“งานสืบ” | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

“ชะนีมือขาวครอบครัวนี้ มีทั้งพ่อ-แม่ และลูกที่ยังไม่อดนม ได้รับการช่วยเหลือมาจากเกาะกลางน้ำ ที่เรือนยอดของต้นไม้กำลังจะถูกน้ำท่วม

ชะนีว่ายน้ำไม่ได้ และกลัวน้ำมากกว่าสัตว์ป่าชนิดอื่นในพวกเดียวกัน ตัวผู้ซึ่งเป็นพ่อหนีไปจนมุมในน้ำ แต่ตัวแม่ซึ่งมีลูกยังไม่อดนมกอดแน่นอยู่ที่อก พยายามกระโดดหนีไปตามกิ่งไม้จนเหนื่อยอ่อน และแล้วในที่สุด ความกลัว และสัญชาตญาณธรรมชาติว่าลูกจะต้องจมน้ำตาย หากตัวเองกระโดดหนีลงไปในน้ำ แม่ชะนีจึงจำใจอยู่ที่ปลายกิ่งไม้ปริ่มน้ำชายเกาะ

ถึงแม่จะรอดชีวิตในตอนนั้น แต่แล้วความพลัดพรากที่เป็นอนิจจังก็มาเยือน เมื่อลูกน้อยได้เสียชีวิตไปในระหว่างได้รับการเลี้ยงดูเพื่อให้ฟื้นคืนสภาพที่พร้อมจะนำไปปล่อยได้ ชะตากรรมของชะนีคู่นี้ยังไม่จบสิ้น ยังจะต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ เช่นเดียวกับสัตว์ป่าอื่นๆ เพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอดจนสามารถสืบเผ่าพันธุ์ไม่ให้สูญสิ้นต่อไป ในป่ากว้างนอกพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน”

นี่คือ คำบรรยายใต้ภาพ ชะนีมือขาวสองตัวซึ่งนั่งอยู่ในกรงมองสบตากล้องด้วยแววตาเศร้าหมอง

ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานประเมินผล งานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดย สืบ นาคะเสถียร
ฝ่ายวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้
เดือนธันวาคม พ.ศ.2530

 

ชะนีสองตัวนี้เป็นสองตัวในจำนวน 586 ตัวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 37 ชนิด

ที่ได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้นมาจากการจมน้ำ

หากรวมกับชีวิตอื่นๆ ซึ่งเป็น นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอีก 79 ชนิด

มีสัตว์ได้รับการช่วยเหลือ รวม 1,364 ตัว

กระนั้นก็เถอะ แม้จะมีสัตว์ป่าจำนวนมากกว่าพันตัวมีชีวิตรอดจากการจมน้ำ

แต่ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าโครงการก็ประกาศชัดเจนว่า “นี่คือโครงการซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง”

ไม่เพียงเพราะมีสัตว์ป่าจำนวนมากตาย

เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติทั้งสิ้น 2 ปี 4 เดือน ใช้งบประมาณไปหนึ่งล้านแปดแสนห้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน

ความ “ล้มเหลว” เกิดขึ้นเพราะแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าที่เหมาะสมถูกทำลายลงไปอย่างไม่มีวันฟื้นฟูกลับมาได้

 

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ราวๆ 165 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 103,000 ไร่

ส่วนที่แคบที่สุดเป็นภูเขาสูงชันกว้างประมาณ 300 เมตร ความยาวของอ่างเก็บน้ำประมาณ 65 กิโลเมตร

อ่างเก็บน้ำได้ท่วมบริเวณป่าที่ลุ่มต่ำของป่าคลองแสงซึ่งเคยมีสภาพป่าดงดิบ ที่ระดับความสูง 13.50 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

สภาพป่าบริเวณที่ลุ่มต่ำของป่าคลองแสงซึ่งคือป่าดงดิบชื้นเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินมากกว่าบริเวณป่าตามลาดเขาและบนภูเขาสูง เนื่องจากได้รับตะกอนของธาตุอาหารที่ถูกพัดมากับน้ำ

ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ประกอบกันเป็น 3 ชั้นเรือนยอด ไม้ชั้นบนเป็นไม้ขนาดใหญ่ สูงโดยเฉลี่ย 35-40 เมตร เช่น ไม้ตะเคียน ไม้ยาง ไม้สมพง

ไม้ชั้นกลางมีต้นไม้ที่สูงเฉลี่ย 10-20 เมตร เช่น ไม้ตะเคียนสมพอน ไม้จิกเขา ไม้หว้า ไม้มะเม่า

ไม้ชั้นล่างเป็นต้นไม้ขนาดเล็ก ความสูงน้อยกว่า 10 เมตร เช่น ข่อยทนาม อบเชย มะเดื่อ เพกา รวมถึงหวาย และปาล์มอีกหลายชนิด

อีกทั้งไม้ไผ่มีกระจายทั่วไป เถาวัลย์มีมาก

ไม้พื้นล่างมีหนาแน่น เช่น เฟิร์น หวาย กระวาน หญ้าหลายชนิด และลูกไม้ของต้นไม้ใหญ่ๆ

ป่าประเภทนี้มีบทบาทที่สำคัญต่อระบบนิเวศวิทยาของป่าไม้และสัตว์ป่าเพราะมีไม้ขนาดใหญ่ขึ้นหนาแน่น เรือนยอดประกอบหลายชั้น สภาพป่าสมบูรณ์เช่นนี้ช่วยดูดซับความชุ่มชื้นและป้องกันการกัดเซาะของหน้าดิน

จึงเป็นป่าที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามีแหล่งอาหารสมบูรณ์

นี่จึงเป็นผลอันทำให้สัตว์ป่านานาชาติมาชุมนุมกันอยู่จำนวนมาก

 

เมื่อเขื่อนดำเนินการก่อสร้างกระทั่งแล้วเสร็จ

เหล่าสัตว์ป่าซึ่งมีถิ่นกำเนิดและอาศัยบริเวณที่ลุ่มต่ำของป่าคลองแสงได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ถิ่นอาศัยถูกทำลาย พวกมันต้องย้ายถิ่นไปหาแหล่งอาศัยใหม่นอกเขตน้ำท่วม สัตว์บางชนิดอยู่ในที่ลุ่มต่ำ ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพถิ่นใหม่ที่มีระดับสูงกว่าก็สูญสิ้นไป

เส้นทางหากินตามฤดูกาลของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ถูกตัดขาดด้วยหน้าผาสูงชัน และความกว้างใหญ่ของอ่างเก็บน้ำ

สัตว์ป่าจำเป็นต้องจำกัดตัวเองอยู่ในพื้นที่ที่เหลืออยู่เมื่อขนาดพื้นที่ลดน้อยลง ประชากรสัตว์ป่าย่อมลดน้อยลงตามความสามารถของพื้นที่จะรับได้

น้ำเพิ่มระดับขึ้น คนเข้าไปหาประโยชน์จากป่าไม้และสัตว์ได้โดยสะดวก

การล่าสัตว์ทำได้ง่ายๆ เสียงปืนดังขึ้นตลอดซากสัตว์ได้ป่าถูกยิงตายคาเกาะ

สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลานนับเป็นกลุ่มซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง

เนื่องจากเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีแหล่งอาศัย และแบบแผนการดำรงชีวิตที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง ทั้งสัตว์ที่อยู่ตามผิวดิน ใต้ผิวดิน และตามต้นไม้

สภาพแวดล้อมซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน พวกมันปรับตัวไม่ทัน

สัตว์ที่อยู่ตามผิวดินต้องออกมา รวมถึงสัตว์ที่อยู่ตามต้นไม้ ที่น้ำท่วมถึงด้วย ปริมาณน้ำที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้พบว่าสัตว์เหล่านี้มารวมตัวกันแน่นตามยอดไม้ ที่แช่ปริ่มน้ำ ตามโพรงหิน ซอกผา รอวันจมไปใต้น้ำ

ในช่วงนี้ถ้าไม่ช่วยนำสัตว์เหล่านี้ไปปล่อยในที่ปลอดภัยพวกมันทั้งหมดจะจมน้ำตาย บางส่วนอาจว่ายน้ำไปอยู่ตามเกาะต่างๆ ได้ แต่ส่วนใหญ่จะถูกล่าจากสัตว์ผู้ล่า

สัตว์ที่มีสภาพถิ่นที่อยู่ในการผสมพันธุ์และวางไข่ อันเฉพาะเจาะจง เมื่อถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงก็ไม่สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่เกิดขึ้นได้

พวกมันก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด

 

นี่คือส่วนหนึ่งในรายงานประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างจาการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ของ สืบ นาคะเสถียร เมื่อปี พ.ศ.2530

เป็น “งาน” สืบ ที่เอามานำเสนอเพื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ซึ่งหากการก่อสร้างสำเร็จสภาพป่า และสัตว์ป่าในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรก็จะมีชะตากรรมไม่ต่างจากป่าและสัตว์ป่าที่เคยอาศัยอยู่ในป่าคลองแสง

มีรายละเอียดอีกมากมาย ซึ่งจะบอกถึงเหตุผลว่าการสร้างเขื่อน จะเป็นโครงการอันล้มเหลว

ทิวทัศน์สวยงาม หรือผลประโยชน์ที่คนได้รับคือส่วนหนึ่ง

แต่ดูเหมือนสิ่งที่สูญเสียไปก็มีมูลค่ามหาศาล งานของสืบ ไม่ได้บอกให้เราเศร้าระทม หรือพยามยามเรียกร้องสิ่งซึ่งสูญเสียไปแล้วให้กลับคืน

งานของเขาเป็นคล้ายบทเรียนที่เราควรศึกษาและรับฟัง

บทเรียนของ “เมื่อวาน”

เพื่อจะได้ไม่ทำผิดพลาดในวันพรุ่งนี้

รายงานฉบับนี้เขียนขึ้นมาแล้วร่วม 30 ปี

สืบ นาคะเสถียร พูดอยู่เสมอว่า

“การอนุรักษ์นั้นไม่ใช่การเก็บไว้เฉยๆ ไม่นำมาใช้

ทุกๆ วันเราใช้ผลประโยชน์จากป่านั้นคือใช้น้ำใช้อากาศ ทั้งป่าผลิตให้เรา”

และถึงวันนี้ ป่าก็ไม่อยู่ในสภาพที่เราจะใช้ได้นอกเหนือจากนี้แล้ว