได้มาจากปัญหาเรื่องส่วนตัวของตัวนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องการกำหนดนโยบายสาธารณะ