ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มีนาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | นิติศาสตร์เพื่อราษฎร |
เผยแพร่ |
หลังจากกรณี นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายบุญเกิด หิรัญคำ และ นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ ฟ้อง จอมพลถนอม กิตติขจร และพวกในข้อหาเป็นกบฏจากการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดที่กล้าหาญฟ้องคณะรัฐประหารอีกเลย แม้ประเทศไทยจะมีรัฐประหารตามมาอีกหลายครั้งก็ตาม
จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร เป็นผู้ฟ้อง
กรณี เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ฟ้องคณะผู้ก่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ภายหลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยกเลิกรัฐสภา และยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ได้ฟ้อง คปค. ต่อศาลอาญาในความผิดฐานกบฏและความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
สำหรับความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เรืออากาศตรีฉลาด ได้บรรยายฟ้องว่า คปค.
“กระทำผิดกฎหมายด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลัง ประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บิดเบือนหรือบิดผันระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย…ได้กระทำการแทรกแซงองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แทรกแซงสื่อ ทำลายระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเอื้อประโยชน์ให้ตนและพวกพ้อง ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นการได้มาโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิได้เห็นความสำคัญหรือเห็นคุณค่าในสิทธิของปวงชนชาวไทย อันเป็นรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ละเมิดกฎหมายสูงสุดของประเทศ…”
ในส่วนของความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เรืออากาศตรีฉลาดกล่าวหาว่า คปค.
“ได้กระทำการยึดอำนาจเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบเผด็จการ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยการล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จึงเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์”
นอกจากเรืออากาศตรีฉลาด ฟ้อง คปค. แล้ว เขายังฟ้ององค์กรต่างๆที่ คปค. ได้แต่งตั้งขึ้น ได้แก่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทุกคน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกคน คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และกรรมการ ป.ป.ช. ทุกคน
โดยฟ้องในฐานะเป็นผู้สนับสนุน คปค.
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คำฟ้องของเรืออากาศตรีฉลาดไม่มีมูล จึงพิพากษายกฟ้อง
เรืออากาศตรีฉลาด อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์โดยองค์คณะประกอบด้วย นายอำนาจ พวงชมพู นายสมเกียรติ ตั้งสกุล นายสุนัย มโนมัยอุดม ได้ตัดสินในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 7841/2553 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2553 โดยให้เหตุผลว่า
“คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นผลสำเร็จ… ซึ่งในการนี้ต่อมามีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ที่มีผลบังคับใช้โดยชอบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ในมาตรา 37 บัญญัติว่า
“บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่อง…หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
นอกจากนี้ ในมาตรา 36 ก็ยังบัญญัติว่า “บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้…ไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นจะกระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นประกาศหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”
จะเห็นได้ว่า ศาลอุทธรณ์ได้อ้างบทบัญญัติในมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ซึ่งได้นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 และอ้างมาตรา 36 ซึ่งรับรองประกาศหรือคำสั่งของ คปค. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อยืนยันว่า การกระทำของ คปค. และพวก “หากจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือผิดกฎหมายอาญา มาตราใด ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงตามบทบัญญัติดังกล่าว”
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้อง
กรณี เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ฟ้องคณะผู้ก่อการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ก่อรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ได้ฟ้อง คสช. ต่อศาลอาญาในความผิดฐานกบฏและความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
สำหรับความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เรืออากาศตรีฉลาดได้บรรยายฟ้องว่า
“ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ถึงวันฟ้องต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1-6 ร่วมกันประกาศกฎอัยการศึกและประกาศปฏิวัติโดยมิชอบ ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจสูงสุด โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่จำเลยที่ 1-6 กลับใช้กำลังทหารติดอาวุธสงครามประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ล้มล้างอำนาจบริหาร รัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ การกระทำของจำเลยที่ 1-6 จึงเป็นความผิดฐานเป็นกบฏ”
ในส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เรืออากาศตรีฉลาด ได้บรรยายฟ้องว่า คสช. “ใช้อำนาจข่มขู่กำลังทหารให้นำอาวุธสงครามที่มีไว้ป้องกันราชอาณาจักร ออกมาข่มขู่ชาวไทย นำไปใช้ในการมิชอบ เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง เป็นการหมิ่นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์”
นอกจากนี้ เรืออากาศตรีฉลาด ยังได้อธิบายต่อไปในคำฟ้องด้วยว่า คสช. “ยังแทรกแซงองค์การภาครัฐและเอกชน ตัดสัญญาณโทรทัศน์ เรียกประชาชนไปรายงานตัว กำจัดเสรีภาพของโจทก์ ตลอดจนห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน นำกำลังทหารไปตรึงจุดต่างๆ ทั่วประเทศ โยกย้ายข้าราชการ เอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นการได้อำนาจที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี ทำให้ประเทศไทย ประชาชนและโจทก์ได้รับความเสียหายในการใช้ชีวิตปกติสุข ขาดเสรีภาพ ขาดความเสมอภาค ขาดภราดรภาพ ถูกจำกัดสิทธิปราศจากการใช้อำนาจอธิปไตย ประเทศขาดความน่าเชื่อถือจากนานาอารยประเทศ”
ศาลอาญารับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ ที่ อ.1591/2557 เพื่อพิจารณาต่อไปว่า คดีควรจะไต่สวนมูลฟ้อง หรือควรให้ยกฟ้อง
ในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลอาญาได้ตัดสินยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า
“ความผิดตามฟ้องเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรถือได้ว่าเป็นความผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ แต่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ดังนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในคดีนี้ ตาม ป.วิอาญามาตรา 28”
เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร กล้าหาญฟ้องคณะรัฐประหาร เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าการรัฐประหาร ล้มรัฐบาล ล้มรัฐสภา และฉีกรัฐธรรมนูญนั้นมีความผิดอาญา แต่ปรากฏว่า การฟ้องรัฐประหารสองครั้ง ก็ถูกศาลปฏิเสธทั้งสองครั้ง
ครั้งแรก ศาลอ้างรัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารไปหมดแล้ว
ครั้งที่สอง ศาลอ้างว่าผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
คณะรัฐประหารในไทยจึงยังคงลอยนวลต่อไป