อำนาจ/ความรู้ : สู่อนาคตของความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

อำนาจ/ความรู้

: สู่อนาคตของความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

 

ข้อสังเกตและความเป็นมาของกระบวนการสร้างความรู้ในสังคมไทยโดยเฉพาะนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นเป็นต้นมา ได้สร้างแบบแผนและวิธีการปฏิบัติรวมถึงการเรียนการสอนและการวิจัยอย่างเป็นระบบและช่วยสถาปนาระบบราชการและการบริหารรัฐอย่างสำคัญ

เพราะนี่เป็นการประยุกต์ความรู้สมัยใหม่ที่มีฐานจากตะวันตก ให้นำมาใช้ได้ในระบบและค่านิยมสังคมไทย โดยบรรดานักวิชาการและปัญญาชนไทยเอง ไม่ใช่จากการบีบให้ต้องทำตามตะวันตกอย่างในสังคมอาณานิคม

ภาวะที่เป็นอิสระเป็นไทอย่างสัมพัทธ์จากอำนาจบังคับโดยตรงของลัทธิอาณานิคม กล่าวได้ว่าเป็นคุณลักษณะเชิงบวกและสร้างความได้เปรียบแก่สังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่านจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นรัฐทุนนิยมและเสรีประชาธิปไตย

แต่ในเวลาเดียวกันผลลัพธ์เชิงลบที่ไม่คาดคิดก็ก่อเกิดขึ้นมาด้วยเช่นกัน

อันเป็นผลจากอิทธิพลและผลสะเทือนของการเติบใหญ่ของสถาบันและความคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย

นั่นคือการที่ชนชั้นจารีตและสถาบันที่รองรับรวมถึงค่านิยมชุดหนึ่ง สามารถดำรงอยู่และถ่ายเลือดใหม่จากครรภ์ของระบบทุนนิยม ทำให้เติบใหญ่และกล้าแข็งขึ้นอย่างมั่นคงมากกว่าการเกิดและก่อร่างสร้างตัวของสถาบันประชาชนและความคิดในการปฏิบัติของระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ขาดทั้งทุนทรัพย์และปัจจัยการผลิตสำคัญ เช่น ที่ดินและแรงงาน ที่จะรองรับและปกป้องสถาบันใหม่ของพวกเขาได้

ผลในทางการสร้างความรู้สมัยใหม่คือการที่มันถูกทำให้เป็นความรู้ที่เน้นหนักทางปฏิฐานนิยม (ประจักษนิยม) และการประยุกต์ใช้ มากกว่าเป็นความรู้สมัยใหม่ที่เป็นแบบมนุษยธรรมและวิพากษ์วิจารณ์ผลพวงของการพัฒนาที่จะดำเนินไปในหนทางการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมและไม่ยุติธรรม

พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในวงการวิชาการและวิจัยในยุคโลกาภิวัตน์ก่อตัวขึ้นภายหลังการก่อตั้งสถาบันการวิจัยใหม่ในนามของสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่มีงบประมาณจากรัฐอย่างเป็นกอบเป็นกำมากที่สุดที่เคยมีสถาบันวิจัยของรัฐมา

นโยบายและแนวการปฏิบัติอย่างใหม่ที่ฉีกไปจากสภาวิจัย (วช.) เก่า มาจากการที่ฝ่ายการเมืองในขณะนั้นคือรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) เล่ากันว่าเพราะบิ๊กสุ (พล.อ.สุจินดา คราประยูร) แกนนำของคณะ รสช. เคยรู้จักและเชื่อมั่นในคุณอานันท์ที่เคยเป็นทูตในสหรัฐด้วยกัน

ที่สำคัญมาจากการที่คุณอานันท์ก็มีความคิดในการพัฒนาประเทศในทิศทางของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) ที่กำลังแพร่หลายไปทั่วโลกขณะนั้น

นั่นคือการแปรรูปการลงทุนของรัฐวิสาหกิจไปเป็นธุรกิจของเอกชน มีการปฏิรูปเศรษฐกิจเสรีในหลายด้าน เพื่อส่งเสริมทุนให้พัฒนาไปด้วยดี

ที่จำไม่ลืมคือทำให้ผมขอโทรศัพท์ได้ในเวลาอาทิตย์เดียว หลังจากรอมากว่าสิบปี

ขึ้นแท็กซี่ไม่ต้องถามราคาเพราะมีมิเตอร์ใช้ เป็นต้น

แต่ในอีกด้านที่ทำเงียบๆ ก็มีการออกกฎหมายห้ามการจัดตั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ที่เคยเป็นองค์กรหลักต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของกรรมกร ทำให้พลังกรรมกรในไทยลดและบทบาททางการเมืองต่อมาหายไปในที่สุด

และสุดท้ายมาถึงการก่อตั้ง สกว. มองกลับไปคล้ายการเริ่มต้นยุคพัฒนาตั้งกระทรวงพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่นำเอานักวิชาการคุณภาพสูงเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาลภายใต้การนำของกองทัพ ความเจริญทางเศรษฐกิจไทยและชีวิตที่ดีขึ้นของคนชั้นกลางจึงมักมาพร้อมกับความย้อนแย้งคือทำได้รวดเร็วด้วยฝีมือข้าราชการคุณภาพแต่ต้องทำให้การเมืองเป็นแบบอำนาจนิยมหรือใต้รัฐธรรมนูญจำกัด ไม่มีอะไรได้มาฟรี

สกว.จึงเป็นสถาบันวิจัยของรัฐแต่ทำงานเยี่ยงเอกชน สร้างมิติและผลงานอันโดดเด่นเหนือกว่าหน่วยงานรัฐทั้งหลาย

จากประสบการณ์ที่ผมเคยได้ประสบมาทั้งในส่วนของนักวิจัยและในฐานะของกรรมการอำนวยการในช่วงวาระสุดท้ายของ สกว.และการทำคลอด สก.สว. จึงมองเห็นการทำงานและสมรรถภาพของคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และพนักงานว่ามีระดับสูงมาก อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในระบบราชการทั่วไป

คิดว่าเงื่อนไขจำเป็นที่ทำให้สถาบันดังกล่าวทำงานตามนโยบายและจุดมุ่งหมายได้อย่างดีมาจากการได้รับงบประมาณอย่างพอเพียงที่จะทำงานใหญ่ได้และเสรีจากระบบราชการระดับหนึ่ง ไม่ใช่มีแต่ชื่อแต่มีเงินนิดหน่อยตามระบบราชการ ก็เลิกพูดเรื่องการสร้างความรู้ให้ทันโลกได้

เพราะจากประสบการณ์การทำวิจัยของประเทศตะวันตกที่เป็นแบบอย่าง ผมสรุปได้สั้นๆ ว่างานศึกษาค้นคว้าวิจัยนั้นเป็นงานของคนรวยและอภิสิทธิ์ชน

ทฤษฎีของโทมัส คูน (Thomas Kuhn) ในเรื่อง “โครงสร้างของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์” (1962) เสนอว่าความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยการเปลี่ยนแปลงในสมมติฐาน ทฤษฎีและวิธีวิทยาที่ยอมรับและปฏิบัติกันอยู่ในเวลานั้นของชุมชนนักวิทยาศาสตร์ที่แน่นอน

นั่นคือวิพากษ์ก้าวพ้นทฤษฎีสมมติฐานและวิธีวิทยาเก่าๆ ทั้งหลายลงไปก่อน จนเกิดเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift)

ทั้งหมดนี้แสดงว่าการค้นพบความจริงใหม่นั้นไม่ใช่ความสำเร็จของนักวิจัยคนใดคนหนึ่งหรือคณะหนึ่งก็ตาม

หากต้องเกิดและเปลี่ยนผ่านกันภายในชุมชนของพวกเขาและคนอื่นๆ ที่ทำงานวิจัยกันมาอย่างยาวนาน

ไม่ใช่อัศวินม้าขาวหรืออัจฉริยะคนเดียวที่สร้างความรู้ใหม่

นี่เองที่ผมถึงสรุปว่างานวิจัยเป็นงานของคนรวยและมีปัญญา ถ้าทำวิจัยอย่างคนจนและปัญญาจำกัดก็ได้งานวิจัยอย่างดาดๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่จะไม่มีใครอ่าน

ความจริงคือโลกของงานวิจัยในไทยยังเป็นโลกของประเทศที่กำลังจะรวย ยังไม่รวย จึงยังติดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การให้ทุนวิจัยที่จำกัด การผลิตทางเศรษฐกิจก็ไปไม่ถึงระบบทุนอุตสาหกรรมที่สร้างกำไรมหาศาลให้แก่นายทุนและรัฐ จนยอมเจียดกำไรกระพี้หนึ่งไปทำวิจัยเพื่อต่อยอดกระบวนการผลิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด จนกลายเป็นระบบโลก

สภาพอย่างนั้นยังไม่เกิดในไทย การหวังพึ่งเงินสนับสนุนจากเอกชนจึงไม่มีน้ำยาแม้จะมีมากขึ้นในระยะหลังก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจบริการการแพทย์และดิจิทัลเข้ามาเสริมระบบผลิตเดิม ซึ่งทำให้การวิจัยด้านการแพทย์ วิศวกรรมและเทคโนโลยีสามารถก้าวรุดหน้าไปได้

ในขณะที่การวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มีแนวโน้มที่มืดมนมากขึ้นภายใต้โครงสร้างการสนับสนุนการวิจัยใหม่ ไม่ค่อยจะมีอนาคตสดใสเท่าใดนัก

ความจริงการตั้ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในปี 2535 ซึ่งมีจุดหมายในการสร้างความรู้ในสังคมไทย ด้วยการประสานสนับสนุนการวิจัย “ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การวิจัยเชิงนโยบาย และการวิจัยประยุกต์ต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการของประเทศ” มีส่วนในการเสริมสร้างผลักดันการวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ไปได้อย่างที่ไม่เคยมีการกระทำมาก่อน

พวกเราคิดว่าอนาคตการวิจัยด้านนี้คงมีอนาคตและแตกแขนงเติบใหญ่ต่อไปภายใต้ร่มเงาของ สกว.

แต่ความหวังนั้นก็อวสานเมื่อรัฐบาล คสช.ที่มาจากการรัฐประหาร พร้อมกับเนรมิตแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นแบบ 4.0 เป็นความคิดการพัฒนาประเทศใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมของสังคม ผ่านระบบ BCG (bio-circular-green) ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่จะสร้างความยั่งยืนให้แก่ทุกประเทศของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่นำไปสู่การยกเครื่องการทำวิจัยเพื่อสนองตอบแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว

อันเป็นที่มาของการยกเลิก สกว. แล้วจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สก.สว.) แทนในปี 2562

เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการสนับสนุนการวิจัยอย่างใหญ่หลวง จากนโยบายวิจัยที่หนุนเสริมการทำงานของนักวิจัยอย่างอิสระและจากข้างล่างและข้างนอก

มาสู่การส่งเสริมงานวิจัยที่ตอบสนองโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลัก ไม่เป็นอิสระและไม่ต้องคิดจากล่างและข้างนอก หากแต่คิดจากข้างบนและในศูนย์กลางอำนาจและงบประมาณ

ซึ่งทั้งหมดดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจำแลงที่ไม่ต้องการความคิดวิพากษ์และการวิจารณ์นโยบายของรัฐ

 

บทสุดท้ายใน SAC Report ภูมิทัศน์สังคมศาสตร์ไทย สถานะ คุณค่าและทิศทางการพัฒนา ได้เสนอทางออกและความเห็นต่อการทำวิจัยด้านสังคมและมนุษยศาสตร์อย่างรอบด้านและเป็นรูปธรรม สมควรรับฟังและนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาการวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ต่อไปอย่างจริงจัง ในที่นี้จะนำเอาหลักการสำคัญสำหรับการปรับปรุงระบบสนับสนุนการวิจัยสังคมศาสตร์ 5 ข้อมาให้พิจารณา ดังนี้

1 หลักความแตกต่างหลากหลายของความรู้

2 หลักความแตกต่างของคุณค่าและการใช้ประโยชน์

3 หลักความสอดคล้องของระบบสนับสนุนกับธรรมชาติของความรู้

4 หลักธรรมาภิบาลของระบบวิจัย

5 หลักการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศการเรียนรู้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผมอยากเสนอว่าด้วยการที่ธรรมชาติและโครงสร้างความรู้ของสังคมและมนุษยศาสตร์แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากวิทยาศาสตร์ประยุกต์ จึงควรจะแยกสถาบันการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยระหว่างสายวิทยาศาสตร์ออกจากสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ให้แต่ละฝ่ายดำเนินงานไปบนพื้นฐานและหลักคิดและการประเมินของตนเองไป เพื่อให้โอกาสและงบประมาณที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

และที่สำคัญ รักษาความรู้สังคมศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างวิพากษ์ไว้ด้วย